คลังชงแพ็กเกจภาษี BCG สปีดลงทุน EEC-ยกเลิกมาตรการแจก

ปี 2566 รมว.คลัง ชี้เศรษฐกิจ ฝากความหวังรายได้ “ท่องเที่ยว-ส่งออก” มั่นใจไทยโตสวนกระแสโลก ลั่นถึงเวลาสปีดลงทุนเมกะโปรเจ็กต์-EEC แรงส่งจีดีพี ต้นปีหน้าดันแพ็กเกจภาษีธุรกิจ BCG ลุยส่งเสริมอุตฯไบโอพลาสติกเต็มสูบ

ชงแก้กฎหมาย กอช. เพิ่มแรงจูงใจออมเพื่อเกษียณรับสังคมสูงวัย จ่ายเงินสมทบการออมเอ็กซ์ตร้าเป็นปีละ 3 หมื่น ถอนสมอมาตรการช่วยเหลือแบบ “จ่าย-แจก” นำร่องยกเลิก “คนละครึ่ง” เล็งลดวงเงินช่วยค่าใช้จ่าย “บัตรคนจน” กุมขมับเงินประกันราคาสินค้าเกษตรทะลุ 2.8 แสนล้าน ปี’67 เดินหน้าทำงบฯลดการขาดดุล

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยการท่องเที่ยวจะเป็นพระเอกคู่ไปกับเรื่องการส่งออก โดยเฉพาะการท่องเที่ยว เนื่องมาจากที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายแบบคู่ขนาน คือ การป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 คู่ขนานไปกับการปลดล็อกมาตรการต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการส่งออกปีนี้เติบโตอยู่ที่ประมาณ 7-7.5% แต่ในปีหน้าอาจจะลดลงอยู่ที่ประมาณ 2% จากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่เชื่อว่าประเทศไทยยังคงได้เปรียบเรื่องการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร

ทั้งนี้ ปีหน้ากระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.8% จากปีนี้ที่คาดการณ์ที่ 3.4%

“ปี 2566 มองเศรษฐกิจไทยเติบโตสวนทางกับกระแสของโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจมหาอำนาจอย่างสหรัฐและยุโรปที่อาจจะชะลอตัวลง รวมถึงการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 3.2% และปีหน้าที่ 2.7% ซึ่งจะเห็นว่าแนวโน้มการเติบโตจะชะลอตัวลง แต่ของไทยปีหน้าเศรษฐกิจจะเร่งตัวขึ้นเป็น 3.8% จากอานิสงส์ของการเปิดประเทศและการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวที่ทำมาได้ดีอย่างต่อเนื่อง” นายอาคมกล่าว

ลงทุน EEC แรงส่งขยายตัวเศรษฐกิจ

นายอาคมกล่าวว่า ในปีหน้าจะต้องเร่งรัดเรื่องการลงทุนภาครัฐมากขึ้นเพื่อเป็นแรงส่งในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หลังจากช่วงปี 2563-2564 ที่ผ่านมา การลงทุนชะลอลงไปเพราะผลกระทบโควิดที่มีการปิดไซต์ก่อสร้าง โดยจะต้องเร่งทั้งการลงทุนของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ

และโดยเฉพาะโครงการที่เป็นความหวังของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการขยายสนามบินอู่ตะเภา, โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงท่าเรือมาบตาพุด ซึ่งจะสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน

“โครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่สำคัญ ในปี 2566 ซึ่งจะต้องมีการเพิ่มความเร็วของการพัฒนาขึ้นไป ในเรื่องของการก่อสร้างต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องของการหาแหล่งเงินทุนของภาคเอกชน ก็จะเป็นแรงส่งที่ทำให้มีความมั่นใจได้ว่าอนาคตเศรษฐกิจไทยยังมีอัตราการเติบโต” นายอาคมกล่าว

ชงแพ็กเกจภาษี BCG หนุนไบโอพลาสติก

รมว.คลังกล่าวอีกว่า อีกโครงการที่เป็นเรือธงของรัฐบาลคือ โครงการที่เกี่ยวกับนโยบายในเรื่องโมเดลธุรกิจใหม่ หรือ BCG (Bio-Circular-Green Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว)

เช่น การส่งเสริมไบโอพลาสติกและพลาสติกชีวภาพ มุ่งลดการใช้วัสดุที่ทำจากปิโตรเคมี มาเป็นวัสดุที่ทำจากชีวภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังคุยกับทางภาคเอกชน โดยภาครัฐจะสนับสนุนมาตรการภาษี เพื่อช่วยลดต้นทุนทางด้านการผลิต เพื่อให้มีต้นทุนที่ใกล้เคียงกับต้นทุนจากทางด้านปิโตรเคมี

“แพ็กเกจภาษีที่จะเป็นเครื่องมือจะเป็นเรื่องภาษีสรรพสามิต ซึ่งโครงการที่เป็นสีเขียว ล้วนเป็นเรื่องของที่ให้มาตรการภาษีต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนในการที่จะทำให้การลดต้นทุนได้ เพราะเทคโนโลยีต่าง ๆ มีทั้งสินค้าที่ต้องนำเข้าและเรื่องของกำแพงภาษี ซึ่งต้องดูเพื่อให้ผู้ประกอบการนั้นสามารถที่จะมีความคุ้มทุนในเรื่องของการลงทุน และราคาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ออกมานั้นไม่แพงจนเกินไป

