อภิสิทธิ์ อ่านสูตรชิงรัฐบาลใหม่ 2 ป.สลับขั้ว ภูมิใจไทยขวางเพื่อไทยแลนด์สไลด์

อภิสิทธิ์ อ่านสูตรชิงรัฐบาลใหม่ 2 ป.สลับขั้ว ภูมิใจไทยขวางเพื่อไทยแลนด์สไลด์
สัมภาษณ์พิเศษ โดย ปิยะ สารสุวรรณ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี อินไซด์การเมืองทุกวง-ทุกพรรค

ทุกวัน ทุกชั่วโมง เขามีนัดกับนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ-การเมืองไทย-ต่างประเทศ

ทุกสัปดาห์ เขามีวาระขึ้นเวทีอภิปราย-ปาฐกถา เรื่องภูมิรัฐศาสตร์

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนาพิเศษกับเขา ในวันนับถอยหลังเลือกตั้งไม่ถึง 180 วัน

บรรทัดต่อไปนี้ คือคำวินิจฉัย-อ่านใจ 3 ป. กับอนาคตการเมืองไทย มองทะลุสถานภาพเพื่อไทยและซีอีโอแคนดิเดตคนใหม่ล่าสุด ในฤดูการเลือกตั้ง ที่กำลังจะมาถึง

รัฐธรรมนูญแบบนี้ จะเกิดอะไรขึ้นกับสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานี้

อย่างน้อยที่สุดได้ความชัดเจน เรื่องกติกาการเลือกตั้งบัตรสองใบ หารด้วย 100 สิ่งที่ตามมา คือ หนึ่ง มีความพยายามรวมพรรคกันมากขึ้น เพราะถ้าไม่รวม โอกาสน้อยที่จะได้ผู้แทนฯ เป็นกอบเป็นกำ และสอง เป็นตัวช่วยให้พรรคเพื่อไทยดึงและจัดผู้สมัคร ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อด้วย พรรคอื่นไม่มีผลอะไร

โจทย์ใหญ่อยู่ที่การแยกตัวของพรรคพลังประชารัฐ กับการเกิดขึ้นของพรรครวมไทยสร้างชาติ นักวิเคราะห์การเมืองไม่ค่อยเข้าใจถึงเหตุผลทำไมถึงใช้วิธีแตกพรรค ในเมื่อกติกาเปลี่ยนมาเป็นแบบนี้ การแบ่งพรรคทำให้ยิ่งยากขึ้นในการรวมเสียงฝ่ายของเดียวกัน ถ้ายังนับว่าเป็นพี่น้องกันอยู่ หรือ ได้คะแนนน้อยกว่าเดิม

“พอแตกเป็นสองพรรค ถ้าไม่ทำให้พรรคใดพรรคหนึ่งใหญ่เท่าเดิม ใหญ่เท่าพลังประชารัฐ แม้ไม่มีการสลับขั้ว คำถามที่เกิดขึ้นตามมา ถ้าพรรคเล็กกว่า (จำนวน ส.ส.ที่ได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า) พรรคภูมิใจไทย ความชอบธรรมจะอยู่ตรงไหน”

ยิ่งเป็นการไปตอกย้ำว่า หวังพึ่ง ส.ว. 250 เสียงมาเป็นอำนาจต่อรอง ถ้าประสบความสำเร็จ การเมืองย่ำอยู่กับที่ เหมือน 4 ปีที่ผ่านมา และอาจแย่กว่าเดิม ถ้าพรรคซีกฝ่ายค้านได้ที่นั่งเพิ่ม

เลวร้ายที่สุด ถ้าจำนวนฝ่ายค้านเกิน 250 แล้วคุณ (ขั้วอำนาจเก่า) พยายามที่จะเอา ส.ว.มาหักเกม ตั้งรัฐบาลไปก่อน แล้วแจกกล้วยทีหลัง อันนั้นจะเป็นตัวทำให้ความเป็นประชาธิปไตยของการเมืองไทยมันตกต่ำอย่างถึงที่สุดและจะมีแรงต่อต้านตลอด

