อภิสิทธิ์ : ชี้จุดหักเกมให้ ประยุทธ์ ไปต่อ โอกาสเกิดวิกฤตในบ้านเมืองมีสูง

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
คอลัมน์ : Politics policy people forum
ผู้เขียน : ปิยะ สารสุวรรณ / อิศรินทร์ หนูเมือง

แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คาสภาผู้แทนราษฎร อยู่ตั้งแต่ปี 2562

หลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ไม่ถึง 24 ชั่วโมง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รับผิดชอบที่นำทัพ ส.ส.กลับเข้าสภาได้ “ต่ำกว่าร้อยที่นั่ง”

1 ชั่วโมง ก่อนที่ ส.ส.เกือบครึ่งของสภา และวุฒิสมาชิกทั้ง 250 เสียง จะลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศลาออกจาก ส.ส.

ส.ส.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ทิ้งตำแหน่งที่เขาเคยเป็นมากว่า 27 ปี ด้วยเหตุผลและอุดมการณ์ ที่ว่า “จะให้ผมเดินเข้าไปแล้วออกเสียงว่าผมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมก็ทำไม่ได้ เพราะยิ่งใหญ่กว่ามติพรรคเสียอีก คือสัญญาประชาคมที่ผมให้ไว้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ”  

อภิสิทธิ์ บอกว่า ถ้าย้อนเวลากลับไป เขาก็จะตัดสินใจ ตามอุดมการณ์ ต้องเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยน

อีกไม่เกิน 15 วัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด จะสิ้นสมาชิกภาพ และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะหมดวาระลง

“ประชาชาติธุรกิจ” เปิดบทสนทนาการเมือง ให้ “อภิสิทธิ์” คาดการณ์ทำนายผล การเลือกตั้ง 2566 นับตั้งแต่บรรทัดนี้ เป็นต้นไป

หลังการเลือกตั้ง 66 การเมืองจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหรือไม่

เรายังมีปัญหาของมาตรา 272 ตกค้างอยู่ แม้ว่าการเลือกตั้งจะทำให้ ส.ว. 250 คน ไม่มีทางเลือกมากนักก็เป็นได้ แต่การที่มีกติกาตัวนี้อยู่ ต้องถือว่ายังเป็นรอยด่างที่ชัดเจนของระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะถ้ามีความพยายามเอา 250 ส.ว. มาเป็นส่วนหนึ่งในการต่อรองในการจัดตั้งรัฐบาลก็ถือว่าการเลือกตั้งยังไม่กลับคืนสู่ตามมาตรฐานของประเทศที่เป็นเสรีประชาธิปไตย

เราไปพูดไปสุดโต่งทางใดทางหนึ่งไม่ได้ เพราะว่าคนที่เขียนรัฐธรรมนูญก็เขียนแปลก คือ ในขณะที่ให้อำนาจ ส.ว. 250 คนเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ ส.ว. 250 ก็ไม่สามารถค้ำรัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาได้ ถ้าหากว่า สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากไม่เอาด้วยกับรัฐบาล

ถ้าเปรียบเทียบก็ต้องย้อนกลับไปเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 21 ในช่วงแรกตอนนั้น ส.ว.เข้ามามีมาบทบาทได้เต็มที่ เพราะการลงมติสำคัญ ๆ ก็กลายเป็นการประชุมร่วม แต่ครั้งนี้ไม่หนักเท่าครั้งนั้น แต่ยังส่งผลให้ ถ้าหากผลการเลือกตั้ง เช่น คราวที่แล้ว ซึ่งออกมาแล้วไม่ชัดเจนนัก ว่าใครจะรวบรวมเสียงข้างมากได้ ส.ว.ก็จะมีบทบาทในการเพิ่มอำนาจต่อรอง

การเลือกตั้ง 66 ขั้วจัดตั้งรัฐบาลจะเปลี่ยนไปอย่างไร

เบื้องต้นต้องบอกว่า อยู่ที่ประชาชน ถ้าเลือกมาชัดเจน มีกลุ่มพรรคการเมือง หรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งสามารถที่จะกุมเสียงเกิน 250 เสียงได้ในสภาผู้แทนราษฎร น่าจะทำให้ ส.ว.มีความยากลำบากมากในการที่จะไปฝืนเจตนารมณ์ของประชาชน

