เดิมพันซักฟอกรัฐบาลครั้งสุดท้าย ฝ่ายค้านขยี้แผลทุจริตตัดแต้มประยุทธ์

อภิปราย พล.อ.ประยุทธ์

เปิดศักราชการเมือง 2566 พรรคฝ่ายค้านคาดหวังกับการปล่อยหมัดเด็ดใส่รัฐบาล ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนทุกฝ่ายจะเข้าสู่สนามเลือกตั้ง

เตรียมเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติเป็นครั้งที่ 4 ใช้ชื่อยุทธการว่า “ถอดหน้ากากคนดี”

ฝ่ายค้านมั่นใจว่าการซักฟอกไม่ลงมติครั้งนี้จะทำให้โหวตเตอร์ตัดสินใจได้ถูกว่าจะเลือกข้างไหนในการเลือกตั้ง แม้ว่าการซักฟอกตลอด 3 ครั้งที่ผ่านมาดูเหมือนไม่ระคายผิวฝ่ายรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์เท่าใดนัก

ครั้งแรก ญัตติอภิปรายทั่วไปไม่ลงมติ วันที่ 18 สิงหาคม 2562 เป็นการอภิปรายพุ่งตรงไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ ปมถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ

ครั้งที่สอง ญัตติอภิปรายทั่วไปไม่ลงมติ วันที่ 9 กันยายน 2563 ฝ่ายค้านจัดหนักไปยังการบริหารเศรษฐกิจล้มเหลว และพุ่งเป้าไปที่การโจมตีนายกฯ หลังต้องเผชิญหน้ากับม็อบกลุ่มราษฎร

ครั้งที่สาม ญัตติอภิปรายทั่วไปไม่ลงมติ วันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2565 ถือเป็นการอภิปรายซักฟอกรัฐบาลย่อม ๆ เมื่อเข็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กับอีก 4 รัฐมนตรีขึ้นเขียง คือนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์

ดังนั้น ครั้งที่ 4 อันเป็นการอภิปรายทั่วไปไม่ลงมติ ก่อนการเลือกตั้งใหม่ ตั้งใจใช้เกมนี้เป็นการอภิปรายดิสเครดิต-ทำลายคู่แข่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนเลือกตั้ง

ฝ่ายค้านเตรียมฉายหนังซ้ำความผิดพลาดตลอด 4 ปี “สุทิน คลังแสง” ส.ส.มหาสารคาม เพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า เราเตรียมตัวมานาน แบ่งกันทำการบ้าน กรอบเนื้อหาชัดเจน แบ่งกันจบแล้ว สร้างหนัง สร้างสตอรี่กันจบ ก็แบ่งบทกันไปเล่น ตอนนี้ทุกคนไปซ้อมบท ใครที่รับหัวข้อไปแล้วก็ไปหารายละเอียดและหาข้อมูลเพิ่มเติมให้ดีที่สุด

“ฝ่ายค้านจะอภิปรายภาพรวม จะได้รู้ว่าคุณล้มเหลวจริง ๆ ใน 4 ปีที่สูญเสียโอกาสชัดเจน ซึ่งเมื่ออภิปรายขยายความแล้ว ภาพออกมาประชาชนจะเสียดาย 4 ปีที่ผ่านมา ก็เหมือนกับที่ใส่หน้ากากมา 4 ปี เราจะถอดให้เห็นว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไร”

แกะญัตติอภิปรายทั่วไปไม่ลงมติมีด้วยกัน 5 ปม ที่จะนำมาซักฟอกรัฐบาลส่งท้าย

ปมแรก รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา เช่น การแก้ปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชนระดับฐานรากยังมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่ามาตรฐาน รวยกระจุก จนกระจาย คนไร้ที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น กลุ่มมารดาตั้งครรภ์เด็กแรกเกิดยังไม่ได้รับสวัสดิการ

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็ไม่มีการปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงไว้ ขาดความจริงใจ ปล่อยให้พรรคการเมืองดำเนินการกันไปและแก้ปัญหาอุปสรรคกันเอาเอง

ปมที่สอง ความล้มเหลวเศรษฐกิจ : มีการใช้จ่ายงบประมาณและการก่อหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล แต่กลับไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ทำให้การบริหารงานด้านเศรษฐกิจล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ปมที่สาม ปัญหาทุจริตและการใช้เงินเพื่อการเมือง : เพื่อสร้างคะแนนนิยมให้กับรัฐบาล และเพื่อความมั่นคงและความอยู่รอดของตนเอง ทำให้การปฏิรูปการเมืองล้มเหลว จนทำให้ระบบการเมืองกลายเป็นธนกิจการเมือง (Money Politics)

มีการใช้เงินเพื่อให้ได้มา หรือรักษาไว้ซึ่งอำนาจทางการเมือง ไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้อง ชอบธรรม เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวาง ทั้งจากโครงการขนาดใหญ่จนถึงระดับท้องถิ่น จนดัชนีชี้วัดด้านทุจริตสูงสุดเป็นประวัติการณ์

มีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนและพวกพ้องตนเอง ให้เกิดการผูกขาดและการแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการของรัฐและทรัพยากรธรรมชาติ

ปมที่สี่ ปัญหายาเสพติด : ปล่อยให้มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดไปตามชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ไทยกลายเป็นแหล่งพักยาเสพติดของผู้ค้าก่อนส่งไปยังต่างประเทศ

ขณะที่บ่อนการพนันก็เกิดขึ้นทั่วไป ภายใต้การรู้เห็นของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่มีการป้องกันและปราบปรามอย่างจริงจัง และปล่อยปละละเลยให้องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติใช้ไทยเป็นแหล่งหากิน-ฟอกเงิน โยงไปถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่รัฐบาลล้มเหลวในการป้องกัน จนสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ

ปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมาก แต่กลับไม่สามารถทำให้ปัญหาเบาบางลงได้

ปมที่ห้า สินค้าเกษตรตกต่ำ-ความเดือดร้อนเกษตรกร : ปล่อยให้กลุ่มทุนต่างชาติเอารัดเอาเปรียบและสร้างอำนาจต่อรองเหนือเกษตรกร ปล่อยให้เกิดน้ำท่วมขังในปริมาณสูงในหลายพื้นที่ ทั้งที่รัฐมีเครื่องมือที่สามารถคำนวณปริมาณน้ำฝนได้ล่วงหน้า จนกระทบและสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนอย่างมาก

ฝ่ายค้านเขย่าขวัญปลายรัฐบาลประยุทธ์ ระทึกใจก่อนเลือกตั้ง