คุณหญิงพจมานหน้าม่านการเมือง ดันอุ๊งอิ๊ง 144 วัน ชิงนายกฯ คนที่ 30

คุณหญิงพจมาน เปล่งบารมี เปิดตัวหน้าเวทีการเมือง ดันกระแส ชู “อุ๊งอิ๊ง” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 1 ใน 3 บัญชีเพื่อไทย

จังหวะก้าว จังหวะคิด ทางการเมือง ของตระกูล “ชินวัตร” ในห้วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา นับว่าแม่นยำ

ทั้งการวางหมากคนแถวหน้า-แนวหลัง กองทุน และยุทธวิธี มีการขยับปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง

หลังเปิดตัวอุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ผงาดขึ้นเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย 20 มีนาคม 2565 มีการจัดอีเวนต์การเมืองทุกเดือน เพื่อตอกย้ำ-สร้างแบรนด์ สร้างการยอมรับ ก่อนขึ้นรับตำแหน่งใหญ่ ที่ไม่ไกลจากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ท้าชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนที่ 30

การปรากฏตัวใน-นอกพรรคของอุ๊งอิ๊ง ในรอบ 144 วัน มีการสนับสนุนรอบทิศทาง ทั้งจากคนการเมืองในตระกูลชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีทั้ง 3 ราย ระดับตัวพ่ออย่างทักษิณ ชินวัตร-น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

ภาพลักษณ์เช่นนี้ โหมทั้งกระแส กระสุน ผลักดันให้แรงสนับสนุนจากนักการเมืองในค่ายเพื่อไทย และค่ายการเมืองพันธมิตร หันมาพยักหน้าอย่างไม่อาจปฏิเสธข้อเสนออันครบเครื่องขององคาพยพ “อุ๊งอิ๊ง”

ในช่วงที่ฝ่ายตรงข้าม แกนนำ 3 ป. กำลังเพลี่ยงพล้ำครั้งแรกในรอบ 8 ปี โดยการกร่อนอำนาจกันเองของฝ่ายอนุรักษนิยม จึงเป็นจังหวะที่ฝ่ายเพื่อไทยและบ้านใหญ่ชินวัตร ได้เปรียบในการขยี้-ขยายแผลของรัฐบาล

ถึงเวลาเปิดไพ่ใบใหญ่ที่สุดออกมาหน้าเวที ที่ จ.เชียงใหม่ บ้านเกิดต้นตระกูล “ชินวัตร” นั่นคือการปรากฏตัว-เปิดหน้าของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อีกครั้ง ในรอบกว่า 15 ปี

ทว่า แม้คุณหญิงพจมานจะไม่ได้ปรากฏตัวที่หน้าเวที แต่ก่อนหน้านี้ แทบทุกระยะการเปลี่ยนผ่านของไทยรักไทย-พลังประชาชน จนถึงเพื่อไทย ยุคดิสรัปต์โดยกลุ่มแคร์ มีคุณหญิงพจมานและตัวแทนฝังตัวแทบทุกห้องประชุมในตึกเพื่อไทย ย่านถนนเพชรบุรี

ในความเป็นพรรคชินวัตร อาจมีนักการเมืองขาใหญ่ถอนตัว ถอยห่างออกจากพรรค แต่คุณหญิงพจมานนั้นไม่เคยห่างพรรค ไม่เคยแยกจากมวลชน

ตัวต่อ-ตัวแทน ในพรรคคุณหญิงมีทั้งสายตรง-สายอ้อม อาจกล่าวได้ว่า ร่มเงาการเมืองแห่งบ้านจันทร์ส่องหล้า-ส่องแสงถึงทุกก๊ก ทุกก๊วน

อย่างน้อยก็มีกลุ่มแคร์ ที่ทรงอิทธิพลในพรรค อันกุมสภาพไว้โดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี คนการเมืองดั้งเดิมที่อาบแสงจันทร์ส่องหล้ามายาวนาน ประกบด้วยสายตรง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช คนรู้งานรู้มือทักษิณเป็นอย่างดี ได้แรงหนุนเพิ่มจากนักการเมืองรุ่นใหญ่ ที่ครบครันทั้งประสบการณ์ธุรกิจ-การเมือง เป็นกองหนุนเงียบที่กุม ส.ส.ระดับเขตไว้จำนวนมากที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีแนวร่วมคุณหญิงพจมาน กลุ่มเพื่อนรหัส “เซนต์โย 1315” ที่คอยเก็บรายละเอียด จากพรรคสู่บ้านใหญ่แบบไร้รอยต่อ