ถ้าหากฝืน พูดง่าย ๆ คือ ไปหาทางตั้งนายกรัฐมนตรีที่เสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯไม่สนับสนุน รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ ทำได้อย่างมากคือยื้อไม่ให้เกิดการตั้งรัฐบาลตามเสียงข้างมากของประชาชน ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะเกิดวิกฤตในบ้านเมือง

ฝั่งรัฐบาลปัจจุบันมีโจทย์ที่ยากอยู่แล้ว ถ้ามองย้อนกลับไป 4 ปีที่แล้ว ฝ่ายรัฐบาลเองที่ได้ 250 เสียงเข้ามาเพราะมีสูตรคำนวณ ส.ส.ที่ทำให้มีพรรคเล็กพรรคน้อยเข้าไปในสภาเยอะมาก ซึ่งคนที่คำนวณสูตรอย่างที่เขาเข้าใจว่าควรจะเป็น คือ คะแนนเสียงของรัฐบาลปัจจุบันมีไม่ถึง 250

นอกจากนั้นยังมีประเด็นการแยกทางกันของ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ถ้าดูการเลือกตั้งซ่อม การเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเจนว่า ซีกของฝ่ายค้านได้รับคะแนนนิยมสูงขึ้น ข้อเท็จจริงพื้นฐานเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า โจทย์ของฝ่ายรัฐบาลค่อนข้างยาก

ถ้าฝ่ายค้านจะพลิกขึ้นมาเป็นรัฐบาล

กรณีถอดสมการเรื่องวุฒิสภา (ส.ว. 250 คน) ซึ่งจะหมดอำนาจในอีก 1 ปีข้างหน้า ถ้าหากใครรวบรวมเสียงข้างมากได้ไปตั้งรัฐบาล ในเชิงรูปแบบมันก็จะเข้ารูปเข้ารอยของความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น แต่ต้องย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ปัญหาของประชาธิปไตยไทยไม่ได้อยู่แค่ลำพังเพียงตัวเลขและรูปแบบ

มันอยู่ที่เนื้อหาสาระและวิธีการบริหารของผู้ที่มีอำนาจด้วย การเคารพสิทธิของประชาชนเสียงข้างน้อย การให้โอกาสวิพากษ์วิจารณ์บนความเสมอภาค จะเป็นตัวชี้ว่าประชาธิปไตยเราได้กลับคืนสู่สภาพที่เราคิดว่าควรจะเป็น หรืออยากจะเห็นหรือยัง

บังเอิญมีอีกสมมุติฐานหนึ่งว่า ขณะนี้แต่ละขั้วยังจับกันแน่นเหมือนเดิม แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจไปอยู่อีกพรรคหนึ่ง (จากพรรคพลังประชารัฐไปพรรครวมไทยสร้างชาติ) ทำให้เกิดคำถามว่า มีการเปลี่ยนแปลงไหม ในมุมของ พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะไม่เปลี่ยน เพราะถือว่าอยากจะเป็นหัวหน้าของซีกรัฐบาล หรือคนนอกอาจจะเรียกว่า ฝ่ายอนุรักษนิยม แต่ในมุมของ พล.อ.ประวิตร ไม่ใช่

เราเห็นค่อนข้างชัดว่า ระยะหลังพรรคพลังประชารัฐ หรือ พล.อ.ประวิตร ก็ดี เริ่มที่จะวางตำแหน่งตัวเองว่าจะเป็นผู้ก้าวข้ามความขัดแย้ง หมายความว่า พร้อมที่จะจับขั้วใหม่ขึ้นมา ขณะเดียวกันซีกของฝ่ายค้านเอง ก็เห็นได้ชัดเช่นกันว่า เริ่มมีช่องว่างมากขึ้น ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล คนเริ่มคาดการณ์ว่า สงสัยพรรคเพื่อไทยเลือกที่จะตั้งรัฐบาลกับพรรคอื่น ๆ ก่อนที่จะเป็นพรรคก้าวไกลด้วยซ้ำ

แต่ละขั้วเริ่มเปิดทางที่จะจับมือกับบางพรรคในอีกขั้วหนึ่งได้ มีความเป็นไปได้สูงด้วย หลังเลือกตั้งจะได้เห็นการจับขั้วที่แตกต่างไป แต่ถามว่ามีอะไรใหม่ไหม ผมไม่แน่ใจว่าจะเป็นอะไรใหม่หรือไม่ การจับข้ามขั้ว ถ้าจะใช้คำนั้น ผมไม่คิดว่า เป็นการสลายความคิด ความเชื่อพื้นฐานดั้งเดิมของแต่ละพรรค แต่เป็นเรื่องของความจำเป็น หรือความสะดวกในทางการเมืองมากกว่า

