46 ปี 6 ตุลา พรรคการเมือง ชงแก้ รธน.-กฎหมายคืนความเป็นธรรม ม.112

6 ตุลา

ครบ 46 ปี 6 ตุลา พรรคการเมือง ชงแก้รัฐธรรมนูญ ห้ามรัฐประหาร-ชงแก้กฎหมาย ม.112-116

วันที่ 6 ตุลาคม 2565 ที่ลานประติมานุสรณ์ 6 ตุลา 2519 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ “เครือข่ายนักศึกษาจัดงาน 6 ตุลา” จัดกิจกรรม “รำลึก 46 ปี 6 ตุลา ตามหาอยุติธรรม” ทั้งนี้ งานเริ่มขึ้นตั้งเวลา 06.30 น. โดยมีประชาชนและพรรคการเมือง นักการเมืองทยอยมาร่วมงาน อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย คณะก้าวหน้า จากนั้นเวลา 07.30 น. มีการกิจกรรมใส่บาตรภิกษุสงฆ์ 19 รูปจากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร อุทิศส่วนกุศลแด่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 คือบทเรียนว่าสังคมไทยจะต้องร่วมกันทบทวนเงื่อนไขในการปราบปรามของรัฐ การรัฐประหาร ไปจนถึงการเข่นฆ่าประชาชน ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร พรรคก้าวไกล มีข้อเสนอทางการเมืองเพื่อให้ประเทศไทยสามารถเกิดความสมานฉันท์ ให้ความคิดที่แตกต่างกันอยู่ร่วมกันได้ในสังคมไทยจริง ๆ และเหตุการณ์อย่าง 6 ตุลา ไม่เกิดขึ้นอีก

นั่นคือจะต้องมีการคืนความเป็นธรรมให้กับเหยื่อคดีการเมือง ผู้ต้องคดีการเมืองต้องได้นับการยุติการดำเนินคดี ยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด และจะต้องมีการเสาะหาข้อเท็จจริง ทั้งในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 พฤษภา 35 และทุกเหตุการณ์การเมือง รวมถึงเหตุการณ์ในปี 2557 ด้วย

ในสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน รัฐยังคงใช้ความรุนแรงและมีความพยายามกดปราบประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการปราบปรามบนท้องถนนและการดำเนินคดีการเมืองกับกลุ่มเคลื่อนไหวต่าง ๆ ซึ่งตัวเองขอเตือนว่ารัฐไม่อาจจะกดปราบและใช้ความรุนแรงกับประชาชนได้ดังในอดีตอีกต่อไปแล้ว เพราะประชาชนจะไม่ยอมอีกต่อไป

การคืนความเป็นธรรมแก่ผู้เสียหายจากคดีการเมือง แตกต่างจากการนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นกระบวนการที่ผู้ต้องหาคดีการเมืองถูกตัดสินให้มีความผิดแล้ว แต่ได้รับการ “นิรโทษ” คือพ้นจากโทษ แต่การคืนความเป็นธรรมคือการทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่ต้องมีคดีติดตัว ไม่ต้องถูกตัดสินตีตราว่าผิด รวมถึงไม่ต้องรับโทษ

“ซึ่งการ คืนความเป็นธรรม เป็นนโยบายหลักของพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกลก็จะยังคงผลักดันการแก้กฎหมายมาตราที่ละเมิดสิทธิของประชาชน ใช้กลั่นแกล้งผู้เห็นต่าง ทั้งมาตรา 112 และ 116 รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยที่ผ่านมาก็ได้เสนอร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเข้าสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว” นายพิธากล่าว

ด้าน น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ขอยืนยันในหลักการประชาธิปไตย และทุกการแสดงออกภายใต้กรอบของกฎหมาย ต้องได้รับการคุ้มครอง และไม่ต้องการเห็นผู้มีอำนาจรัฐ ใช้กำลังในการล้อมปราบพี่น้องประชาชนเหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งนับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่สำหรับการเมืองไทยที่มาจากอำนาจนิยมไม่ยอมฟังเสียงประชาชนใส่ร้ายป้ายสีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลฝั่งตรงข้าม สร้างความแตกแยกให้ร้าวลึกให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

ทั้งนี้ พรรคไทยสร้างไทย ขอยืนยันว่าจะร่วมต่อต้านความรุนแรงทุกรูปแบบยืนเคียงข้างพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะระบอบอำนาจนิยมที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเป็นต้นเหตุสำคัญที่สร้างความขัดแย้ง ในทุกเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองของประเทศไทย

“พรรคไทยสร้างไทย ขอประกาศคืนอำนาจให้ประชาชน มีอำนาจในการเขียนรัฐธรรมนูญของตัวเอง โดยการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญจากประชาชน ซึ่งพรรคไทยสร้างไทยได้ร่างกฏหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะคืนอำนาจให้กับประชาชนเขียนรัฐธรรมนูญของตนเองโดยประชาชนและเพื่อประชาชนไว้เรียบร้อยแล้ว ที่สำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องบัญญัติไว้ว่าการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ ต่อจากนี้ถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครองเป็นกบฏต่อแผ่นดิน ผู้ทำการรัฐประหารต้องได้รับโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต และขณะนี้พรรคไทยสร้างไทยได้ร่างกฏหมายไว้เรียบร้อยแล้วขอเชิญชวนประชาชนร่วมลงชื่อในสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป” น.ต.ศิธากล่าว