พื้นที่ กทม. ถูกวางไว้ในความดูแลของพวงเพ็ชร ชุนละเอียด อันเป็นสายตรงทั้งจากทักษิณและบ้านจันทร์ส่องหล้า

ในทางธุรกิจ คุณหญิงพจมานปรากฏชื่อถือหุ้น อันดับหนึ่งบริษัท โรงพยาบาลพระราม 9 จำกัด (มหาชน) 37.44%

ส่วนธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯของบ้านชินวัตร ถูกจัดสรรไว้ในมือเอม-พินทองทา ให้ถือหุ้นในบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 27.95% ส่วนอุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ถือหุ้น 28.8% คุณหญิงพจมาน ยังถือหุ้น 2.78%

ครอบครัวชินวัตร ที่มีคุณหญิงอ้อเป็นหัวเรือใหญ่ ยังบริหารกิจการอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ อาทิ โรงแรมเอสซีปาร์ค กรุงเทพฯ สนามกอล์ฟอัลไพน์ รีสอร์ตเทมส์ วัลลีย์ ที่เขาใหญ่ และโรงแรมโรสวูด แบงคอก

ไม่ว่าจะบทบาทเบื้องหน้า หรือเบื้องหลังในบ้านใหญ่ เหนือสิ่งอื่นใด คุณหญิงพจมาน ทรงอิทธิพลทางชีวิต-ความคิดของทักษิณ ชินวัตร ถึงแม้แยกทาง-หย่าร้างทางกฎหมายกันแล้ว 14 ปี (จดทะเบียนหย่า พ.ย. 2551) หลังใช้ชีวิตสมรสด้วยกัน 32 ปี

ทักษิณเล่าไว้ในหนังสือ Conversations with THAKSIN เรื่องการ “หย่า” ครั้งนั้นไว้ว่า “…เพราะคุณหญิงพจมานไม่ชอบการเมือง หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการสร้างทางธุรกิจจนร่ำรวย คุณหญิงบอกว่าเราควรจะพักผ่อน และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขด้วยกัน”

แต่เมื่อทักษิณตัดสินใจอยากเล่นการเมืองอีกครั้ง หลังรัฐประหาร 2549 คุณหญิงตอบทักษิณว่า “เข้าใจและเห็นใจที่ทักษิณต้องการต่อสู้ทางการเมือง แต่เธอไม่ต้องการที่จะยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก”

หนังสือดังกล่าวระบุด้วยว่า คุณหญิงพจมาน “ไม่ชอบการเมือง แต่เธอเข้าใจดีว่าถ้าผมไม่ต่อสู้ ผมจะไม่มีวันได้กลับบ้าน”

คำบอกเล่าของทักษิณที่ว่า “คุณหญิงพจมานไม่ค่อยชอบออกงานสังคม น้อยครั้งที่ทั้งคู่จะปรากฏตัวต่อสาธารณะด้วยกัน ขณะที่เป็นภริยานายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนต่างประเทศประมาณ 60 ครั้ง คุณหญิงพจมานร่วมเดินทางไปด้วยเพียงแค่ครั้งสองครั้งเท่านั้น” สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของ “อุ๊งอิ๊ง” ที่ว่า “คุณแม่เป็นกำลังใจที่บ้าน ไม่มาการเมืองแน่นอน แค่จะเดินทางก็ไม่ชอบเดินทางอยู่แล้ว”

เช่นเดียวกับงานฉลองมงคลสมรสของอุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร กับปอ-ปิฎก สุขสวัสดิ์ ที่ฮ่องกง ก็ไร้เงาของคุณหญิงพจมาน

ในยุคที่การเมืองในไทยรักไทยเข้มข้น-มีข่าวคราวเรื่อง ส.ส.หญิงกับหัวหน้าพรรค ที่บ้านจันทร์ส่องหล้าเคยจัดงานเลี้ยง ส.ส.หญิงเกือบทั้งพรรค ได้ร่วมงาน ยกเว้น ส.ส.หญิงรายหนึ่ง ที่ไม่ได้ร่วมวง

