ครม.เคาะกรอบเงินเฟ้อปี’66 เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง

ประยุทธ์ ครม 27 ธ.ค.2565
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ประชุม ครม. ครั้งสุดท้ายปี 2565

ครม.ไฟเขียว แผนการคลังระยะปานกลาง ปี 2567-2570 พร้อมกรอบเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 ร้อยละ 1-3 เท่ากับปีที่ผ่านมา 

วันที่ 27 ธันวาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2566 ไว้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคา สำหรับระยะปานกลางและเป้าหมายสำหรับปี 2566 เช่นเดียวกับปี 2565

เนื่องจากเป็นระดับที่เหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจไทย มีความยืดหยุ่นเพียงพอรองรับความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในอนาคต รวมถึงช่วยเอื้อให้การดำเนินนโยบายการเงินสามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

ประเมินจีดีพีปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 3.8

หนึ่ง สถานะและประมาณการเศรษฐกิจในปี 2567 คาดว่า ผลิตภันฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.3-4.3 (ค่ากลางร้อยละ 3.8)

สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2567 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0-2.0 ชะลอลงจากปี 2566 ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สำหรับในปี 2568-2570 มีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2568 และ 2569 จะขยายตัวร้อยละ 2.9-3.9 (ค่ากลางร้อยละ 3.4) ขณะที่ ในปี 2570 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.8-3.8 (ค่ากลางร้อยละ 3.3)

สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2568 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.2-2.2 และเร่งขึ้นเป็นเฉลี่ยในช่วงร้อยละ 1.3-2.3 และร้อยละ 1.4-2.4 ในปี 2569 และ 2570 ตามลำดับ

หนี้สาธารณะคงค้าง พีกสุดปี 2568

สอง สถานะและประมาณการการคลัง ระบุว่า รายได้รัฐบาลสุทธิ ปีงบประมาณ ปี 2566 จำนวน 2,490,000 ล้านบาท ปี 2567 จำนวน 2,757,000 ล้านบาท ปี 2568 จำนวน 2,867,000 ล้านบาท ปี 2569 จำนวน 2,953,000 ล้านบาท และปี 2570 จำนวน 3,041,000 ล้านบาท

งบประมาณรายจ่าย ปี 2566 จำนวน 3,185,000 ล้านบาท ปี 2567 จำนวน 3,350,000 ล้านบาท ปี 2568 จำนวน 3,457,000 ล้านบาท ปี 2569 จำนวน 3,568,000 ล้านบาท และปี 2570 จำนวน 3,682,000 ล้านบาท

ดุลการคลัง ปี 2566 จำนวน 695,000 ล้านบาท ปี 2567 จำนวน 593,000 ล้านบาท ปี 2568 จำนวน 590,000 ล้านบาท ปี 2569 จำนวน 615,000 บาท และปี 2570 จำนวน 641,000 ล้านบาท

หนี้สาธารณะคงค้าง ปี 2566 จำนวน 11,161,778 ล้านบาท (ร้อยละ 60.64 ต่อจีดีพี) ปี 2567 จำนวน 11,879,863 ล้านบาท (ร้อยละ 61.35 ต่อจีดีพี) ปี 2568 จำนวน 12,573,606 ล้านบาท (ร้อยละ 61.78 ต่อจีดีพี) ปี 2569 จำนวน 13,209,264 ล้านบาท (ร้อยละ 61.69 ต่อจีดีพี) และ ปี 2570 จำนวน 13,796,678 ล้านบาท (ร้อยละ 61.25 ต่อจีดีพี)

รายได้รัฐบาลสุทธิ ปี 2567-2570 มีแนวโน้มไม่สูงเท่าจีดีพี

สาม ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2567-2570 ข้างต้น จัดทำภายใต้สมมุติฐานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงที่ผ่านมาและนโยบายการคลังที่จะมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในระยะปานกลาง โดยการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจะฟื้นตัวตามการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รายได้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ตลอดจนการท่องเที่ยวหลังผ่อนคลายการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ดี รายได้รัฐบาลสุทธิมีแนวโน้มขยายตัวไม่สูงเท่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากสมมุติฐานการบริโภคในระยะปานกลางขยายตัวไม่สูงมากนัก ประกอบกับ ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลงและค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นขี้งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าและอากรขาเข้าขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง

นอกจากนี้ รายได้รัฐบาลอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าที่มีการป รับลดอัตราภาษี
สรรพสามิตและยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนและส่วนประกอบของยานยนต์ไฟฟ้า

กำหนดสัดส่วนงบฯกลาง เงินสำรองจ่ายฯ ไม่เกินร้อยละ 2.0-3.5

สี่ ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567-2570 มีสมมุติฐานที่สำคัญ เช่น กำหนดการจ่ายคืนต้นเงินกู้ให้มีสัดส่วนร้อยละ 2.5-4.0 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อบริหารจัดการหนี้สาธารณะให้เกิดความยั่งยืนทางการคลังและเหมาะสมกับกำลังเงินของประเทศ

กำหนดให้สัดส่วนงบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นอยู่ที่ร้อยละ 2.0-3.5 ของวงเงินงบประมาณ ควบคุมค่าใช้จ่ายบุคลากรให้มีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 4.0 โดยใช้มาตรการในการกำหนดให้หน่วยรับงบประมาณนำเงินรายได้มาสมทบค่าใช้จ่าย เป็นต้น

ขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง 5 ปี

ห้า จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและประมาณการงบประมาณรายจ่ายดังกล่าว จะส่งผลให้รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2567-2570

หก ประมาณการหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2567-2570 มีสมมุติฐานที่สำคัญ เช่น แผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566-2570) ที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ได้มีมติเห็นชอบไว้ในคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 7/2565 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565
มีจำนวน 10,373,938 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60.41 ของ GDP เป็นต้น

เป้าหมายลดขนาดขาดดุลเหลือไม่เกินร้อยละ 3 ตั้งแต่ปี 2567

เป้าหมายและนโยบายการคลังในการดำเนินนโยบายการคสังระยะปานกลาง จะยึดหลัก “Sound Strong Sustained” โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการคลังที่สมเหตุสมผล สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง

รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังในทุกด้านทั้งการฟื้นฟูการจัดเก็บรายได้ การจัดสรรงบประมาณรายจ่าย และการบริหารจัดการหนี้สาธารณะเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สามารถรองรับการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล และคำนึงถึงการรักษาระดับเครื่องขี้ทางการคลังให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการคลัง (Fiscal Discipline) เพื่อมุ่งสู่ภาคการคลังที่ยั่งยืนและมีศักยภาพในการรองรับความเสี่ยงที่ประเทศอาจต้องเผชิญอีกในอนาคต

ดังนั้น เป้าหมายของแผนการคลังระยะปานกลางฉบับนี้จึงมุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลเพื่อมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยจะปรับลดขนาดการขาดดุลให้เหลือไม่เกินร้อยละ 3.0 ต่อ GDP ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 และจะปรับลดขนาดการขาดดุลลงให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง


ในระยะยาวหากภาวะเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม