เยี่ยมโรงงานขนมพันล้าน แบรนด์ไทยในเวียดนาม

โรงงานขนม
ผู้เขียน : ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่

ต้นฉบับนี้ถือเป็นบันทึกของผู้เขียนที่มีค่า หลังจากมีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศเป็นครั้งแรกในชีวิต เพื่อทำคอนเทนต์ DLife ในประชาชาติธุรกิจ สังกัดมติชน ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานที่แรกในชีวิตอีกเช่นกัน หลังจบ ป.ตรี จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ วิชาเอกประวัติศาสตร์

เที่ยวบิน VJ 802 จากกรุงเทพฯ สู่นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม จึงเป็นไฟลต์ที่น่าตื่นเต้น และยิ่งตื่นเต้นมากขึ้นไปอีก เมื่อถึง “สนามบินเตินเซินเญิ้ต” ที่มีผู้คนหลากหลาย ทั้งรอและออกันอยู่หน้าด่าน ตม. ทุกแถวทุกช่องบริการเข้าคิวยาวเหยียด

กว่าจะผ่านขั้นตอนได้ต้องใช้เวลานานถึง 2 ชั่วโมง ทำเอาทริปดูงานวันแรกต้องปรับแผนกันใหม่ โดยพลาดโอกาสที่จะไปชมแลนด์มาร์กสำคัญ ทั้งศาลาไปรษณีย์กลางที่สร้างในศตวรรษที่ 19 โบสถ์นอทเทอร์ดามสมัยที่เวียดนามยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และอนุสรณ์สถานประธานาธิบดีโฮจิมินห์

โรงงานขนม

เพราะการเปิดเมืองหลังยุคโควิด-19 และเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นปลายปีพอดี ทำให้นักท่องเที่ยวคับคั่งหลายพื้นที่ ยิ่งเห็นการจราจรบนท้องถนนของนครโฮจิมินห์แล้ว บอกเลยว่าวุ่นวายกว่าบ้านเราร้อยเท่าพันเท่า ส่วนสภาพเมืองและอากาศก็ไม่ต่างจากกรุงเทพมหานครที่เราอยู่

การไปเดิน “ตลาดเบนถัน” ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ตลาดนี้เหมือนกับตลาดนัดจตุจักร ที่มีสินค้าโดดเด่น และวางขายเป็นจำนวนมากคือ “ชา-กาแฟ” ของขึ้นชื่อของเวียดนาม

SNNP มองโอกาสในเวียดนามและตลาด CLMV

บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SNNP ผู้ผลิตคนไทย เจ้าของผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว เบนโตะ โลตัส เบเกอรี่ เฮ้าส์ และเครื่องดื่มเจเล่ และเมจิกฟาร์มเฟรช มองเห็น “โอกาส” ในเวียดนามมานานแล้ว จึงเริ่มนำสินค้าไปขายตั้งแต่ปี 2538 และขายดีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จึงตัดสินใจขยายฐานตั้งโรงงานผลิตขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มครบวงจร โดยทำพิธีเปิดโรงงาน S.T. Food Marketing เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 ที่จังหวัดบินห์เซือง ประเทศเวียดนาม

ฐากร ชัยสถาพร
ฐากร ชัยสถาพร

ฐากร ชัยสถาพร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานธุรกิจต่างประเทศ SNNP บอกว่า ศักยภาพของเวียดนามวันนี้ พร้อมทั้งด้านแรงงาน วัตถุดิบ ภูมิประเทศ GDP ด้วยจำนวนประชากรที่มากถึง 99 ล้านคน และความมั่นคงของระบบการเมืองที่เป็นรัฐสังคมนิยม ทำให้ทิศทางการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิตค่อนข้างแข็งแกร่ง ทั้งให้สิทธิพิเศษด้านภาษีแก่นักลงทุนต่างชาติด้วย

S.T. Food Marketing (STFM) เป็นโรงงานใหม่ที่ถือหุ้น 100% โดย SNNP International (บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง ถือ 99.9%) ตั้งอยู่จังหวัดบินห์เซือง (Binh Duong) ในนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่เศรษฐกิจเวียดนามสิงคโปร์อินดัสเทรียลปาร์ก หรือ VSIP เขตเศรษฐกิจในภาคใต้ของเวียดนาม ห่างนครโฮจิมินห์ 30 กิโลเมตร

โรงงานนี้มีพื้นที่รวม 20,000 ตารางเมตร มูลค่าการลงทุนกว่า 20 ล้านเหรียญ หรือ 700-1,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การลงทุนในที่ดิน 1.1 ล้านเหรียญ เครื่องจักร 7 ล้านเหรียญ และอื่น ๆ 10 กว่าล้านเหรียญ เกิดการจ้างงานในพื้นที่ 400 อัตรา เน้นผลิตสินค้าจำหน่ายในเวียดนาม และส่งออกไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV รวมไปถึงประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย

โรงงานขนม

“SNNP ทำธุรกิจขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มมานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยมีคุณภาพสินค้าเป็นคีย์เมสเสจ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของเราได้รับความนิยมมากทั้งที่เวียดนามและนอกประเทศ”