ทำให้เกิดความสังสัยว่า การแยกกันเดินโดยกติกาที่ไม่เอื้อ และคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรม ถ้าเป็นอย่างนั้น การเมืองมันอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่มาก ๆ แย่กว่าวันนี้เข้าไปอีก

ส่วนแนวความคิดที่ต้องอยู่ในอำนาจต่อไป ผมยังสันนิษฐานว่า ยังเป็นความเชื่อของพล.อ.ประยุทธ์ ว่า ท่านเป็นคนดี ท่านเป็นคนรักชาติ ท่านเป็นคนที่จะทำให้ทุกอย่างมั่นคง แล้วผู้สนับสนุนก็ยังอยู่ด้วยเหตุผลนี้เป็นหลัก ไม่ได้มีเรื่องปัญหาเศรษฐกิจที่ทุกคนพูดกันเวลานี้

แต่โจทย์สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า ปัญหาของประเทศ น่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ

เป็นโดยสภาพบังคับ เพราะในเมื่อยังมี 250 ส.ว. การหาเสียงของทางซีกฝ่ายค้าน คือ ต้องเลือกแคมเปญแลนด์สไลด์ ต้องเลือกปิดสวิตซ์ ทางซีกฝ่ายค้านก็ต้องโยงอยู่แล้ว ว่า การไม่มีประชาธิปไตยเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปากท้องได้รับผลกระทบ แต่ทางฝ่ายรัฐบาล โยงได้อย่างเดียว คือ ทางนี้มากับความมั่นคง ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้

ผมเคยเสนอว่าทำไมไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 (ยกเลิกอำนาจ ส.ว.250 คน เลือกนายกรัฐมนตรี) ทำไมไม่ทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ ปลดเรื่องนี้ออกไป และให้พรรคการเมืองมาทุ่มความสนใจและแข่งขันเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ

อีกด้านหนึ่ง ไม่ได้ปิดบังในการพูดถึงเรื่องการเลือกมาเพื่อกลับบ้าน ก็จะเป็นประเด็นให้ฝ่ายที่ไม่ต้องการให้กลับบ้านเอาไปหาเสียงเหมือนกัน ซึ่งสามารถสร้างอารมณ์และความรู้สึกร่วมได้

ขณะที่เรื่องเศรษฐกิจ วันนี้ถ้าแข่งขันกันจะเป็นการแข่งขันกันในลักษณะโครงการประชานิยมมากกว่า เพราะยังไม่ได้ยินการพูดถึงเรื่องภาพใหญ่ของทิศทางเศรษฐกิจเท่าใดนัก ถ้าจะพูดด้วยความเป็นธรรมดูจะมีคุณเศรษฐา (ทวีสิน ซีอีโอ แสนสิริ) คนเดียวที่พูดอะไรในทำนองนี้

ผมสันนิษฐานว่าพรรคเพื่อไทยก็คงจะชูคุณเศรษฐา ในมุมมองของการเป็นนักบริหาร ผมก็ไม่แน่ใจว่า เรานับได้ไหมว่า พูดในนามพรรคเพื่อไทย เมื่อคุณเศรษฐาเป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือมีสถานะที่ชัดเจนในพรรคเพื่อไทยแล้ว การพูดยังเป็นเรื่องเดิมหรือเปล่า

มีปัจจัยอะไรที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้

เป็นทางเลือกของพล.อ.ประยุทธ์เองมากกว่า วิธีการทำงานการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ตลอดมา คือ พยายามวางตัวเองให้อยู่เหนือการเมืองให้ได้มากที่สุด เทียบให้เห็น พล.อ.ประยุทธ์กับรวมไทยสร้างชาติ เหมือนกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์กับพรรคสร้างอนาคตไทย ไม่ได้เล่นบทของการเป็นผู้บริหารพรรคการเมือง เมื่อพล.อ.ประยุทธ์เล่นแบบนี้ แต่ท่านย้ายพรรค มันก็พูดยากว่าคุณอยู่เหนือการเมืองจริง

วันนี้ทุกคนถามว่า ในเมื่อพลังประชารัฐทำขึ้นมา สร้างขึ้นมา เสนอพล.อ.ประยุทธ์ขึ้นมาเป็นนายกฯ แล้ววันหนึ่งท่านไปอยู่กับอีกพรรคหนึ่ง จะให้ภาพความรู้สึกว่าอยู่เหนือ หรือมีความเป็นกลางทางการเมืองอย่างไร คงมองแบบนั้นยาก

ท่านเป็นนักการเมืองเต็มตัวเป็นอยู่แล้ว แต่พยายามแสดงตัวว่าไม่เป็น

ยุบสภาคลายล็อกย้ายพรรคได้ 2 รอบ ความเป็นไปได้ที่จะยุบสภา คือ ธันวาคม 2565 หรือกุมภาพันธ์ 2566

ผมไม่เชื่อว่าการยุบสภา โดยคิดว่าจะชิงความได้เปรียบหรือไปเลือกตั้ง วันนี้การยุบสภาเป็นเทคนิคทางกฎหมายล้วน ๆ เหตุผลที่หนึ่ง เรื่องการย้ายพรรค ขึ้นอยู่กับว่าใครย้ายเข้าย้ายออก มีโอกาสย้ายกลับหรือไม่

ถ้ารัฐบาลอยู่ครบวาระ ทุกอย่างล็อกตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2566 แต่ถ้ายุบสภาหลังกุมภาพันธ์ 2566 เมื่อไหร่ก็ไม่ล็อกแล้ว คนที่คิดว่าถูกล็อกแล้วก็ย้ายพรรคได้อีก อันนี้จะเป็นเทคนิค เป็นอำนาจที่อยู่ในมือพล.อ.ประยุทธ์ในแง่ที่ได้เปรียบคนอื่นในเรื่องนี้

เหตุผลที่สอง พูดกันเยอะ เรื่องกฎเหล็ก 180 วันของกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการตีความว่า เกิดใครทำผิดอะไรไว้ ถ้าเกิดยุบสภาก็เหมือนกับว่า ไม่ใช้บังคับอีก ซึ่งในเจตนารมณ์ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้ง

ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ถืออำนาจนั้นไว้ก็เป็นความได้เปรียบ ท่านก็จะประเมินได้ว่า หลังกุมภาฯ ไปแล้ว ถ้าท่านอยู่ครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 นักการเมืองก็ถูกล็อกอยู่อย่างนี้ แต่ถ้ามีแนวโน้มว่า สามารถดึงคนมาได้ก็ใช้วิธียุบสภา

ถ้ายุบสภาก่อนมีนาคม 2566 เล็กน้อยและอย่าลืมด้วยว่า ถ้ายุบใกล้ครบวาระจริง ๆ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่เป็นรัฐบาลรักษาการได้นานกว่าอีก จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

สมมุติฐาน ที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ และ 3 ป.เป็นศูนย์กลางความขัดแย้งทางการเมืองยังเป็นอยู่หรือไม่

ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นที่เปลี่ยนแปลงไปจากตรงนั้น คือ เหมือน พล.อ.ประวิตร กำลังดึงตัวเองออกจากตรงนั้น แต่พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องรับแรงเสียดทานมากขึ้น ซึ่งฟังดูอย่างนี้คนอาจจะบอกว่า เอ๊ะ ทำให้ท่านมีปัญหามากขึ้นไหม ก็ไม่แน่ เพราะถ้าอารมณ์ของผู้เลือกตั้งคล้าย ๆ กับเมื่อช่วงปี 2562 ก็อาจจะเป็นแรงขับให้คะแนนดีขึ้นมาก็ได้

เพราะผมคาดการณ์ว่า ฐานเดิมของประชาธิปัตย์ที่ไปเลือกพลังประชารัฐครั้งที่แล้ว ก็มีโอกาสที่จะตามไปอยู่กับรวมไทยสร้างชาติ ถ้าพล.อ.ประยุทธ์เข้าไปเป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือ เข้าไปเป็นสมาชิก มากที่สุดไม่ได้อยู่พลังประชารัฐ