มีการเล็งมาที่พรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่เฉพาะมี ส.ส.จำนวนเท่าไหร่ แต่มีความเชื่อว่า พลังประชารัฐมี ส.ว.ด้วย ในทางกลับกัน การที่พรรคพลังประชารัฐเปิดทางหรือเปิดตัวเองออกมาว่าจะก้าวข้ามความขัดแย้ง เพราะอาจจะเล็งเห็นว่า โอกาสที่ขั้วเดิมจะมีเสียงข้างมากน้อย

ดังนั้นถ้าเปิดทางให้ตัวเองจับข้ามขั้วได้ก็จะยังสามารถรักษาสถานะภาพของความเป็นรัฐบาลได้ รวมไปถึงคนอดสงสัยไม่ได้ว่า วาระของพรรคเพื่อไทยซึ่งจะมีคนของพรรคเพื่อไทยพูดถึงการกลับบ้าน มันเกี่ยวข้องหรือเปล่ากับการที่จะต้องแสดงตัวว่าอาจจะต้องประนีประนอมอะไรบางอย่าง

เห็นรอยปริแยกในฝ่ายรัฐบาลหรือไม่

ขณะนี้ไม่ว่าจะฝั่งไหนมีลักษณะนี้อยู่แล้ว เหตุผลคือ การเมืองไทยถูกแบ่งขั้วอย่างรุนแรง นับวันคนก็ยิ่งมองว่าพื้นที่ตรงกลางมีน้อยมาก ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ความพยายามของผมในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้นพยายามจะบอกว่า มันมีพื้นที่ตรงกลาง แต่สุดท้ายก็ได้คำตอบชัดจากประชาชน

ถ้าเราติดตามบรรยากาศ เราจะเห็นว่าการต่อสู้ในขั้วเดียวกันรุนแรงกว่าการต่อสู้ข้ามขั้ว เพราะพรรคการเมืองและนักการเมืองเริ่มมีความเชื่อว่า โอกาสที่จะดึงคะแนนจากคนที่เคยสนับสนุนอีกขั้วหนึ่งมันน้อย โอกาสที่จะดึงคะแนนเสียงจากขั้วเดียวกันมีมากกว่าเยอะ

เพราะฉะนั้น การดึง ส.ส.ก็ดึงกันเอง การดึงคะแนนเสียงก็ดึงกันเอง การโจมตี การดิสเครดิตก็ทำกันเองมากขึ้น ๆ การเปลี่ยนแปลงระหว่างขั้วที่เกิดขึ้นเป็นแค่ซีกรัฐบาลได้รับความนิยมน้อยลง แต่ในการช่วงชิงฐานคะแนนเสียงกลายเป็นว่า พวกเดียวกันเองจะต่อสู้เข้มข้นกันมากกว่า

ภาคใต้เห็นได้ชัด เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งซีกรัฐบาลมีความนิยมเหนือฝ่ายค้านอยู่ เราก็จะเห็นพรรคในซีกของรัฐบาลมุ่งไปแย่งชิงคะแนนในภาคใต้ จะทำให้คะแนนแตกกันเอง แต่ในหลายพื้นที่ ถ้าไม่แตกชนิดที่เรียกว่า ไปเกลี่ยจนทุกคนลดลงกันหมดก็ไม่ง่ายสำหรับอีกขั้วหนึ่งในการแซงขึ้นมา

กลับกันในภาคเหนือ ภาคอีสาน บางพื้นที่ก้าวไกลกับเพื่อไทยสูสีกันมาก แต่ไม่ได้แปลว่าพรรคในซีกรัฐบาลจะมีคะแนนแซงขึ้นมาได้

ถ้าพูดเป็นตัวเลข สมมุติว่าในพื้นที่ไหนนิยมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 80% แต่ต่อให้เขาแตกเป็น 40/40% ที่เหลืออีก 20% ก็แซงขึ้นมาไม่ได้

มีบางกรณีเท่านั้น เช่น กทม.อาจจะเป็นพื้นที่เดียวที่ยังก้ำกึ่ง เช่น ซีกหนึ่งมี 60% ซีกหนึ่ง 40% ถ้าใน 60% แตกเป็น 30/30% แต่ 40% กองอยู่ที่เดียวกัน อย่างนั้นยังพอเป็นไปได้

