เศรษฐา ทวีสิน : แอปเปิล เริ่มย้ายฐานการผลิต เรามองเห็นอะไร

แอปเปิล
คอลัมน์ : คิดไปข้างหน้า
ผู้เขียน : เศรษฐา ทวีสิน

ใครที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ Apple คงจะคุ้นชินกับข้อความบนบรรจุภัณฑ์ที่เขียนเอาไว้ว่า “ออกแบบโดยบริษัทแอปเปิล แคลิฟอร์เนีย” แต่เป็นอันรู้กันดีว่าชิ้นส่วนต่าง ๆ และการประกอบขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์นั้นเกิดขึ้นนอกสหรัฐอเมริกาโดยทั้งสิ้น โดยเฉพาะในจีน ที่มีโรงงานกว่า 150 แห่งที่เป็นคู่ค้าผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ของแอปเปิล

กว่า 2 ทศวรรษที่รายได้ของแอปเปิลเพิ่มขึ้น 70 เท่า หุ้นขึ้นกว่า 600 เท่า มีมูลค่าบริษัทสูงถึง 2.4 ล้านล้านเหรียญ ต้องบอกว่าเป็นผลมาจากการที่แอปเปิลผูกตัวเองไว้กับฐานการผลิตของจีนที่มีสัดส่วนการผลิตสินค้าอยู่กว่า 90% ของแอปเปิล นอกจากนี้แล้วจีนยังเป็นตลาดใหญ่ของบริษัทด้วย บางปีมีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของยอดขายเลย

แต่ต้องบอกว่าตอนนี้ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน กำลังส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างแอปเปิลอย่างหนักที่โดนบีบจากกลไกภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจโลกทำให้ต้องหาทางเลือกที่จะมาทดแทนฐานการผลิตและตลาดจากจีน

ฝั่งรัฐบาลสหรัฐ เล่นบทเข้มในการประกาศสงครามการค้ากับจีนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ล่าสุดออกนโยบายเงินสนับสนุนกว่า 52,000 ล้านเหรียญ ให้กับผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์และรถยนต์ EV ในประเทศ รวมถึงประกาศนโยบายห้ามส่งออกสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ใด ๆ ที่ใช้องค์ความรู้หรือเครื่องจักรของสหรัฐ ในการผลิตไปยังจีนเพื่อป้องกันการรั่วไหลของเทคโนโลยีด้านนี้

เท่านี้ไม่พอ สหรัฐยังพยายามชักชวนแกมบังคับประเทศในเอเชียที่เป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์และเทครายใหญ่อย่างไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และญี่ปุ่นมาเข้าพวกเพื่อร่วมต่อสู้สงครามการค้าด้านเทคโนโลยีกับจีนด้วย ซึ่งประเทศเหล่านี้ก็ไม่ได้ปลื้มสักเท่าไหร่กับท่าทีดังกล่าวของสหรัฐ

เพราะอย่างไรจีนก็ยังเป็นคู่ค้าที่สำคัญสำหรับพวกเขา ไม่เว้นแม้แต่ไต้หวันผู้ผลิต “ชิป” คอมพิวเตอร์รายใหญ่ของโลกที่ก็ลังเลจะเทใจให้สหรัฐเรื่องนี้ เพราะจีนนั้นเป็นตลาดใหญ่ของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่มีเซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบ

โดยมีสัดส่วนถึงกว่า 25% ของมูลค่าตลาดโลก และอย่าลืมว่าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้นมี “ชิป” เป็นส่วนประกอบสำคัญ ดังนั้นการจะทำให้จีนหงุดหงิดด้วยการร่วมประกาศสงครามการค้าร่วมกับสหรัฐ ในด้านเทคนั้นทุกคนก็คิดหนัก

นอกเหนือจากเรื่องความขัดแย้งดังกล่าว ผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดในจีนเองก็ทำให้กลไกห่วงโซ่อุปทานการผลิตกระทบอย่างรุนแรง ทำให้บริษัทหลาย ๆ แห่งต้องใช้มาตรการ “จีน+1” ซึ่งหมายความถึงแผนการกระจายความเสี่ยงของฐานการผลิตไปประเทศอื่นด้วย

แอปเปิลเองก็รู้ดี CEO ของเขาจึงมีการออกเดินสายหาพันธมิตรใหม่ ๆ มีการเชิญนายกรัฐมนตรีเวียดนามมาเยี่ยมชม พูดคุยที่สำนักงานใหญ่ เปิดสายการผลิตไอโฟน 14 ใหม่ในอินเดีย (ปกติอินเดียเป็นฐานการผลิตเฉพาะที่ตกรุ่นไปแล้ว) และประกาศเตรียมเปิดแอปเปิลสโตร์แห่งแรกในอินเดียปีหน้า

ต้องบอกว่าเวียดนามและอินเดียจะกลายเป็นประเทศที่ส้มหล่นจากนโยบายการตีตนออกห่างจีนของบริษัทอย่างแอปเปิลแน่นอน

โดยคาดว่ามูลค่าการผลิตกว่า 25% ของผลิตภัณฑ์แอปเปิลจะถูกผ่องจากจีนออกมาที่เวียดนามและอินเดีย นี่ยังไม่รวมตกกระไดพลอยโจนของบรรดาโรงงานผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ป้อนให้แอปเปิลในจีนก็มีแนวโน้มที่จะย้ายตัวเองตามออกมาด้วย ในขณะเดียวกันฟากแอปเปิลเองก็น่าจะแฮปปี้เพราะการได้อินเดียเป็นตลาดใหญ่ทดแทนจีนถือว่าเป็นตัวเลือกที่ชัดเจน

ที่ผมยกตัวอย่างเรื่องแอปเปิลก็เพื่อเป็นกรณีให้เรากลับมามองอุตสาหกรรมการผลิตของเราในบริบทของภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจได้เช่นกัน

อย่างเรื่องการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์จากรถใช้เชื้อเพลิงมาเป็นรถไฟฟ้า แน่นอนในฝั่งจีนเราดึงเขาเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ได้แล้ว

ขณะเดียวกันเราก็ควรที่จะถ่วงดุลด้วยการใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่อุปทานที่ยาวและแข็งแกร่งของเราในการสร้างตัวเองเป็นศูนย์กลางของการผลิตชิ้นส่วน อะไหล่ ของรถสันดาปที่คงต้องใช้กันไปอีกเป็นสิบ ๆ ปีเพื่อตอบโจทย์ประเทศอย่างสหรัฐ ยุโรป หรือญี่ปุ่นด้วย

หรืออุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคด้านอาหาร ที่เรามีพื้นฐานดีอยู่แล้ว และช่วยตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงด้านอาหารของโลก

เรายังไม่เห็นผู้เล่นที่ชัดเจนแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมนี้ยังเปิดให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปเป็นผู้นำได้ ทั้งการวิจัย และการผลิต และอาจใช้เป็นกลไกการต่อรองในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลกก็เป็นได้