ประวิตรยันใช้กฎหมายปกติ แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ประวิตรยันใช้กฎหมายปกติคุมสถานการณ์ ด้านเลขาฯ สมช.ชี้ ศบค.ยุติบทบาท รวมถึงศูนย์ย่อย 9 แห่ง ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ชงเข้า ครม. 27 ก.ย.นี้

วันที่ 23 กันยายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ถึงการยกเลิกการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ว่า โฆษก ศบค.เขาชี้แจง โฆษก ศบค.มีตนไม่ได้เป็นโฆษก ส่วนการดูแลสถานการณ์อื่นต่อไปนั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า มันมีกฎหมายปกติอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วงหรอกครับ

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการยุบ ศบค.ทันทีเลยหรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบย้ำว่า “ศบค.เขามีโฆษก มาถามอะไรผมล่ะ”

ขณะที่ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ว่า การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะมีผลตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน เนื่องจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ครั้งก่อนมีผลสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน ดังนั้น ตามกฎหมายต้องดำเนินการตามนี้ กลไกต่อไปจะเป็นคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยมี รมว.สาธารณสุขเป็นผู้ดูแล เหนือจากคณะกรรมการโรคติดต่อฯ ก็จะเป็นคณะรัฐมนตรี และเป็นรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี

ส่วนเหตุผลการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น จริง ๆ ถ้าติดตามการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ของ ศบค. และรัฐบาลที่ผ่านมาโดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีการดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนอย่างต่อเนื่อง จึงมีจุดที่ต้องพิจารณา พอถึงจุดที่เหมาะสม สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น และกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ดังนั้น กฎหมายปกติใช้ได้แล้วก็ดำเนินการตามแผน และขั้นตอนที่วางไว้

“ศบค.ยุติการทำงาน และ 9 ศูนย์ที่อยู่ภายใต้ ศบค. ก็ยุติและใช้กลไกปกติในการทำงาน คือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 และยังมีร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อที่ปรับปรุงจากปี 2558 ถ้ามีอะไรพิเศษ เราก็สามารถพิจารณาใช้กฎหมายเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ ในวันอังคารที่ 27 กันยายน จะนำเรื่องการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้มีการเห็นชอบ” พล.อ.สุพจน์กล่าว


ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าโควิด-19 มีการระบาดขึ้นอีก สามารถประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้อีกหรือไม่ พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า จริง ๆ แล้วประกาศได้อีก อะไรที่เป็นวิกฤตที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่าต้องใช้กฎหมายพิเศษ ก็สามารถทำได้ทันที ส่วนโควิด-19 ทางกระทรวงสาธารณสุขจะใช้กลไกควบคุมโรคติดต่อ ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ก็สามารถใช้อำนาจตนเองในการประกาศให้เป็นโรคระบาดในพื้นที่ แล้วใช้กฎหมายที่ตนเองมีจัดการได้ก่อนเลย