ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วประเทศ ปิดศูนย์บริหารโควิด 9 แห่ง

ประชุมนัดสุดท้าย ก่อนยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อการควบคุมโรคโควิด-19 ยุบ ศบค.ชุดใหญ่ และศูนย์ปฏิบัติการ ยกเลิกศูนย์ที่เกี่ยวข้องอีก 9 แห่ง มีผล 1 ต.ค. นี้

วันที่ 22 กันยายน 2565 พลเอกสุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เปิดเผยว่า การประชุมวันนี้ (22 กันยายน 2565) เป็นการประชุมนัดสุดท้ายของ ศปก.ศบค. มีการพิจารณาเรื่องสำคัญ คือ วาระรับทราบสถานการณ์ปัจจุบัน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศ แจ้งให้ทราบทุกอย่างเริ่มดีขึ้นตามลำดับ ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตลดลง

ซึ่งเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข คือรณรงค์ดำเนินการต่อไป ให้เหลือน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย นอกจากนี้ ได้มีการหารือเรื่องแผนการเปลี่ยนผ่าน ให้โควิด-19 เป็นโรคเฝ้าระวัง โดยกระทรวงสาธารณสุขได้รับความเห็นชอบจาก ศบค.ไปก่อนหน้านี้ และได้ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ไม่ร้ายแรง ในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้คิดแผนรองรับและเตรียมบูรณาการการทำงาน เพื่อกลับไปสู่กลไกปกติของประเทศ

หลังจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะทำแผนและแจ้งแนวทางต่าง ๆ ที่ต้องปฏิบัติ หลังมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โรคติดต่อที่ไม่ร้ายแรง ตลอดจนองค์กร สถานประกอบการต่าง ๆ ต้องปฏิบัติอย่างไร ซึ่งทั้งหมดจะมีแผนเผชิญเหตุรองรับด้วยในช่วงการเปลี่ยนผ่าน เพื่อไม่ให้กลับไปสู่การเสียหายขนาดใหญ่อีก

พลเอกสุพจน์กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม ศปก.ศบค.ได้เห็นชอบร่วมกันว่า วันที่ 23 กันยายน 2565 จะเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ให้ยกเลิกการบังคับใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) โดยขึ้นอยู่กับการพิจารณาในที่ประชุม ซึ่งมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง แพทย์ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จะร่วมกันพิจารณา

ทั้งนี้ หากที่ประชุม ศบค.เห็นชอบ ก็จะส่งผลให้ยุบ ศบค., ศปก.ศบค และศูนย์ที่เกี่ยวข้องอีก 9 ศูนย์ ยุบส่วนราชการต่าง ๆ ที่ตั้งมาก่อนหน้านี้ ทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ภาคเศรษฐกิจ ยุบทั้งหมด แต่จะมีกลไกรองรับ และได้มีการเตรียมการเป็นลำดับแล้ว โดยหากผ่านความเห็นชอบก็จะเริ่มต้นได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

“โดยหลังจากนี้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นคนดูแลโดย พ.ร.บ.โรคติดต่อ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล และปรับปรุงให้เกิดความเหมาะสมมากขึ้น เพื่อรองรับกับสถานการณ์”

เมื่อถามว่าที่ประชุมมีข้อกังวลใดเป็นพิเศษหลังการเปลี่ยนผ่าน พลเอกสุพจน์กล่าวว่า ที่กังวลคือเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน หากยกเลิกแล้ว ไม่ใช่ว่าจะถอดหน้ากาก หรือดำเนินชีวิตอย่างไรก็ได้ แต่ต้องมีมาตรการป้องกันส่วนบุคคล เพราะในสังคมกลุ่มย่อยการรวมตัวยังมีคลัสเตอร์ใหญ่และย่อยเกิดขึ้น เพียงแต่ภูมิคุ้มกันหมู่ภาพรวมของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก และไม่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง มียา แพทย์ พยาบาล และโรงพยาบาลเพียงพอ

ส่วนจะไปถึงขั้นถอดหน้ากากใช้ชีวิตตามปกติคงจะต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะหากตามดูที่รัฐบาลได้ทำมาต่อเนื่อง ได้ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เปิดให้เสียหายมากและค่อยมาแก้ไข แต่เราจะคำนึงถึงประชาชน ความเสียหายของประชาชนเป็นสำคัญ ดังนั้น คิดว่าค่อย ๆ ปรับตัวกันไปก่อน