นอกจากนี้ก็จะมีมาตรการทางด้านการเงินอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งมาตรการการเงินนั้นก็จะเน้นไปในเรื่องของการระดมทุนเพื่อพัฒนาในเรื่องของโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” รมว.คลังกล่าว

เพิ่มเงินสมทบการออม 3 หมื่น

สำหรับการดูแลค่าครองชีพกลุ่มฐานรากนั้น รมว.คลังกล่าวว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างผลักดันแก้ไขกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อเพิ่มอัตราเงินสมทบแก่สมาชิกให้มากขึ้น จากเดิมปีละไม่เกิน 13,200 บาท เป็น 30,000 บาท เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือกลุ่มที่อยู่นอกระบบ ว่าคนเหล่านี้จะมีเงินยังชีพเพียงพอหลังเกษียณ โดยการแก้ไขกฎหมายเรื่องนี้เป็นการแก้ไขกฎหมายลูก ไม่ต้องเสนอเข้าสภา ซึ่งน่าจะได้เห็นในไตรมาสแรก 2566

“เดิมอัตราเงินสมทบของเอกชนขั้นต่ำสุดจะอยู่ที่ 50 บาท รวมทั้งปีได้ไม่เกิน 13,200 บาท ซึ่งเมื่อทอนออกมาในระยะยาว และเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป ก็จะได้รับบำนาญรายเดือน แต่บำนาญตรงนี้จะค่อนข้างต่ำมาก แค่หลักพันบาท ไม่เพียงพอในการใช้ชีวิตแน่นอน เพราะฉะนั้นเรื่องที่เราจะเสนอคือ การเพิ่มอัตราเงินสมทบเข้าไป แล้วก็ขยายเพดานเป็น 30,000 บาท” นายอาคมกล่าว

ลด-เลิกมาตรการ แจก-จ่าย

สำหรับการดำเนินนโยบายการคลังปีหน้า รมว.คลังกล่าวว่า หลังโควิดคลี่คลายลงแล้ว บทบาทของนโยบายการคลังก็ต้องลดลง อย่างพวกการเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาต่าง ๆ ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินในปริมาณมาก ๆ มาช่วยเหลือประชาชนอีก อย่างโครงการคนละครึ่งที่ไม่มีการต่อมาตรการแล้ว และเดินหน้านโยบายการคลังที่ยั่งยืน

“ความหมายก็คือว่า โครงการไหนที่จำเป็นก็เข้าไปช่วย โดยใช้เงินงบประมาณปกติ แต่ก็ต้องลดขนาดของการขาดดุลงบประมาณลงมา ซึ่งเรื่องนี้เราเริ่มส่งสัญญาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 ที่ขาดดุลลดลงมาอยู่ที่ 695,000 ล้านบาท จากปี 2565 ที่ขาดดุล 700,000 ล้านบาท ลดลงไป 5,000 ล้านบาท

ขณะที่ปี 2567 ซึ่งไม่เกินสิ้นปีนี้ เราก็จะเสนอจัดทำงบประมาณปี 2567 ก็ต้องขาดดุลลดลงไปมากกว่านี้ เพื่อให้อยู่ในมาตรฐานสากล โดยจะลดลงเรื่อย ๆ เพื่อเข้าสู่การคลังสมดุล” นายอาคมกล่าว

ปรับวงเงินช่วย “บัตรคนจน”

ขณะที่ในเรื่องการลงทุนสวัสดิการแห่งรัฐนั้น รมว.คลังกล่าวว่า จากการลงทะเบียนล่าสุดขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติ ซึ่งมีการตรวจคัดกรองที่เข้มมากขึ้น โดยใช้เป็นเกณฑ์ครอบครัวในการตรวจสอบรายได้ เพราะที่ผ่านมาค่อนข้างมีความเหลื่อมล้ำ

ส่วนมาตรการช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการ ในขณะนี้ยังคงยึดตามแพ็กเกจเดิมอยู่ แต่ในอนาคตอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายผ่านบัตร เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้คนสามารถกลับมาทำงานได้เหมือนปกติ สิ่งที่รัฐบาลเคยช่วยเหมือนในช่วงที่เกิดโควิด ก็คงอาจจะต้องลดน้อยลงไปตามความรุนแรงของเหตุการณ์ด้วย

หนุนสินค้าเกษตร 2.8 แสนล้าน

นอกจากนี้ รมว.คลังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลทำโครงการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร ทั้งข้าว ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง ข้าวโพด ซึ่งค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีแรก ราคาพืชผลตกต่ำ ก็ต้องใช้งบประมาณมากขึ้นเพื่อประกันรายได้ ทำให้จนถึงปีที่แล้วประมาณ 80,000-90,000 ล้านบาท ซึ่งหากรวมตั้งแต่ปีแรกของการเป็นรัฐบาล เฉพาะโครงการประกันรายได้ก็ใช้เงินไปแล้ว 260,000 ล้านบาท แต่ถ้ารวมปี 2565 กับปี 2566 ด้วย ตัวเลขรายการอุดหนุนสูงถึง 280,000 ล้านบาท