เปิดกฎเหล็ก 180 วัน กกต. ที่พรรคการเมืองทำได้-ทำไม่ได้

พรรคการเมืองหาเสียง

พลันเข้าสู่วันที่ 24 กันยายน อันเป็นวันนับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้ง 180 วัน หากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ครบเทอม

ข้อกังขา-กังวลของนักเลือกตั้ง ต่อกฎเหล็กของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ 3)

พรรคการเมืองต่างพากันปลดป้ายบิลบอร์ดโฆษณาพรรคตนเองลง ไม่ว่า พรรคสร้างอนาคตไทย ที่มี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ประธานพรรคลง พรรคพลังประชารัฐ ก็เริ่มปลดภาพ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รักษาราชการแทนนายกฯ หัวหน้าพรรค เช่นเดียวกับ พรรคประชาธิปัตย์ ที่สั่งลูกพรรคให้ปฏิบัติตามกฎเหล็ก กกต.อย่างเคร่งครัด

ครอบครัวเพื่อไทย ที่มี “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หยุดเดินหน้าชั่วคราว จนกว่าจะมีความชัดเจนจาก กกต. เพราะต้องระวังเรื่องค่าใช้จ่ายในกิจกรรมการเมืองต่าง ๆ

เพราะตราบใดที่ไม่มีการยุบสภา-รัฐบาลอยู่ครบเทอม ค่าใช้จ่ายจะถือเป็น “ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง”

เรื่องระทึกคือ หากมีการฝ่าฝืนบทกำหนดโทษเรื่องค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งเกินกว่าที่ กกต.กำหนด บัญญัติอยู่ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 154 ในกรณี ส.ส. ถ้าใช้จ่ายเกินที่ กกต.กำหนด ติดคุก 1-5 ปี ปรับ 2 หมื่น ถึง 1 แสนบาท หรือปรับเป็นจำนวน 3 เท่าของจำนวนเงินที่เกินค่าใช้จ่ายที่ กกต.กำหนด แล้วแต่จำนวนใดมากกว่า หรือทั้งจำทั้งปรับ ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

ในกรณีพรรคการเมือง ถ้าใช้จ่ายเกินที่ กกต.กำหนด ให้ระวางโทษปรับ 2 แสน ถึง 2 ล้านบาท หรือปรับเป็นจำนวน 3 เท่าของจำนวนเงินที่ กกต.กำหนด แล้วแต่จำนวนใดมากกว่ากัน ถ้าหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค เหรัญญิกพรรคการเมืองรู้เห็นเป็นใจด้วยกับการกระทำความผิด จะต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

เมื่อแกะระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ 3) ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมจาก ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียง และลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

มีข้อปฏิบัติสำหรับพรรคการเมืองที่ทำได้-ไม่ได้ ดังนี้

ที่ทำได้

  • กิจกรรมหาเสียงของพรรค และ ส.ส. ต้องคิดรวมเป็นค่าใช้จ่าย โดยกำหนดว่าผู้สมัคร ส.ส.เขตใช้งบฯหาเสียงได้ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท/คน ส่วนพรรคการเมืองใช้งบฯหาเสียงได้ไม่เกิน 35 ล้านบาท/พรรค
  • จัดประชุมใหญ่พรรค การเปิดตัวผู้สมัคร การทำไพรมารีโหวต
  • ติดป้ายหาเสียงทำได้ แต่ต้องเป็นขนาด-จำนวน ป้ายหาเสียง ที่ถูกต้อง อาทิ ป้ายหาเสียงที่ติดบริเวณทำการ สาขาพรรค ตัวแทนประจำจังหวัด ศูนย์อำนวยการพรรค กำหนดให้ 1 ป้ายต่อ 1 เขตเลือกตั้ง ขนาด 4×7.50 เมตร ป้ายหาเสียง จำนวนไม่เกิน 2 เท่าของหน่วยในเขตเลือกตั้ง ขนาด 30×2.45 เมตร ใบปิดประกาศจำนวนไม่เกิน 10 เท่าของหน่วยในเขตเลือกตั้ง ขนาด 30×42 เซนติเมตร

“กรณีที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองสามารถ ปิดประกาศหรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยวิธีการจัดทา ขนาด จำนวน และสถานที่ ให้ถือปฏิบัติตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งและผู้อานวยการสานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำจังหวัดประกาศกาหนดในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด” ประกาศล่าสุดของ กกต.ระบุ

  • พรรคจัดระดมทุนได้ จัดเปิดตัวผู้สมัครได้ ประชุมใหญ่สมาชิกได้
  • การหาเสียงทางอีเล็กทรอนิกส์ ทั้ง เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ยูทูบ แอปพลิเคชั่น อีเมล์ เอสเอ็มเอส สื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นทุกประเภท ให้แจ้งวิธีการ รายละเอียด และช่องทางในการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อน แล้วจึงดำเนินการ กรณีพบการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกต้อง กกต.จะสั่งให้มีการแก้ไข หากไม่แก้ไข กกต.จะแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ​หากมีการเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือลบ ก็ถือเป็นค่าใช้จ่าย

ทำไม่ได้

  • การช่วยเหลือน้ำท่วม ก่อนช่วงระยะเวลา 180 วัน สามารถให้เงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 300,000 บาท ถ้าเกินต้องนำมารวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง แต่พอมาในช่วงระยะเวลา 180 วัน จะไม่สามารถให้เงิน ถือว่าผิดกฎหมาย
  • ไม่สามารถแจกเงิน แจกของ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด
  • ป้ายบิลด์บอร์ดขนาดใหญ่ที่ขึ้นก่อน 180 วัน หากผิดขนาดที่กำหนด ต้องปลดลง

นอกจากนี้ในระเบียบดังกล่าว ยังกำหนดให้มาบังคับใช้แก่ผู้ประสบจะสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งด้วย