ชี้ชะตาสถานะ 4 นายกรัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอนาคตการเมือง

4นายก ศาลรัฐธรรมนูญ

จู่ ๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่มีอำนาจ “เต็ม” มา 8 ปี ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

หลังศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 รับคำร้อง จากการเป็นนายกฯ 8 ปี หรือไม่ พร้อมทั้งมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

การขึ้นศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ อาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ หวั่นไหวมากที่สุด กระทบกระเทือนตำแหน่งมากกว่าในหลายคดีที่ผ่านมาก่อนหน้านี้

ย้อนกลับไปในวงประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายแห่งทำเนียบรัฐบาล ถึงกับฉายสไลด์ บรรยายกฎหมาย-ขั้นตอนการปฏิบัติตัวกรณีหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ และ ที่ประชุม ครม.ได้รับทราบ

หลังประชุม ครม.จบลง พล.อ.ประยุทธ์ ยกเลิกกำหนดการปฏิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบ แล้วไปเวิร์กฟรอมโฮมทำงานผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในวันที่ 24 สิงหาคม ตั้งรับคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ที่บ้าน ดีกว่าที่จะถูกศาลสั่งให้หยุดทำงานคาทำเนียบรัฐบาล

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ มิใช่คนแรกที่เก้าอี้นายกฯ ต้องสั่นคลอนต้องมาสู้กันในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ

นับแต่ศาลรัฐธรรมนูญสถาปนาขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ 2540 “ทักษิณ” รอดจากซุกหุ้นภาคแรกในปี 2544

ในวันแถลงปิดคดี “ทักษิณ ชินวัตร” กล่าวต่อหน้าองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตอนหนึ่งว่า “ฐานะของผมที่มั่นคงขึ้นจนสมัยหนึ่งมีคนกล่าวขานถึงว่า มีหลักทรัพย์มาก มียอดเงินฝากสูง มีกิจการใหญ่โตและอยู่ในลำดับต้น ๆ ของผู้เสียภาษีมากที่สุดนั้น ไม่ได้เกิดจากการที่ผมเป็นตำรวจได้ยศ พ.ต.ท. ไปรีดไถใครมา และไม่ได้เกิดจากการที่ผมเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และกอบโกยจากการประมูล หรือการจัดซื้อจัดจ้าง หากแต่เกิดจากการประกอบธุรกิจที่สุจริตและชอบด้วยกฎหมาย”

กระทั่งวันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม 2544 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 15 คน มีเสียงข้างมาก 8 ต่อ 7 เสียง ให้ชะตาของนายกฯ คนที่ 23 พ้นข้อกล่าวหา “ซุกหุ้น”

คนต่อมาคือ “สมัคร สุนทรเวช” นายกฯจากพรรคพลังประชาชน ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ เพราะการเป็นพิธีกร “ชิมไป บ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า”

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 วินิจฉัยว่า การจัดรายการของ นายกฯ สมัคร เป็นการกระทำเข้าข่ายกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551

เมื่อถูกซักในการไต่สวนว่า ในรายการชิมไป บ่นไป และยกโขยง 6 โมงเช้า นายสมัครเคยเรียกร้องผลประโยชน์ หรือค่าตอบแทนหรือไม่ ในฐานะที่ทำรายการ ?

“ไม่มีอ่ะ ผมยืนยันสาบานไว้ ณ ตรงนี้ ผมสาบานเมื่อกี้ (ก่อนให้การต่อหน้าคณะตุลาการ) ด้วยความสัตย์จริง ๆ ทุกประการผมไม่เคยเรียกร้องเลย ถ้าเรียกร้องอะไรเขา ขออย่าให้ผมมีความเจริญรุ่งเรือง บรรลัยวายวอด แต่ถ้าหากผมไม่ทำอย่างนั้น ขอให้ผมมีความเจริญรุ่งเรือง”

“ส่วนรายการของผมไม่เคยเรียกร้องสักบาท ถึงไม่ให้ผมก็ทำ เพราะผมชอบทำของผม ถ้าจะเลิกผมก็ต้องเลิก ผมไม่สนใจว่าเรื่องเงินต้องเป็นสาระสำคัญ ซึ่งต้องพิสูจน์ว่า หลังเป็นนายกฯผมเคยได้รับเงินจากบริษัทหรือไม่ แต่ที่ผมไม่คิดว่าผิด”

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุตอนหนึ่งว่า หลังจากผู้ถูกร้องเข้ารับตำแหน่งนายกฯ แล้วยังเป็นพิธีกรในรายการ “ชิมไป บ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ให้กับบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด

“พยานหลักฐานทั้งหมดมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า นายสมัครทำหน้าที่พิธีกรในรายการ ‘ชิมไป บ่นไป’ หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ แล้ว โดยยังคงได้รับค่าตอบแทนที่มีลักษณะเป็นทรัพย์สินจาก บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ดังนั้น การที่เป็นพิธีกรให้แก่บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด จึงเป็นการรับจ้างการทำงานตามความหมายของคำว่า ‘ลูกจ้าง’ ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 267 แล้ว เป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร จึงสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7)”

และ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ต้องพ้นจากตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรีรักษาการ” เมื่อ 7 พฤษภาคม 2557

จากเหตุโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อขยับ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี จาก ผบ.ตร. มานั่งเก้าอี้เลขาฯ สมช. เปิดทางให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธุ์ ดามาพงศ์ ขึ้นมาเป็น ผบ.ตร.แทน

คนร้องคือ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ขณะนั้นเป็น “ส.ว.สรรหา” ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่

“ยิ่งลักษณ์” ชี้แจงว่า ไม่ได้ใช้สถานะหรือตำแหน่งของการเป็นนายกรัฐมนตรีในการสั่งอนุมัติโดยลำพัง แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติในการประชุมคณะรัฐมนตรี และการโยกย้ายเป็นไปตามความเหมาะสม ตามดุลพินิจของรองนายกฯ ที่ได้มอบอำนาจไปแล้ว

ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ ได้สิ้นสุดลงแล้ว พร้อม ครม. เมื่อมีการยุบสภา การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลวินิจฉัย ให้ความเป็นนายกฯสิ้นสุดลง ย่อมไม่มีวัตถุแห่งคดี คือความเป็นนายกฯ ให้ต้องสิ้นสุดลงซ้ำสอง

แต่ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติ 9 ต่อ 0 ให้ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่ง

จาก ทักษิณ ถึงสมัคร ยิ่งลักษณ์ วันนี้ ถึงคิวของ พล.อ.ประยุทธ์