วัยเกษียณ “สิงคโปร์” เปลี่ยนไป เงินออมน้อย-ทำงานนานขึ้น

สิงคโปร์

“สิงคโปร์” กำลังเผชิญปัญหาสังคมผู้สูงวัยไม่ต่างจากอีกหลายชาติอย่าง “ญี่ปุ่น” และ “เกาหลีใต้” ขณะที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันกำลังส่งผลกระทบต่อแผนการเกษียณอายุของคนวัยทำงานสิงคโปร์ โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อที่กัดกินเงินออมเลี้ยงชีพ และชาวสิงคโปร์ยังจะต้องทำงานยาวนานมากขึ้นจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน

บลูมเบิร์ก รายงานว่า สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่ได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงสุดในโลกเคียงคู่กับ “นิวยอร์ก” ในปี 2022 โดยสถาบันวิจัยอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะเงินเฟ้อที่ผลักดันให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น

นอกจากนี้การเข้ามาของชาวต่างชาติจำนวนมากโดยเฉพาะชาวฮ่องกง ยังส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์สิงคโปร์เร่งตัวสูงขึ้น โดยอาคารชุดของการเคหะแห่งชาติสิงคโปร์ (HDB) มีราคาขายต่อเฉลี่ยอยู่ที่ราว 545,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อห้อง ใน ต.ค.ที่ผ่านมา สูงกว่าราคาก่อนเกิดโควิดราว 35% ตามข้อมูลของเว็บไซต์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ SRX และ 99.co

ภาระทางเศรษฐกิจเหล่านี้สร้างแรงกดดันต่อการออมสำหรับการเกษียณของคนวัยทำงานสิงคโปร์ และปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้ชาวสิงคโปร์เลี่ยงการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ข้อมูลของรัฐบาลพบว่าครัวเรือนสิงคโปร์ถือครองหุ้นเพียง 8.4% ของสินทรัพย์ทั้งหมด โดยเน้นไปที่การฝากเงินกับธนาคารถึง 19.8% โดยเป็นการออมในอสังหาฯที่พักอาศัยสัดส่วน 43.9% และอยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพราว 18.8%

“ลี ซง ยง” นักวางแผนทางการเงินจากบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน โปรเฟสชันแนล อินเวสต์เมนต์ แอดไวเซอรี เซอร์วิส ระบุว่า “ชาวสิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะเลือกการออมด้วยการฝากเงินกับธนาคารที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่นั่นอาจไม่เพียงพอที่จะรองรับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ”

แม้ว่าสิงคโปร์จะมีระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ราว 18.8% ของสินทรัพย์ครัวเรือน ซึ่งมีเม็ดเงินอยู่ราว 540,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในขณะนี้ โดยจ่ายเป็นเงินบำนาญ สำหรับพลเมืองที่มีอายุ 65 ปีขึ้น ตั้งแต่ 350-2,300 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน

แต่การจ่ายเงินบำนาญของกองทุนดังกล่าวอาจลดลงในอนาคต “ลี ซง ยง” คาดว่า การจ่ายเงินบำนาญสูงสุดอาจไม่ถึง 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน ในช่วง 10 ปีข้างหน้า ด้วยภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้ปริมาณเงินเข้าสู่กองทุนลดลง ขณะที่จำนวนคนวัยทำงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังมีน้อยลง สวนทางกับจำนวนผู้รับบำนาญที่เพิ่มสูงขึ้น

รัฐบาลสิงคโปร์คาดการณ์ว่า จะมีประชากรมากถึง 1 ใน 4 ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ภายในปี 2030 ขณะที่อายุขัยเฉลี่ยของพลเมืองก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 83.5 ปี กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายฝ่ายพยายามรับมือ โดยเมื่อเดือน ก.ค. 2022 ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจสิงคโปร์ได้ขยายอายุการจ้างงาเพิ่มเป็น 68 ปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 70 ปี ภายในปี 2030

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้คนวัยทำงานของสิงคโปร์จำเป็นต้องทำงานยาวนานขึ้นก่อนที่จะเกษียณอายุ แม้ว่าเดอะสเตรตส์ไทมส์จะรายงานว่า ธนาคารโอซีบีซีจัดทำ “ดัชนีสุขภาพทางการเงิน” พบว่าชาวสิงคโปร์อายุ 20-30 ปี มีความต้องการเกษียณอายุภายใน 57-58 ปี แต่ 62% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า มีความกังวลเกี่ยวกับเงินออมที่เพียงพอต่อการเกษียณ

การออมและการประหยัดค่าใช้จ่ายยังอาจไม่เพียงพอต่อการรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ “แจ็กเกอลีน ถัน” หัวหน้ากลุ่มบริการทางการเงินส่วนบุคคลของธนาคารยูโอบี ระบุว่า “ในภาพรวมแล้วจำเป็นต้องมีการทบทวนรูปแบบการใช้ชีวิตและกระแสเงินสดที่ต้องการหลังเกษียณ เพราะแค่การออมของกองทุนซีพีเอฟอาจไม่เพียงพอ”