ผ่าแผน ส่งประวิตร ชิงนายกฯ พลังประชารัฐ บุกโซเชียล ชี้ขาดเลือกตั้ง

พลังประชารัฐ
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

พรรคพลังประชารัฐ กำลังหาทางพา “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค ขึ้นสู่ยอดเสาแห่งชัยชนะเลือกตั้ง แม้อาจจะไม่ได้คะแนนสูงสุด เป็นพรรคที่ได้ ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่งก็ตาม

แต่ด้วยสโลแกน “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” อาจเป็น “กุญแจ” สำคัญให้ พล.อ.ประวิตร เป็นจุดศูนย์กลางต่างขั้ว ดึงคู่ขัดแย้งมาผนึกเป็นพรรครัฐบาลหลังเลือกตั้ง

นอกจากนี้ยังมีอาวุธลับ คว้าใจชาวรากหญ้า-ภูธร ประกาศเพิ่มเงินในบัตรประชารัฐเป็นเดือนละ 700 บาท เพื่อเติมพลังให้พี่น้องประชาชนได้ใช้ดำรงชีวิต

คู่ขนานกับแคมเปญสร้างโครงสร้างพื้นฐานชุมชนให้เข้มแข็ง-ปรับโครงสร้างพลังงานให้เป็นธรรม

และ 3.ปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิชุมชน ซึ่งจะเป็นการ “เพิ่มพลังให้ประชาชน เพื่อสร้างพลังแก่รัฐ”

ทีมงานกลยุทธ์ ของพรรคพลังประชารัฐ เตรียมขาย “ลุงป้อม” พ่วงแคมเปญข้างต้นไปทั่วประเทศ ขณะนี้มีการสั่งให้ผู้สมัคร ส.ส.ทุกคน ระดมติดป้ายหาเสียง กว่า 700 ป้าย ที่มีรูป พล.อ.ประวิตร ตามถนนเส้นหลักในแต่ละจังหวัด แต่จะต้องไม่เกินเงื่อนไขจำนวนป้ายหาเสียงที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

กำชับให้ผู้สมัครทำงาน “เชิงรุก” เคาะทุกประตูบ้าน ใช้ความขยันด้วยการหาเสียงออนกราวนด์ ตั้ง “เครือข่าย” ส่วนตัว เชื่อมทั้งหัวหน้าหมู่บ้าน หัวหน้าวินมอเตอร์ไซค์ นอกจากบุคคลที่เป็น “หัวคะแนน”

ระดับเอ คุมอำเภอ ระดับบี คุมตำบล และระดับซี คุมหมู่บ้าน เพื่อทำการโฟกัสกรุ๊ปเป้าหมายโหวตเตอร์ให้ตรงจุดว่า บ้านหลังไหนมีโหวตเตอร์กี่คน ว่าที่ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐต้องรู้ทะลุปรุโปร่ง ช่วยทำให้ทั้ง “งานลับ-งานสว่าง” ง่ายขึ้น

แก้ข้อบังคับเร่งเปิดตัวบิ๊กป้อม

ขณะที่ การประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 มีการแก้ข้อบังคับพรรคสำคัญ คือ เพิ่มความวรรคสามของข้อ 90 คือการให้เสนอบุคคลที่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก่อนมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งได้

“เพื่อประโยชน์ในการคัดเลือกบุคคลเสนอให้ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง จะดำเนินการคัดเลือกไว้เป็นการล่วงหน้าก่อนวันประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป โดยการประกาศเชิญชวนและการเสนอชื่อบุคคลที่เห็นสมควรจะเสนอให้ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อคณะกรรมการบริหารพรรค ให้ดำเนินการในที่ประชุมใหญ่ของพรรคก็ได้” ข้อความดังกล่าวระบุ

ซึ่งทำให้ พรรคพลังประชารัฐ สามารถนำชื่อ “พล.อ.ประวิตร” ไปขายความเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้ทั่วราชอาณาจักร แม้ยังไม่มีการ “ยุบสภา” ก็ตาม

“ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซามูไรกฎหมายประจำตัว “พล.อ.ประวิตร” ในอดีตเขาเป็นคนแรกที่ประกาศเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกฯต่อ หลังพ้นยุค คสช. แต่มาวันนี้เขาหันมาเชียร์ลุงป้อม

ทำไมเปลี่ยนจากเชียร์ลุงตู่ มาเป็นลุงป้อม ไพบูลย์ตอบว่า “ตามบริบทการเมืองที่เปลี่ยนไป เราก็บอกตอนนั้นเป็นก่อนหน้านั้น แต่ตอนนี้ต้องเป็น พล.อ.ประวิตร เราพูดอะไร เราก็แม่นนะ บอกไว้ก่อน”

ไพบูลย์ โชว์ความมั่นใจว่า พรรคพลังประชารัฐจะเป็นแกนนำรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯ ส่วนการจับมือกับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หลังเลือกตั้งได้หรือไม่นั้น ได้อยู่แล้ว อันนั้นเป็นอันดับแรก ๆ ของเขา

ส่วนจับมือกับพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ ต้องรอผลเลือกตั้งออกมา

“เราออกรูปแบบไปแล้ว ถ้าพรรคนี้ได้เท่านี้ พรรคนี้ได้อย่างนี้แบบนี้ ผลจะออกมาเป็นอย่างไร พรรคพลังประชารัฐก็ยังเป็นรัฐบาลอยู่ พล.อ.ประวิตรก็มีโอกาสเป็นนายกฯ สูงสุด มีทุก solution”