ทิศทางหลังจากนี้ SNNP มีแผนเดินหน้าสร้างองค์กรสู่ความเป็นผู้นำตลาด และตั้งเป้าเติบโตไปในระดับอาเซียน เน้นทำตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม

โดยเริ่มต้นที่กัมพูชาและเวียดนาม ภายใต้กลยุทธ์ Localization Strategy คือเข้าใจความเป็นท้องถิ่น ทั้งเรื่องของราคา เครื่องหมายการค้า การตลาด และการจัดจำหน่ายที่ตรงกลุ่มเป้าหมายของแต่ละประเทศ

การขยายตลาดไปยังกลุ่ม CLMV เป้าหมายคือ เพื่อหลอมรวมประเทศไทยให้เป็นตลาดเดียวกัน โดยผลิตจาก 6 โรงงาน ใน 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย 4 โรงงาน กัมพูชา-เวียดนาม ประเทศละ 1 โรงงาน ซึ่งจะครอบคลุมประชากรราว 250 ล้านคน

ซึ่งครึ่งปีแรก 2565 มีรายได้จากการส่งออกรวม 591 ล้านบาท มาจากตลาด CLMV ถึง 77% แบ่งเป็นรายได้ส่งออกจากเวียดนาม กัมพูชา และพม่าที่ขยายตัว 67%, 55% และ 123% ตามลำดับ ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ชาวเวียดนามชอบสินค้าไทย

สินค้าของ SNNP ในเวียดนาม ทั้งเบนโตะ โลตัส และเจเล่ คู่แข่งจริง ๆ นั้นถือว่าน้อยมาก อาจมีสินค้าที่เวียดนามทำเลียนแบบบ้างแต่เป็นสเกลที่น้อย และตลาดขนมของเวียดนามถือว่ายังไม่หลากหลาย SNNP จึงเห็นโอกาส

คนเวียดนามจะไม่ชอบรสจัด แต่ขนมของ SNNPตีตลาดได้ ทั้งที่เป็นขนมรสจัดจ้าน อาจเป็นเพราะคนที่นั่นชอบของไทย แพ็กเกจต้องมีตัวหนังสือไทย ยิ่งมีสัญลักษณ์ อย.ไทยจะยิ่งเพิ่มมูลค่า ซึ่งกลุ่มลูกค้าขนมของ SNNP จะเป็นวัยรุ่น ซื้อขนมเป็นแชลเลนจ์แบบกินเผ็ด

SNNP วางจำหน่ายเบนโตะ ด้วยคอนเซ็ปต์ extreme snack และโลตัสคือ yummy & friendly จากการสำรวจตลาด ขนมจะขายดีในกลุ่มวัยรุ่น และในพื้นที่ที่มีร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของ SNNP ขายไปทั่วทุกจุดของเวียดนาม ทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าในท้องถิ่น โดยจำหน่ายในนครโฮจิมินห์ถึง 80% ของพื้นที่

ความสำเร็จมาจากพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ครอบคลุมร้านค้า 140,000 ร้านค้า ผ่านช่องทางแบบดั้งเดิมอีก 8,275 ร้านค้า ผ่านช่องทางสมัยใหม่ รวมถึงการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายและโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า การเลือกใช้พรีเซ็นเตอร์ “ใบเฟิร์น-พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์” ก็ถูกคน ถูกใจคนเวียดนาม

ตั้งเป้าขาย 2,000 ล้านบาท เติบโต 7 เท่าใน 5 ปี

ผู้บริหาร SNNP กล่าวว่า ในปี 2569 จะเพิ่มสัดส่วนตลาดต่างประเทศเป็น 50% ของรายได้ 8,000 ล้านบาท ปีหน้าตั้งเป้ายอดขายไว้ 30 ล้านเหรียญ เป็นการผลิตในเวียดนาม 16 ล้านเหรียญ ที่เหลือนำเข้าจากไทย เนื่องจากเวียดนามผลิตได้ 70-80%

สินค้าที่เริ่มผลิตในเฟสแรกช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้คือ “ขนมโลตัส” ส่วนเฟสที่ 2 จะผลิต “เบนโตะ” ในไตรมาสแรกปีหน้า และเฟสที่ 3 จะผลิตเยลลี่พร้อมดื่มเจเล่ ในไตรมาส 3 ปี 2566

“ปีที่แล้วเรามีรายได้จากการขายในเวียดนาม 300 ล้านบาท ส่วนครึ่งปีแรกของปีนี้อยู่ที่ 218 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสัดส่วนรายได้เป็นขนมขบเคี้ยวถึง 93% เครื่องดื่ม 7% ตั้งเป้ายอดขายไว้ 2,000 ล้านบาท คือเติบโต 7 เท่า ภายใน 5 ปี เริ่มปี 2565-2569”

เพื่อสร้างรายได้ทางอ้อมให้ประเทศไทย และตอกย้ำแบรนด์ไทย ในฐานะผู้นำตลาดขนมขบเคี้ยวของภูมิภาคนี้