สาธารณสุขออกประกาศ ยกเลิก “โควิด-19” ออกจากโรคติดต่ออันตรายแล้ว

ราชกิจจานุเบกษาฯ-ประกาศราชกิจจาฯ

ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข สั่งยกเลิกโรคโควิด-19 ออกจากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป หลังสถานการณ์การระบาดทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง รวมถึงจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตก็ลดลงตามลำดับ ขณะที่วัคซีนในประเทศมีเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

วันที่ 20 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ ลงนามโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 พ.ศ. 2565

ยกเลิกโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ทั่วโลก มีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตลดลง รวมถึงการแพร่ระบาดและความรุนแรงของโรคในท้องที่นอกราชอาณาจักรมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน

ประกอบกับจำนวนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในราชอาณาจักรมีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และประชาชนในราชอาณาจักรได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในระดับความครอบคลุมสูง ซึ่งส่งผลให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันโรคเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้น เพื่อให้มาตรการทางกฎหมายสอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ในราชอาณาจักรและมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงเห็นสมควรยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 เพื่อประโยชน์และความเหมาะสมในการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคติดต่อ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงออกประกาศยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563

ปลดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

ส่วนประกาศกระทรวงสาธารณสุขอีกฉบับระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีการประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคติดต่ออาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2565

โดยให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (57) ของข้อ 4 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง พ.ศ. 2562 “(57) โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิต”

ครม.ไฟเขียว ปลดโควิด-19 ออกจากโรคต้องห้ามเข้าประเทศ

วันเดียวกัน (20 ก.ย. 2565)  ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวฯ พ.ศ. 2563 โดยยกเลิกโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ออกจากการเป็นโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 12 (4) หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามมาตรา 44 (2) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป