ประยุทธ์ ประวิตร ในเกมการข่าวลูกพรรค “ชิงหัว” แคนดิเดตนายกฯ

พลังประชารัฐ
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

พลังประชารัฐ-พรรคแกนนำรัฐบาล ยังอยู่ในระหว่างการดีล-วัดกระแส กระสุน และท่อน้ำเลี้ยงระหว่างทีมพี่ใหญ่-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ที่บรรดาลูกหาบชงขึ้นเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รักษาแชมป์

ขุนพล-ลูกพรรคต่างขยับจัดทัพ “ทีมมันสมอง” นอกพรรค-ในพรรค เพื่อคิด-คั้นนโยบายพรรคให้ถูกใจโหวตเตอร์ที่ทั้งปักใจ-ปันใจ เพื่อปิด “จุดอ่อน” หัวหน้าพรรค-แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ล่าสุด พล.อ.ประวิตรได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ โดยมี “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรค นั่งหัวโต๊ะ และคีย์แมน-ขุนพลสายบ้านป่ารอยต่อเป็นกรรมการเต็มคณะ โดยประชุมนัดแรกวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ประกอบด้วย

“สมเกียรติ ประจำวงษ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำ ที่ทำงานกับ พล.อ.ประวิตร มาตั้งแต่เป็น เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ปัจจุบันแม้เกษียณอายุราชการแล้ว ยังติดตามลงพื้นที่ตรวจราชการเรื่องน้ำไม่ได้ขาดสาย

รวมถึง “พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์” นักวิชาการด้านการเมือง-ปกครอง พรรคการเมือง นโยบายพรรคการเมือง การเลือกตั้งและอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ขึ้นแท่นสายบ้านป่ารอยต่อ-พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ มือปราบค้ามนุษย์ดึงช่วยงาน

ขณะที่ 99 ส.ส.ส่งตัวแทนมาจากภาคต่าง ๆ ดังนี้ ภาค 1 มาจากบ้านใหญ่อัศวเหม-นายอัครวัฒน์ อัศวเหม ส.ส.สมุทรปราการ ภาค 2 บ้านใหญ่ชลบุรี-นายสราวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี

ภาค 2 บ้านใหญ่รัตนเศรษฐ-นายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา ภาค 6 ตัวแทนสามมิตร-นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย ภาค 7 นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ส.ส.ราชบุรี

ภาค 8 นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช ภาค 9 นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส และภาค 10 น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม.

หน้าที่-อำนาจของคณะกรรมการนโยบาย “ชุดไพบูลย์” ขึ้นตรงกับ พล.อ.ประวิตรโดยตรง ไม่ต้องบายพาส ศึกษา และจัดทำร่างนโยบายเพื่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรค และข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้อง เสนอหัวหน้าพรรคพิจารณา เพื่อปรับปรุง แก้ไข หรือดำเนินการอื่นใดเพิ่มเติม ให้เกิดความสมบูรณ์ครบถ้วน รวมทั้งนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารพรรคต่อไป

จัดให้มีการรับฟัง แลกเปลี่ยน และระดมความคิดเห็นจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค สมาชิกพรรค นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาและจัดทำร่างนโยบายเพื่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคที่เกี่ยวข้องกับภาคส่วนต่าง ๆ ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชนท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับภูมิภาคและระดับชาติ

จัดทำเอกสารประกอบนโยบายเพื่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรค เพื่อยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

แต่งตั้งที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย

รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการในทุกขั้นตอนต่อหัวหน้าพรรคโดยตรง ดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ และปฏิบัติงานอื่นตามที่หัวหน้าพรรคมอบหมาย

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตรได้แต่งตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อน 3 พันธกิจ มีอีก 1 คีย์แมนสายบ้านป่ารอยต่อ “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ-เจ้าแม่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็น “ตัวตั้งตัวตี”

โดยมี 3 คณะกรรมการย่อย-แยกตามภารกิจหลัก ประกอบด้วย คณะกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการประชารัฐ คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประชารัฐ และคณะกรรมการขับเคลื่อนสังคมประชารัฐ

“วีระกร คำประกอบ” ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประชารัฐ 1 ในคณะกรรมการขับเคลื่อน 3 พันธกิจ เตรียมออกแคมเปญหาเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจที่จะทยอยออกมา

นโยบายเอาใจเกษตรกร-ชาวนา โดยการตั้งโรงปุ๋ยให้เสร็จภายใน 4 ปี นโยบายเพื่อคนต่างจังหวัด เช่น การผันน้ำยวม น้ำสาละวิน มาเติมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเกษตรกร 27 จังหวัด โดยทำให้เสร็จภายใน 5-6 ปี

อีก 1 นโยบายเอาใจคน กทม.ที่ “วีระกร” จะผลักดันเป็นนโยบายพรรคพลังประชารัฐคือ การตั้ง “บริษัทร่วมทุน” รถไฟฟ้า 10 สาย เพื่อออกตั๋วโดยสาร “บัตรใบเดียว” ค่าโดยสาร 60 บาทตลอดวัน/ตลอดสาย เพื่อให้รัฐบาลเข้าไปอุดหนุนได้

“นโยบายนี้ทำได้ทางเดียวคือ ไม่ต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวให้บีทีเอส เพราะเป็นไข่แดงในการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าทั้ง 10 สายใน กทม. เมื่อไม่ต่อสัญญา รัฐบาลจะมีอำนาจเรียกบริษัทรถไฟฟ้า 10 สายมาคุยเพื่อลดราคาให้ต่ำที่สุด”

“ยังไงลุงตู่ก็ต้องเป็นแคนดิเดตนายกฯ เบอร์ 1 ลุงป้อม แคนดิเดตนายกฯ เบอร์ 2 ชื่อลุงตู่ยังขายได้ในพื้นที่ภาคใต้ ยิ่งถ้าออกนโยบายที่โดนใจประชาชนก็จะเพิ่มความนิยมให้กับพรรค”

แหล่งข่าวระดับสูงในพรรคพลังประชารัฐบอกว่า คณะกรรมการทั้ง 2 ชุด
คงไม่ “ชิงกันเอง” เพราะทุกคนล้วนแล้วแต่มีความอาวุโสทางการเมือง

“ไม่ได้แบ่งงานกันว่าใครจะทำอะไร-ไม่ทำอะไร แต่ละคณะก็มีอำนาจหน้าที่ของตัวเอง ต่างคนต่างทำ ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกัน แต่คงไม่ได้ทับซ้อนกัน” แหล่งข่าวรายเดิมระบุ

พล.อ.ประวิตรยังคงขะมักเขม้นตรวจพื้นที่ต่างจังหวัดทุกสัปดาห์-ใช้อำนาจเต็มในมือหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ สนธิกำลังมันสมองของพรรคที่มาจากสายบ้านป่ารอยต่อเพื่อผลิตนโยบายประชารัฐ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์เริ่มเดินสายหาเสียง และใช้อำนาจสูงสุดในรัฐบาล-คณะรัฐมนตรี โกยเรตติ้งจากการเป็นเจ้าภาพการจัดงานเอเปค และมอบแพ็กเกจของขวัญปีใหม่ ทั้งโครงการคนละครึ่งเฟส 6 เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 ช้อปช่วยชาติ-ช้อปดีมีคืน

ทั้งก๊วนบ้านป่ารอยต่อในพลังประชารัฐ หัวหน้าพรรค-แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีชิงใส่กันไม่ยั้ง

ล่าสุดบีบีซีไทยรายงานว่า มีแหล่งข่าวจาก พปชร. ผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อ วิเคราะห์ว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ตีจาก พปชร.จริง จะเป็นผลดีกับพรรคมากกว่า พร้อมคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะตามมาอย่างน้อย 7 ข้อ

1.พรรคจะมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น เพราะสมาชิกทุกคนขึ้นตรงกับหัวหน้าพรรค จากเดิมเป็น “องค์กรสองหัว”

2.สมาชิกพรรคบางส่วนอาจลาออกจาก พปชร. แล้วย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ เช่น ภาคใต้ ภาคกลาง และ กทม. แต่ “คนไปมีแค่นิดเดียว คนกลับมาเยอะกว่า”

3. “ผู้กำกับ” ต้องผันตัวมาเป็น “นักแสดง” เสียเอง แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อเสียงคะแนนนิยมของพรรค แม้ในการเลือกตั้งปี 2562 ผู้ลงคะแนนเสียงให้ พปชร.ส่วนหนึ่งเพราะต้องการให้ “ลุงตู่” กลับมาเป็นนายกฯ ไม่ได้เลือกเพราะ “ลุงป้อม” ก็ตาม

“ลุงป้อมเขาอยู่เบื้องหลังไง เป็นคนดูแลผู้สมัครทั้งหมด พล.อ.ประยุทธ์เปรียบเหมือนดารา ส่วน พล.อ. ประวิตรเป็นเหมือนผู้กำกับ เวลาหนังออกมาดี ถามว่าเป็นเพราะดารา หรือผู้กำกับฯละ” นักการเมืองสังกัด พปชร. ซึ่งเลือกแล้วว่าจะอยู่พรรคเดิมต่อไป กล่าว

คนการเมืองรายนี้เชื่อว่า ถ้า “ผู้กำกับ” โดดมาอยู่หน้าฉากในฐานะ “นักแสดง” เสียเอง จะไม่เป็นปัญหา เพราะ “ผู้กำกับส่วนใหญ่ก็มีความสามารถในการแสดง เคยเป็นดาราดังมาก่อนทั้งนั้น ไม่อย่างนั้นจะเป็นผู้กำกับได้ยังไง”

4.พรรคต้องเตรียมวิธีการสื่อสารเกี่ยวกับผลงานของรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” เพื่อนำมาต่อยอดเป็นนโยบายหาเสียงของ พปชร. ไม่ได้เป็นสิ่งที่ติดตามตัวนายกฯ ไป และพรรคอื่นไม่สามารถแย่งเอาไปได้

5.การตัดฐานเสียงกันเองระหว่าง พปชร. รทสช. และพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) ที่มีรากเหง้ามาจาก พปชร. ประเมินว่าไม่ใช่ปัญหา เพราะอีกฝั่งก็ตัดฐานเสียงกันเองเช่นกัน เมื่อมีการเลือกตั้ง ทุกพรรคการเมืองก็ต้องแข่งกันเต็มที่โดยไม่มีพันธมิตร

6.หากแคนดิเดตนายกฯ คือ พล.อ.ประวิตร จะทำให้ พปชร.สามารถร่วมงานการเมืองกับทุกฝ่ายได้

7.เสียงในวุฒิสภาอาจแตกออกเป็นสองส่วน คงไม่มีภาพการโหวตเลือกนายกฯ ด้วยมติเอกฉันท์ของวุฒิสภาแบบในคราวเลือกตั้งปี 2562 เพราะขณะนี้ “ส.ว. ไม่เป็นเอกภาพ” และ “ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งทั้งหมด แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นน่าจะต้องเคลียร์กันแล้ว”