จึงเป็นความท้าทายว่า แล้วพล.อ.ประวิตร จะเหลือกำลังจากไหน คำตอบก็ต้องเป็น หนึ่ง กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สอง คือ บรรดานักการเมืองที่ไปอยู่พลังประชารัฐที่ไม่ได้มาจากซีกประชาธิปัตย์ เช่น กลุ่มสามมิตร เป็นความท้าทายของ พล.อ.ประวิตร ว่าจะรักษาเอาไว้ได้ไหม หรืออาจจะเป็นการรักษาไว้เพื่อเตรียมสลับขั้ว จับมือกับเพื่อไทย

จะมีวันที่ พล.อ.ประวิตร ต้องอยู่ตรงข้ามกับ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่

ผมพูดจากมุมมองของฝ่าย พล.อ.ประวิตร ก็จะถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะมาเป็นคนละฝ่ายกับ พล.อ.ประวิตรเหรอ คือ เมื่อมันเกิดขึ้นก็แปลว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ประสบความสำเร็จในการได้รับชัยชนะให้มาเป็นนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค เป็นเพียงแค่แคนดิเดตนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ คุณก็จบไป แต่ พล.อ.ประวิต รเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง พล.อ.ประวิตร ก็ต้องอยู่ในการเมืองต่อ

คำถามจึงไม่ใช่ว่า แล้ว พล.อ.ประวิตร จะไปอยู่ตรงข้ามกับ พล.อ.ประยุทธ์ คำถามคือ พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ตรงข้ามกับ พล.อ.ประวิตรไหม เพราะว่า พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าตามที่คาดการณ์กันอยู่ ก็จะไม่ได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง ในขณะที่ พล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เพราะฉะนั้นคำถามมันต้องกลับไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ มากกว่า

สมการการเมืองสมัยหน้าจะมี 2 ขั้วเหมือนเดิม คือ ขั้วของเพื่อไทยกับขั้วของ 3 ป. เพียงแต่คนอาจจะมองว่า คุณอนุทิน พล.อ.ประวิตร อาจจะมีโอกาสสลับขั้วได้ ถ้าตัวเลขออกมาเอื้อให้สลับขั้ว แต่ตัวเลขไม่จำเป็นต้องมีทั้ง 3 พรรค (พลังประชารัฐ เพื่อไทย ภูมิใจไทย) ก็ได้ คุณอนุทิน กับเพื่อไทยก็อาจจะมีแรงเสียดทานอยู่ เพราะมีการปะทะกันในพื้นที่ภาคอีสาน หรืออาจจะโดยความขัดแย้งเดิมอยู่

คิดว่าคนไทยกล้าที่จะให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่

ผมว่าขณะนี้เขายังมีผู้สนับสนุนไม่มากพอที่จะทำอย่างนั้น แต่ผมเชื่อว่าพรรคก้าวไกลมีความมั่นใจว่า เขามีแต่จะเติบโต ช้าหรือเร็วเท่านั้น เขาจะสะดุดจากกติกาใหม่ แม้ผู้สนับสนุนจะเพิ่มขึ้นก็อาจจะได้ที่นั่งในสภาน้อยลง น้อยลงเยอะด้วย

คาดการณ์ขั้วการเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง จะมีสภาพเป็นอย่างไรบ้าง

ถ้าผลการเลือกตั้งออกมา ไม่มีแลนด์สไลด์ ซีกรัฐบาลเดิมก็พยายามจัดตั้งรัฐบาลก่อน โดยอาศัย 250 ส.ว.มาใช้เป็นอำนาจต่อรอง แต่อย่าลืมว่า เงื่อนไขใหม่ คือ หลังเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ได้อีก 1 ปีกับอีก 3 เดือน เป็นทั้งจุดอ่อนและจุดที่ถูกนำมาใช้ในการต่อรอง แต่ในช่วงของการจัดตั้งรัฐบาลในการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะทำให้เกิดความหวังว่าจะมีคนมาเป็นทายาท หรือคนรับไม้ต่อ

