ประชาธิปัตย์ไม่แก้ รธน.หมวดสถาบัน พปชร.กั๊ก ส.ว.โหวตนายกฯ

ประชาธิปัตย์ พปชร.
ศูนย์ภาพเครือมติชน

2 พรรคตอบคำถามเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปชป.ไม่เห็นด้วยการแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ จุดยืนพลังประชารัฐ หมวด ส.ว.ไม่มีความหมายถ้า ส.ส. 250 เลือกนายกรัฐมนตรีได้

วันที่ 13 มีนาคม 2566 ที่โรงแรมพูลแมน รางน้ำ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ เปิดเวทีแรกมติชน : เลือกตั้ง 66 บทใหม่ประเทศไทย # ประชันนโยบาย ภายใต้หัวข้อ “ย้ำจุดยืน ชูจุดแข็ง ประกาศจุดขาย”

โดยคีย์แมนจาก 8 พรรคการเมืองเข้าร่วม ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านนโยบายและเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมือง พรรคพลังประชารัฐ และนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า

ส.ว.ไม่มีความหมายถ้า ส.ส.สามารถรวมกันได้ 250 เสียง

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านเวลาบังคับใช้จะเห็นจุดอ่อนและจุดแข็งของรัฐธรรมนูญ เรื่องใดในรัฐธรรมนูญใดก็ตามไม่สามารถขับเคลื่อนตามเจตนารมณ์ของผู้ร่าง หรือมีข้อถกเถียง สามารถแก้ไขได้

“หัวใจสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ คือ ประโยชน์ของพี่น้องประชาชน พลังประชารัฐมีจุดยืนที่ชัดเจนว่า เราไม่ใช่พรรคสืบทอดอำนาจ พรรคพลังประชารัฐเข้าสู่ดำเนินการเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่การเลือกตั้ง 62 และการเลือกตั้ง 66 ภายใต้กติกาทุกและกฎเกณฑ์เดียวกันทุกอย่าง”

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า จดหมายน้อยของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แสดงให้เห็นว่า เราเคารพการที่ประเทศจะต้องเปลี่ยนผ่านและเคารพและเชื่อมั่นประชาธิปไตยที่แท้จะนำไปสู่รัฐบาลที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งของพรรคการเมืองและคนในประเทศ

“ประเด็นใดก็ตามที่มีปัญหาก็สามารถหยิบยกขึ้นมา  ส.ว.เลือกนายกฯ หลายคนกังวลใจ แต่ ส.ว.จะไม่มีบทบาทเลย หากสภาล่าง หรือสภาผู้แทนราษฎรสามารถรวมเสียงได้มากกว่า 250 เสียง ผมไม่ได้บอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเรื่อง ส.ว.สามารถเลือกนายกฯได้ แต่นั่นคือกลไกที่เกิดขึ้นแล้ว และหากเรื่องนี้เป็นอุปสรรคก็สามารถพูดคุยหารือกัน”

“ซึ่งบทบาท ส.ว.เปลี่ยนไปมากแล้ว ส.ว.บางท่านประกาศไม่เลือกนายกฯ ส.ว.บางท่านเคารพเสียงสภาล่างในการเลือกนายกฯ” นายสนธิรัตน์กล่าว

“ส.ว.คงไม่ใช่เงื่อนไขใหญ่ แต่หากเป็นอุปสรรคที่นำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้มากขึ้น พลังประชารัฐก็พร้อมที่จะปรึกษาหารือและหากได้เป็นรัฐบาล หากพรรคได้เสียงมากพอก็พร้อมจะแก้ไขข้อที่สร้างคลางแคลงใจประชาชนในการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยไม่ราบรื่น”

“สิ่งที่พรรคพลังประชารัฐเป็นห่วงมากที่สุด คือ ไม่อยากเห็นการเลือกตั้งครั้งนี้เราหยิบเอาจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญมาสร้างความขัดแย้งในหมู่พี่น้องประชาชน สร้างบรรยากาศการเลือกตั้งนำไปสู่กระแสความขัดแย้งย้อนหลังกลับไป 6-7 ปีที่ผ่านมา” นายสนธิรัตน์กล่าว

ไม่แก้หมวดพระมหากษัตริย์

ด้านนายจุรินทร์กล่าวว่า การลงประชามติ พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่ประกาศไม่รับรัฐธรรมนูญปี’60 ด้วยเห็นผลของความไม่เป็นประชาธิไตย และมีบทเฉพาะกาลที่ต้องแก้ไขหลายประเด็น และเมื่อประชาธิปัตย์เข้าไปร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐประกาศชัดเจน 1 ในเงื่อนไข 3 ข้อ คือ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำรัฐธรรมนูญไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

นายจุรินทร์กล่าวว่า เมื่อประชาธิปัตย์เป็นพรรคร่วมรัฐบาล มี 52 เสียง แก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคเดียวไม่ได้ ต้องรวมกับหลายพรรคการเมือง เสนอแก้รัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ แต่ผ่านเพียงร่างเดียว คือ การเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ แต่ที่เหลือไม่ผ่าน เช่น

เรื่องสิทธิชุมชน สิทธิเสรีภาพของประชาชน มาตรา 256 แก้ไขวิธีแก้รัฐธรรมนูญใช้เพียงเสียงครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร บทบาทวุฒิสภา แต่วุฒิสภามีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายและตรวจสอบรัฐบาล แต่ไม่ควรมีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประเด็นที่ประชาธิปัตย์ต้องเดินหน้าแก้ไขต่อไป

“ในอนาคตถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ขัดข้อง แต่มีเงื่อนไขสำคัญ คือ ต้องไม่แก้ไขหมวด 1 ว่าด้วยรูปแบบของรัฐ ไม่เปลี่ยนแปลงว่าประเทศไทยต้องเป็นรัฐเดี่ยวและปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยทรงเป็นประมุข และต้องไม่แก้หมวดพระมหากษัตริย์” นายจุรินทร์กล่าว