“จำนวน ส.ส.ต้องได้มากพอสมควรอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ว่าจำนวน ส.ส.ของพรรคจะเป็นตัวกำหนดการเป็นนายกฯ มันต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจาก ส.ส. และ ส.ว.เกินกว่า 375 เสียง และในนั้นมี ส.ส.มากกว่า 250 เสียง ต้องเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่พรรคแล้ว เป็นบุคคล”

ถามว่า พล.อ.ประวิตร เหมาะสมที่จะเป็นนายกฯ มากกว่า แคนดิเดตนายกฯคนอื่น ๆ อย่างไร “ไพบูลย์” กล่าวว่า เหมาะสำหรับบริบทปี 2566 ก้าวข้ามความขัดแย้ง ขจัดทุกปัญหา พัฒนาทุกพื้นที่ และอยู่ได้ 4 ปี

ทีมโซเชียลประวิตร

วลีเด็ด-วรรคทอง ตลอดจนการตีปี๊บผลงานและภารกิจลับ ปาดหน้า-ปาดหลัง ของ พล.อ.ประวิตร เต็มหน้าสื่อ-ฟีดโซเชียลมีเดีย

ช่องทางสื่อสารอย่างเป็นทางการ เว็บไซต์ www.pprp.or.th เพจเฟซบุ๊ก “พรรคพลังประชารัฐ” ทวิตเตอร์ PPRPofficial ช่องทาง LINE Official @pprpparty

ช่องทางสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการ-สร้างภาพลักษณ์ ผ่านเพจ “พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ” เพจ “งานที่ลุงป้อมทำ” และเพจ “เรารักลุงป้อม We love Lung Pom”

จดหมายเปิดใจของ พล.อ.ประวิตร ถึงประชาชน ได้รับ “ฟีดแบ็ก” ถล่มทลาย จนทีมงานโซเชียลมีเดียต้องออก “จดหมายฉบับที่สอง” ขอบคุณกระแสตอบรับ

เบื้องหลังยอดสืบค้น “จดหมายเปิดใจ” ของ พล.อ.ประวิตร ทางกูเกิล 8 แสนครั้ง และทะลุ 1.5 ล้านครั้งในวันที่สอง คือ “ทีมโซเชียล” ของพรรคพลังประชารัฐรับหน้าที่ส่งกระจายไปทุกช่องทาง

ทีมหลักของ “เลขาฯสันติ” นายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ คอยเสิร์ฟข่าวให้กับผู้บริหารพรรค-ส.ส. และ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค กระจายทุกแพลตฟอร์มทางการ ทั้งเว็บไซต์-เพจเฟซบุ๊ก-แอปพลิเคชั่นไลน์-ทวิตเตอร์

แท็กทีมกับ ทีมนายพล-รองนายกรัฐมนตรี ที่มี พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม และ พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกรองนายกรัฐมนตรี คอยส่งภารกิจลงพื้นที่ต่างจังหวัด-ผลประชุมบอร์ดประเทศของ พล.อ.ประวิตร

ทีมสนับสนุน-ทีมบิ๊กแป๊ะ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. ที่มาช่วยจัดแจงอีเวนต์ในพื้นที่ภาคอีสานเหนือ อย่างเมื่อครั้งการขึ้นเวทีปราศรัยของ พล.อ.ประวิตร ที่จังหวัดหนองคาย

ทีมเสี่ยโอ๋ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์-เพื่อนสนิท พรรคฝ่ายค้านเคยเปิดศึกซักฟอก “เจ้ากระทรวงดีอีเอส” เอื้อบริษัท และทีมเสี่ยจั้ม สกลธี ภัททิยกุล ที่ขนทีมออร์แกไนซ์มาเป็น “ทีมเสริม” เริ่มงานแรกในการเปิดตัว (เอง) และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.

ทีมพลเรือน-พี.อาร์.ส่วนตัว ติดตาม พล.อ.ประวิตร ลงพื้นที่วาระ “ว.5” ภารกิจส่วนตัว เช่น การลงพื้นที่ราชบุรี-บ้านใหญ่ และเยาวราช ปาดหน้า พล.อ.ประยุทธ์

ทีมจดหมายเหตุ-ร่างโครงจดหมายเปิดใจ พล.อ.ประวิตร ผ่านเพจหลัก “พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ” มี “สัญญา สถิรบุตร” ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค และ “อันวาร์ สาและ” สายตรงบ้านป่ารอยต่อคนใหม่ เป็นผู้ถ่ายทอดตัวตน-ชีวิตอีกด้านของ พล.อ.ประวิตร ที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน

ขณะที่ “ทีมโฆษก” พรรคพลังประชารัฐ ที่ยัง active อยู่ คือ “อรรถกร ศิริลัทธยากร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ-ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ฉะเชิงเทรา และ “เกณิกา อุ่นจิตร์” อดีตรองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย-ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตบางบอน-หนองแขม

ส่วน “ฟิล์ม-รัฐภูมิ” รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ อดีตดารา-นักแสดงชื่อดัง ที่นายชัยวุฒิดึงมาร่วม “ทีมโฆษก” รับบทเป็น “วอลเปเปอร์” ให้กับ พล.อ.ประวิตร ในช่วงลงพื้นที่

ในยุคสงครามข้อมูลข่าวสาร-สมรภูมิโซเชียลมีเดีย ทีม พี.อาร์.ในอากาศ จึงเป็นอาวุธลับของบิ๊กป้อม สานฝัน เก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30