ขณะที่พรรคเพื่อไทยคงได้จำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้นพอสมควร เป็นพรรคใหญ่สุด แต่ลำพังตัวเองที่จะได้เกินกึ่งหนึ่ง (250 เสียง) ยาก ประเด็นที่จับตาตอนนี้ คือ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเพื่อไทยกับก้าวไกลดูถดถอยไปเร็วมากในรอบไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพราะการที่พรรคก้าวไกลตัดสินใจชูเรื่องการกแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นตัวนำ ยิ่งทำให้เกิดจุดต่างระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกลมากขึ้น เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เป็นเหตุผลในการแยกทางกัน ไม่เปิดเผยก็โดยนัยยะ

เป็นการเปิดทางว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการสลายขั้ว หรือจับมือข้ามขั้วขึ้น เช่นเดียวกับการที่พล.อ.ประยุทธ์แยกตัวออกไป เราเห็นค่อนข้างชัดว่า คนที่เคยต่อต้านพลังประชารัฐ เริ่มเปลี่ยนเสียงไปเป็นต่อต้านเพียงพล.อ.ประยุทธ์ แต่พลังประชารัฐอาจจะทำงานด้วยกันได้

โอกาสที่พรรคภูมิใจไทยจะได้เป็นอันดับ 1 ในฝ่ายขั้วรัฐบาลเก่าสูง ถ้าเพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์ ตลาดมันซ้อนกัน หมายถึงพื้นที่มันซ้อนกันอยู่ แต่ภูมิใจไทยต้องถอย ถ้าพล.อ.ประยุทธ์จะไปต่อในทางการเมืองในที่สุดก็จะกลับมาเรื่อง ส.ว. 250 อีก

ปัญหาและโจทย์ที่ท้าทายจริง ๆ ของรัฐบาลใหม่ คืออะไรบ้าง

ตอนนี้สิ่งที่ผมห่วง ไม่ใช่รัฐบาลใหม่ แต่ห่วงประเทศ เพราะว่าที่เราพูดมาทั้งหมดสะท้อนว่า เหมือนกับสุญญากาศในเชิงนโยบายเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว เราแทบมองไม่เห็นความคิดริเริ่ม ทิศทางใหม่ ๆ ในช่วงที่ผ่านมา เพราะเหมือนกับมีความรู้สึกว่าจะครบวาระแล้ว

ในขณะที่ทุกคนจะพูดว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของประชาชน คือ เศรษฐกิจ เดือดร้อนเรื่องปากท้อง เราก็เห็นว่าการโต้ตอบ แข่งขันในขณะนี้ส่วนใหญ่ก็ยังไปในลักษณะมีการเมืองแฝงอยู่ หรือเป็นโครงการแล้วก็แย่สุด คือ โครงการประชานิยมแบบชัด ๆ ขณะที่ปัญหาของประเทศและปัญหาของเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้างลึกลงไปเรื่อย ๆ โดนตอกย้ำโดยสถานการณ์โลก ถ้าทั่วโลกชะลอตัวลง และตอนนี้อาการก็เริ่มเห็นแล้ว คือ การส่งออก

หนึ่ง การปรับโครงสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเราแทบไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม หรือเป็นยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ยกเว้นเรื่องเดียวที่รัฐบาลจะพูดบ่อยมากคือ โครงสร้างพื้นฐาน แต่ในแง่ของเกษตรเราแข่งขันได้ดีขึ้นหรือยัง อุตสาหกรรมใหม่ ๆ เราอยู่ตรงไหน การท่องเที่ยวหลังโควิดเราอยากจะฟื้นกลับมาเหมือนเดิม หรืออยากจะเปลี่ยนทิศทาง