ประเมินเสียง ส.ส.ใน กทม. รัฐบาลกับฝ่ายค้านอัตราเป็นอย่างไร

ฝ่ายค้านน่าจะมีมากกว่าฝ่ายรัฐบาล ประมาณ 2 ต่อ 1

ถึงอย่างไร อภิสิทธิ์ ก็จะไม่ร่วมงานกับ พล.อ.ประยุทธ์

ผมให้เหตุผลไปนานแล้วเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อปี 2562 แล้วผมคิดว่าสิ่งที่ผมพูดตอนนั้นก็น่าจะตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้น 4 ปีที่ผ่านมา ที่เราเห็นว่าคุณประยุทธ์ เป็นศูนย์กลางของความขัดแย้ง

ถามว่าผู้ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ในปัจจุบัน เหตุผลหลักเหลือเหตุผลเดียว คือ เห็นว่าขั้วตรงข้ามอันตรายกับประเทศ แล้วก็ดู พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะต่อกรกับขั้วนั้นได้

แต่ว่าผม ตั้งแต่ปี 2562 มา ผมมีความเชื่อว่า ลำพังแค่การจะไปบอกว่าการเมืองจะปฏิเสธขั้วใดขั้วหนึ่งไม่เพียงพอ ต้องมีข้อเสนอที่มันชัดเจนด้วยว่าของคุณดีกว่าอย่างไร

สิ่งที่อันตรายก็คือว่า พอไปยึดถือเพียงอย่างเดียวว่า อีกขั้วอันตราย หลายครั้งนับวันสิ่งที่คุณ (รัฐบาลประยุทธ์) ทำเอง ก็ไม่ได้ต่างจากสิ่งที่คุณต่อต้าน แต่บังเอิญเป็นพวกเดียวกัน หรือพวกเดียวกันเองทำ ก็พร้อมที่จะมองข้ามไป จึงเป็นคำตอบอยู่ในตัวว่า ทำไมจุดยืนผมถึงเป็นอย่างนั้น

ต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ ใช้การเลือกตั้งกี่ครั้งถึงจะสางสิ่งที่เรียกว่าระบบ 3 ป. ออกจากการเมืองไทย

ผมไม่ได้คิดว่า 3 ป. จะมีความยั่งยืนอยู่แล้ว วันนี้พอแยกทางกันก็ถือว่า ไม่ได้มั่นคงเหมือนเดิมอีกแล้ว และ 3 ป.มากับเรื่องของสถานการณ์ มากับเรื่องของการปฏิเสธบางสิ่งบางอย่าง ไม่ใช่สิ่งที่เป็นความยั่งยืนอะไร ยังไงก็ต้องไป ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

แต่สิ่งที่ผมกังวลมากกว่าก็คือว่า อะไรจะเข้ามาแทนที่ แล้วมันจะเป็นสิ่งที่พาประเทศเดินไปข้างหน้าหรือเปล่า หรือการเลือกตั้งครั้งนี้เราอาจจะทำได้แค่เปลี่ยนนายกรัฐมนตรี แต่ว่ามีการประนีประนอม ซึ่งอาจจะขายว่าก้าวข้ามความขัดแย้ง แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นเพียงแค่เรื่องของการลงตัวของผลประโยชน์

บรรทัดสุดท้ายก็ต้องตอบอยู่ดีว่า แล้วรัฐบาลใหม่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เรียนรู้จากปัญหาของรัฐบาลในอดีตหรือเปล่า จะเรื่องคอร์รัปชั่น เรื่องเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องครอบครัว ซึ่งถ้ายังไปไม่พ้นตรงนี้ ผมคิดว่าเรื่อง 3 ป. ไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับว่า แล้วเมื่อไหร่การเมืองไทยมันถึงจะเดินไปข้างหน้า หลุดพ้นจากวงจรเดิม ๆ สักที

พล.อ.ประวิตร-พล.อ.ประยุทธ์ ใครได้เปรียบ

เป็นปัญหาสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะทางของท่านแคบลง แต่ไม่เป็นปัญหาสำหรับ พล.อ.ประวิตร เพราะมีถนนสองสายแล้ว และจะไม่เป็นปัญหากับภูมิใจไทย หรือประชาธิปัตย์ ถ้าเขาได้เสียงมากพอที่จะมีอำนาจต่อรองอยู่ คำว่าถนนสองสายของ พล.อ.ประวิตร คือตอนนี้ พล.อ.ประวิตรกับพรรคพลังประชารัฐค่อนข้างชัด พยายามเน้นคำว่าก้าวข้ามความขัดแย้ง ก็คือการจะบอกว่า ตัวเองไม่ได้อยู่ขั้วไหน ไม่ได้ติดอยู่กับขั้วไหน ไม่ได้ปฏิเสธขั้วไหนเลย

