เศรษฐา ทวีสิน : ต้นทุนทาง productivity ที่เกิดจากเทคโนโลยี

ChatGPT
คอลัมน์ : คิดไปข้างหน้า
ผู้เขียน : เศรษฐา ทวีสิน

ช่วงนี้เราเริ่มเห็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง เรื่องหนึ่งที่มีการแข่งขันเชิงนโยบายและข่มกันไปมาคือ เรื่องของค่าแรงขั้นต่ำ จะเริ่มต้นที่ 600 บาท หรือ 700 บาท ทำได้จริงหรือไม่จริง ก็ต้องรอดู

แต่ประเด็นทางสังคมที่ผมคิดว่าน่าสนใจก็คือว่า ในโลกที่เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว รูปแบบของประเภทงานในอนาคตอีก 5-10 ปีข้างหน้าที่จะถูกว่าจ้างด้วยเงื่อนไขค่าแรงขั้นต่ำจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ผมจะยกตัวอย่างงานด้านบริการก็แล้วกัน เพราะผมคิดว่าเป็นตัวอย่างที่เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ลองนึกภาพถึงพนักงานบริษัททัวร์ ทำหน้าที่จองตั๋วเดินทางและที่พักต่าง ๆ งานประเภทนี้ไม่ได้ใช้ทักษะมากนัก แต่เป็นงานหาตัวเลือกและนำเสนอสิ่งที่เหมาะสมให้กับลูกค้า

แต่ตอนนี้ผมเชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงไม่ได้คุยกับพนักงานประเภทนี้มานานแล้ว เพราะทุกอย่างถูกทำด้วยตัวท่านเองได้บนแพลตฟอร์มที่รวมข้อมูลและช่องทางในการจองสิ่งเหล่านี้ แถมเผลอ ๆ ราคาจะดีกว่าจองผ่านบริษัททัวร์หรือเอเจนท์ด้วยซ้ำ

หรือจะเป็นงานประเภทแปลเอกสารที่ผมเชื่อว่ากำลังจะถูกแทนที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ อาจจะยังเป็นการใช้เครื่องมือ Google Translate แบบง่าย ๆ ที่ใช้กัน แต่ผมเชื่อว่า อีกไม่นานเจ้าปัญญาประดิษฐ์อย่างพวก Chatbot ต่าง ๆ จะสามารถช่วยแปลภาษาและนำส่งชิ้นงานออกเป็นเรื่องเป็นราวได้ไม่ยาก

อย่างที่เราเห็นตัว ChatGPT ที่สามารถช่วยเขียนเรียงความ บทสนทนา ฯลฯ ได้แล้ว แม้จะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่ผมว่าอีกไม่นาน

มองไปรอบ ๆ ตัวดี ๆ ครับ เราจะเห็นหลายสิ่งที่ตอนนี้เราทำเอง แต่เคยเป็นสิ่งที่มีคนบริการให้เราเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เข้าซุปเปอร์มาร์เก็ต ตอนนี้บางที่เค้าให้เราสแกน จ่ายเงิน หยิบของใส่ถุงเอง โรงแรมและสายการบินบางแห่งเริ่มมีให้เช็กอิน เช็กเอาท์เอง บรรดาแอ็ปฯของธนาคารต่าง ๆ ที่ตัดตอนไม่ต้องเข้าสาขา โอนเงินได้เอง จ่ายบิลต่าง ๆ ได้เอง ฯลฯ

แน่นอน การที่เทคโนโลยีขับดันให้งานบางอย่างหายไป ก็มีผลดีกับผู้บริโภค เพราะเราเสียเวลาเลือกเอง ทำเอง จองเอง ไม่มีค่าบริการ เราก็ประหยัดเงินได้เยอะอยู่ แต่ก็เป็นคำถามว่า ในภาพรวมแล้ว มันส่งผลดีหรือไม่ดีกันแน่

อย่างแรกเลย ลองจับเวลากันดูครับ ผมเชื่อว่าในแต่ละสัปดาห์เราใช้เวลากับแอปฯ หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่น้อย กินเวลาทำงานของเรา ทำให้เราปฏิบัติงานได้น้อยลง โดยเฉพาะกับแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ส่งผลดีต่อ productivity ภาพรวม เพราะเวลาเป็นสิ่งที่หามาทดแทนได้ยากครับ

ยิ่งเราใช้เวลาทำหลายเรื่องด้วยตัวเองแล้ว เราจะรู้สึกได้ถึง “ความอ่อนเพลียอันเกิดจากเทคโนโลยี” (technology fatigue) ที่อาจเกินความจำเป็น กลับบ้านต้องไปนั่งสั่งของ ซื้อตั๋ว ฯลฯ แทนที่จะมีคนทำให้ กินเวลาพักผ่อนไปอีก ประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมตกอีก

และก็วนกลับมาที่เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ถ้าประเภทงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะชั้นสูงอย่างเช่นงานบริการ จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี นั่นหมายความว่า องค์ความรู้ของแรงงานรุ่นใหม่ ๆ ในอนาคตที่จะมารองรับตลาดก็ต้องเปลี่ยนไป จากเป็นคน ให้บริการหรือดำเนินการ ก็กลายเป็น ผู้ควบคุม ผู้ออกแบบ เทคโนโลยีที่ช่วยดำเนินการ
เหล่านี้

ซึ่งนั่นหมายความว่า ระบบและหลักสูตรการศึกษาขั้นต่ำภาคบังคับก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย เพื่อป้อนแรงงานให้สอดคล้อง มิเช่นนั้นก็จะกระทบ productivity และการเติบโตของสังคมด้วยเช่นกัน