สอง เราเจอกับปัญหาสังคมสูงวัย ตามมาด้วยภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ การขาดหลักประกันความมั่นคง ต้องมีสวัสดิการ การขาดแคลนแรงงาน ปัญหาแรงงานต่างด้าว

สาม เราเจอปัญหาโลกร้อน กระทบกับขีดความสามารถในการผลิตทางการเกษตร เป็นเงื่อนไขในการกีดกันสินค้าของเรามากขึ้น

สี่ การกระจุกตัวอำนาจทางเศรษฐกิจกับการผูกขาดเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ตอกย้ำกับความเหลื่อมล้ำ กำลังของรัฐเริ่มหมดไป เพราะหนี้สาธารณะถูกขยายเพดานไปแล้วรอบหนึ่ง และปีล่าสุดเราเก็บภาษีได้ร้อยละ 13 ของจีดีพี เป็นสัดส่วนต่ำมาก

แต่ละพรรคเสนอทางออกให้กับสภาพแบบนี้อย่างไร ยังไม่นับเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่ขัดแย้งกันและจะมีปัญหามากขึ้นในเรื่องห่วงโซ่อุปทานจะถูกบังคับให้เลือกข้างหรือไม่ นโยบายตอนนี้มุ่งแข่งกันว่า บำนาญ หนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ปุ๋ยคนละครึ่ง

ประเด็น คือ หนี้ครัวเรือนกับหนี้สาธารณะกลายเป็นแรงกดทับการฟื้นตัว บวกกับมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ในด้านเกษตร พลังงาน ต้องมีแผนว่าจะไปได้นานเท่าไหร่ หรือต้องปรับรูปแบบ แต่เราไม่ได้ยินจากรัฐบาลและพรรคการเมืองเท่าที่ควร

รัฐบาลหน้าควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรในการแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจแบบนี้

ผมห่วง คือ พอโจทย์ที่เราคุยกันเรื่องการเลือกตั้ง ถ้าสมมุติว่าฝ่ายหนึ่งบอกว่า ได้รับเลือกเข้ามาเพราะว่า มารักษาความมั่นคง ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า ได้รับเลือกเข้ามาเพราะพาคนกลับบ้าน มันก็ไม่มีอะไรที่จะช่วยสร้างฉันทามติของสังคม หรือ การยอมรับว่าทิศทางของการปรับโครงสร้างหลายอย่างจะเดินไปอย่างไร เพราะว่าการปรับโครงสร้างหลายอย่าง มันต้องมีแรงเสียดทาน

เราเก็บรายได้อยู่ 13 % ตกลงเราจะผ่าตัดให้เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นอย่างไร รัฐบาลริเริ่มให้มีการเก็บภาษีหรือไม่ เก็บภาษีหุ้นปีแรกเพิ่มรายได้เพียง 8 พันล้านบาทในปีแรก ผมก็ตั้งข้อสังเกตว่า การเริ่มเก็บภาษีเต็มอัตราปี 2567 ก็เหมือนกับเปิดทางให้อาจจะไม่ทำ

ถ้าเราขจัดเงื่อนไขเรื่องมาตรา 272 เรื่องรัฐธรรมนูญออกไป มันจะช่วยให้การเมืองมาถกเถียง แข่งขันกันในเรื่องพวกนี้กันมากขึ้นไหม ถ้าเราได้รัฐบาลซึ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาโดยมีการสื่อสารกับประชาชนตั้งแต่ตอนเลือกตั้งว่ากำลังจะต้องขับเคลื่อนไปในทางนี้ ถ้าเราได้รัฐบาลที่มาด้วยเสียงแบบนี้ โอกาสผลักดันอะไรต่าง ๆ ก็มีมากขึ้น

ผมเทียบให้เห็น 4 ปีที่ผ่านมา เราได้พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำรัฐบาล คุณกลับไปดูนโยบายของพรรคพลังประชารัฐเมื่อตอนหาเสียงทำกี่เรื่อง ค่าแรงทำไหม ตอบแทนปริญญาตรีทำไหม มารดาประชารัฐทำไหม ยางเท่านั้น ปาล์มเท่านี้ทำไหม ไม่ได้ทำเลยเพราะอะไร เพราะพรรคพลังประชารัฐรู้ว่าตัวเองไม่ได้รับเลือกตั้งมาเพราะนโยบายเหล่านั้น ได้รับเลือกตั้งมาเพราะความสงบจบที่ลุงตู่