ถ้า 250 ส.ว.จะเป็นตัวหักเกมในการจัดตั้งรัฐบาล ภายใต้การรวมกันของพรรค 2 ป.ที่มีเสียงน้อยลง ภาพที่เราจะได้เห็นคืออะไร

คือ ถ้าใช้คำว่าหัก ก็หมายความว่าเลือกนายกรัฐมนตรีที่ไม่สามารถคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ แล้วหวังว่าจะไปทำให้เสียงพอทีหลัง ผมว่าเป็นความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดแรงต่อต้านในสังคมสูงมาก และไม่มีทางที่จะเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งและยั่งยืนได้

ประเมินโอกาสที่ภูมิใจไทยจะได้เสียงสูงสุดในขั้วรัฐบาลเดิม

ถ้าเชื่อโพลต่าง ๆ ขณะนี้ พรรคภูมิใจไทยก็น่าจะเป็นพรรครัฐบาลที่ได้คะแนนสูงสุดในขั้วรัฐบาลเดิม

แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ต้องทำอย่างไร

ก็คงต้องให้คุณอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยอม แต่ก็จะเกิดคำถามว่า ทำไมคุณอนุทินถึงยอม

โอกาสในการจัดรัฐบาลข้ามขั้วอยู่ที่ พล.อ.ประวิตร มากกว่า พล.อ.ประยุทธ์

พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีสิทธิข้ามขั้วอยู่แล้ว มีแต่ต้องไปดึงคนอีกพวกมาด้วยวิธีการพิเศษ ถ้ามีก็ยุ่ง

ประเมินเส้นทางที่จะนำไปสู่วิกฤตการเมืองหลังเลือกตั้ง 66

จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ด้วยเหตุที่ว่า ส.ว.ดื้อแพ่ง เกิดเหตุจาก ส.ว.หักเอาเสียงข้างมากของประชาชน หรือถ้าสมมุติพลิกขั้วได้ แต่ว่าวาระกลับไปสู่เรื่องกลับบ้านก็เกิดวิกฤตได้อีก อยู่ที่การหาทางที่จะหลบเลี่ยงไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น

มองอนาคตทางการเมือง เห็นภาพตัวเองเป็นอย่างไร

ผมไม่ได้มองและไม่ได้หมกมุ่นว่าตัวเองจะเป็นอะไร ผมสนใจ ติดตาม อยากทำงานการเมือง เพราะผมทำมาตลอดและชอบ อยากที่จะทำและยังมีอีกหลายอย่างที่อยากจะทำ

แต่หลักการทำงานของผม คือ ผมจะทำงานการเมืองได้ ผมเป็นนักการเมืองที่เข้ามาอยู่ในระบบ ผมตั้งพรรค ผมอยู่ในพรรค และพรรคก็ต้องไปขอคะแนนเสียงจากประชาชน ก็ต้องรวบรวมเสียงข้างมากในสภาถึงจะมีโอกาสทำงานได้

ผมเป็นคนที่บอกมาตลอดตั้งแต่วันแรกที่เข้าสู่การเมืองว่า ผมมาทำงานการเมือง ผมอยากจะยึดถือยึดมั่นในแนวคิด อุดมการณ์ ค่านิยมหลายอย่าง ประชาธิปไตย ความซื่อสัตย์

เพราะฉะนั้นอนาคต ผมตอบไม่ได้ ตราบใดที่สภาวะแวดล้อมทางการเมืองไม่เอื้ออำนวยให้ผมทำงานทางการเมืองแบบนี้ ก็คงไม่มีประโยชน์ที่ผมจะดิ้นรน กระเสือกกระสนเข้าไป เพียงเพื่อบอกว่าจะเข้าไปเป็นนักการเมือง

แต่ว่า วันนี้อาจจะไม่ใช่ พรุ่งนี้อาจจะไม่ใช่ มะรืนอาจจะใช่ก็ได้ ผมไม่ทราบ ผมเลยไม่เคยตอบว่ามันจะเป็นยังไง คำว่าโอกาส ไม่ใช่อะไรก็ได้ เราต้องคิดว่า เข้าไปแล้วทำประโยชน์ได้ ถ้าทำประโยชน์ไม่ได้ก็ไม่ต้องเข้าไป เพราะบทบาทอื่นในทางสังคม ที่เราทำประโยชน์ได้ก็มี