ก่อนจะมีคำนำหน้านามว่า “คุณหญิง” เธอชื่อต้นและนามสกุลเดิมว่า พจมาน ณ ป้อมเพชร หรือ อ้อ เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 4 คนของพลตำรวจโทเสมอ ดามาพงศ์ อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจและผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กับคุณหญิงพจนีย์ ณ ป้อมเพชร มีพี่ชาย 3 คนคือ พงษ์เพชร ดามาพงศ์, พลตำรวจเอกเพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ และพลตำรวจโทนายแพทย์พีระพงศ์ ดามาพงศ์ และมีพี่ชายบุญธรรมที่มีคอนเน็กชั่นไม่ธรรมดา คือ บรรณพจน์ ดามาพงศ์

พจมาน-ปรากฏตัวทำงานด้านสังคม ผ่านการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2529 ประกาศว่า นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ยื่นเรื่องราวขออนุญาตจดทะเบียนจัดตั้ง “มูลนิธิจุฬาภรณ์” เพื่อให้ทุนการศึกษาวิจัย วิชาการแพทย์ และส่งเสริม อาจารย์แพทย์ เทคนิคการแพทย์ พร้อมประกาศรายพระนาม รายนาม ประธาน และกรรมการ รวม 23 ราย ชื่อนางพจมาน ชินวัตร อยู่ในกรรมการลำดับที่ 20

คำนำหน้านาม “คุณหญิง” ปรากฏขึ้นหลังทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ 2 ปี โดยได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) ในวโรกาสพระราชพิธีฉัตรมงคล 5 พฤษภาคม 2546

ชื่อคุณหญิงพจมาน ปรากฏที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ครั้งที่ประกาศเรื่องการบริจาคของพรรคการเมือง ตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2548 พบว่า “พรรคไทยรักไทยมีผู้บริจาคเพียง 11 ราย แต่มียอดบริจาคสูงที่สุดถึง 129,643,340 บาท แบ่งเป็นของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร บริจาคเงินเข้าพรรค 85 ล้านบาท”

ก่อนหน้านี้ 13 เดือน ชื่อคุณหญิงพจมาน ถูกโยนหินขึ้นมาถามทาง ที่งานเลี้ยงวันเกิดนักการเมืองขาใหญ่ ในบ้านแกนนำของเพื่อไทย โดยนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เจรจาข้ามฟ้ากับทักษิณ ว่าชื่อที่ควรถูกเสนอเป็นหัวหน้าพรรค ควรเป็นคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ โดยให้เหตุผลว่า

“หากคุณหญิงพจมานมารับตำแหน่ง เชื่อว่าจะเป็นแม่เหล็ก ลูกน้องเก่า ๆ จะกลับมาทั้งหมด ถ้าคุณหญิงพจมานรับปากว่าจะมาเป็นหัวหน้าพรรค”

ครั้งนั้นทักษิณตอบไว้หลังรอยยิ้มว่า “คุณหญิงพจมานเป็นคนไม่ชอบการเมืองที่สุด แต่ที่ผ่านมาตกกระไดพลอยโจน ถ้าไม่จำเป็นอย่างยิ่งยวด คุณหญิงจะไม่ขอลงการเมือง เพราะไม่ชอบ ปราศรัยไม่ถนัด ไม่ถนัดที่จะพูดต่อหน้าคนเยอะ ๆ นั่งเป็นประธานในที่ประชุมได้ แต่ว่าไปขึ้นปราศรัย ขึ้นเวทีทักทายประชาชนทำไม่เป็น”

ชื่อและชีวิตของคุณหญิงพจมาน ผ่านผู้นำทั้งใน-นอกรัฐธรรมนูญมาแล้ว ตั้งแต่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, อานันท์ ปันยารชุน และเหล่าอำมาตย์ทั้งหลายอย่างเงียบ ๆ

ครั้งสุดท้าย ชื่อคุณหญิงถูกถามหล่นบนโต๊ะในทำเนียบรัฐบาลเรื่องการ “ดีล” แต่ไร้เงา ไร้คำยืนยัน ในคำตอบ ปรากฏแต่เพียงเสียงของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ผู้มีบารมีแห่ง 3 ป. ที่ตอบเสียงแผ่วว่า “ไม่เคยคุย”

เมื่อคุณหญิงพจมาน ปรากฏตัวทางการเมืองเชิงสัญลักษณ์ การตีความจึงแพร่กระจาย ราวกับก้อนหินพุ่งแรงไปในสายน้ำ ย่อมกระจายไปหลายชั้น แต่ที่ตกผลึกอยู่ในใจ-ในดวงตา คนหนึ่งตลอดไป ทั้งใน-นอกวงอำนาจคือ ทักษิณ ชินวัตร