คุณไปถามคนที่เลือกพลังประชารัฐซึ่งวันนี้อาจจะไปเลือกรวมไทยสร้างชาติ ว่า ติดใจไหมที่ไม่ได้ทำนโยบาย ไม่ได้ติดใจ ก็เหมือนกัน ถ้าการเลือกตั้งครั้งหน้ายังแข่งขันกัน หรือ ปะทะกันด้วยเรื่องเหล่านี้ นโยบายที่เสนอก็จะเป็นเรื่อง ๆ ไป ว่ากันไป

พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถฉกฉวยโอกาสแบบนี้ไว้ได้

ทุกพรรคเมื่อไปเป็นรัฐบาลก็ตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัด ถ้าคุณอยากจะเสนออะไร คุณเป็นรัฐบาล ผู้เลือกตั้งก็ต้องถามคุณว่า แล้ว 4 ปีที่ผ่านมาคุณทำหรือไม่ ทำไมคุณเพิ่งมาคิด

ฝ่ายค้านก็จะง่ายกว่า แต่จนถึงวันนี้เราก็จะเห็นว่า เขาก็ยังหนักไปในเรื่องของประเด็นการเมืองมากกว่า เพียงแต่เขาอาศัยประโยชน์ตรงที่ว่า ประชาชนเดือนร้อนทางเศรษฐกิจก็ทำให้เรื่องเศรษฐกิจแย่กับความไม่เป็นประชาธิปไตยเป็นเรื่องเดียวกัน แต่พอเขาง่ายแบบนี้ ก็เลยทำให้เค้าไม่จำเป็นต้องเสนออะไรที่มันเป็นเรื่องยาก ๆ ออกมา และถึงเวลามันก็เลยไม่มีหลักประกันว่า เขาจะสามารถไปทำเรื่องพวกนี้ได้

วันนี้อารมณ์ของคนที่ไม่พอใจรัฐบาล ไม่พอใจนายกฯ ซึ่งถ้าดูจากโพลก็น่าจะมีประมาณ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ เหมือนกับแค่ต้องการเปลี่ยน โดยยังไม่รู้ว่าเปลี่ยนไปสู่อะไร เขาไปถึงจุดนั้นแล้ว อย่างไรก็ดี ยังมีเวลาอีกครึ่งปี เราต้องหวังว่า มันต้องมีพลังของการเปลี่ยนแปลงบ้าง

วางบทบาทของตัวเองอย่างไร จะกลับมาประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่

ผมก็พยายามเสนอในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วว่า เราจะมาเลือกกันแบบเรื่องเกลียด เรื่องกลัว เรื่องเบื่อได้ไหม แต่ว่า เราไม่ได้รับการตอบสนอง เราก็ต้องถอยออกมา ผมเป็นสมาชิกพรรค ผมก็ต้องดูทิศทางพรรค

หนึ่ง ผมต้องตัดสินใจก่อนว่า ผมควรจะกลับเข้าไปตรงนั้นไหม สอง อยู่ที่พรรคว่าเขาจะให้ผมไหม เพราะเขาก็บังคับผมไม่ได้ ผมก็ไปยัดเยียดตัวเองไม่ได้ ก็ต้องว่าไปตามระบบ ปัจจัยอะไรที่จะกลับหรือไม่กลับ คิดว่าทำประโยชน์ได้ไหม ภายใต้สภาวะแวดล้อมทางการเมืองแบบนี้ หรือแนวทางของพรรคแบบนี้ และผมยังไม่คิดเรื่องไปพรรคอื่น

ถ้ากลับไปไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งเหมือนเดิม ทุกอย่างต้องว่าไปตามระบบของพรรค