ออก พ.ร.ก.โรคติดต่อ แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บังคับใช้ 1 ตุลาคม

นายแพทย์อุดม คชินทร
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร

หมออุดม ที่ปรึกษา ศบค. เผย 1 ตุลาฯ เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยุบ ศบค. เปลี่ยนผ่านโควิด-19 สู่โรคเฝ้าระวัง เผยชงออก พ.ร.ก.โรคติดต่อฉบับแก้ไข ช่วงรอ พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่เข้าสภา

วันที่ 23 กันยายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุม ศบค.ว่าห้วงเวลานี้ตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 ในระดับต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 1,000 คน

ขณะที่การรายงานผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จากการตรวจ ATK ในระบบ จำนวน 13,000-14,000 คน และ ATK นอกระบบ 2-3 เท่า รวมแล้วมีผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 30,000-40,000 คนต่อวัน แต่ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง จึงเปลี่ยนผ่านจากโรคติดต่อร้ายแรงเป็นโรคเฝ้าระวัง ซึ่งยังไม่ถึงระดับเป็นโรคประจำถิ่น

นพ.อุดมกล่าวว่า สำหรับแผนเปลี่ยนผ่าน หลังวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ไม่ต้องตรวจ ATK ไม่ดูผลการฉีดวัคซีน แต่ประชาชนต้องดูแลตัวเอง คาดว่าเราจะต้องอยู่กับโควิด-19 ราว 1 ปี จึงจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ในระดับเดียวกันกับโรคไข้หวัด

นพ.อุดมกล่าวว่า ปัจจุบันการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับ 3 ไม่เจ็บป่วยรุนแรง ไม่เสียชีวิต การฉีดวัคซีนจึงยังเป็นประโยชน์ อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 เพียง 30-40% ควรเร่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้ 70% ขึ้นไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากโควิด-19 กลายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์ใหม่เกิดการระบาดระลอกใหม่ นพ.อุดมกล่าวว่า เราได้เซตระบบไว้ทั้งหมดแล้ว โดยมอบหมายกระทรวงต่าง ๆ ผลจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและคำสั่ง ศบค. แต่นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เราจะไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ศบค.ก็จะหมดไปโดยอัตโนมัติ

“ถ้าโควิด-19 กลับมา ครม.ก็จะมอบหมายหน้าที่กระทรวงต่าง ๆ แทน ศบค.ผ่านมติ ครม.ในระยะยาวอยู่ในขั้นตอนเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อฉบับใหม่เข้าสู่การพิจารณาสภา ซึ่งมีโครงสร้างบางส่วนเหมือน ศบค.อยู่ในนั้น ไม่ต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก เราเคยเสนอท่านนายกฯ พ.ร.บ.แก้ไขโรคติดต่อ ประกาศเป็น พ.ร.ก.โรคติดต่อฉบับแก้ไขใช้ไปก่อนได้” นพ.อุดมกล่าว