ก้าวไกล-เพื่อไทย ประชันจุดยืนนโยบายเลือกตั้ง 66 แก้ไข ม.112

พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย มติชนเลือกตั้ง66 ดีเบต

พรรคก้าวไกล ประกาศจุดยืนแก้ไข ม.112 ลดโทษ แก้ผู้ร้องทุกข์ เพื่อไทยเห็นด้วย แต่ต้องแก้ไขในสภา

วันที่ 13 มีนาคม 2566 ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ เครือมติชน จัดเสวนาพรรคการเมือง “ย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็ง” ถาม-ตอบสดในรูปแบบกึ่งเกมโชว์ โดยมีแกนนำพรรคการเมือง ประกอบด้วย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านนโยบายและเศรษฐกิจ จากพรรคเพื่อไทย, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมือง พรรคพลังประชารัฐ, พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค,

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย, พรรคก้าวไกล ประกอบด้วย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและรณรงค์นโยบายพรรค, นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า, พรรคไทยสร้างไทย นำโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรค และนายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา

จุดยืนก้าวไกล แก้ไข ลดโทษ

นายพริษฐ์กล่าวถึงจุดยืนกรณีกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 ว่า พรรคก้าวไกลยืนยันว่ามาตรา 112 มาตรา 116 ในเชิงบังคับใช้เป็นอุปสรรคต่อการแสดงสิทธิเสรีภาพการแสดงออก ดังนั้น วิธีการของพรรคก้าวไกลคือ นำปัญหามาพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา ทำอย่างไรให้กฎหมาย 2 ฉบับถูกแก้ไข ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการแสดงสิทธิเสรีภาพการแสดงออก

พรรคก้าวไกลมองเห็น 3 ปัญหา 1.กฎหมายบังคับใช้ มีหลายครั้งที่กฎหมายฉบับนี้ถูกใช้ในกรณีที่ไม่น่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท จึงต้องเขียนคุ้มครองการวิพากษ์วิจารณ์แสดงออกโดยสุจริต ถ้าเป็นการพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ติชมโดยเป็นธรรมสามารถกระทำได้

2.ความหนักของโทษ ถ้าเปรียบเทียบกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในประเทศอื่น จะเห็นว่าบทกำหนดโทษ 3-15 ปี สูงกว่ามาตรฐานสากลอย่างมาก ดังนั้น ต้องลดเรื่องของโทษ จำคุก 0-1 ปี ซึ่งสูงกว่ากฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลที่พรรคก้าวไกลเสนอโทษเพียงแค่โทษปรับไม่มีโทษจำคุก

3.สิทธิร้องทุกข์กล่าวโทษ พออยู่ในหมวดความมั่นคง ทำให้ใครก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษใครก็ได้ จึงเกรงว่าสถานการณ์แบบนี้อาจเกิดปัญหาในหลายมิติ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง บางครั้งมีนักการเมืองหรือข้าราชการที่กระทำการทุจริต บางครั้งมีการนำชื่อสถาบัน เช่น โครงการเฉลิมพระเกียรติมาปกปิด จะทำให้คนทั่วไปหวาดกลัวไม่กล้ามาตรวจสอบ ถ้ามีการเปิดโปงขึ้นมาคนที่เสียหายก็คือสถาบัน ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการ

“ดังนั้น พรรคก้าวไกลเสนอให้จำกัดบุคคลที่มีสิทธิร้องทุกข์กล่าวโทษ ให้เป็นตัวแทนของผู้เสียหาย คือสำนักพระราชวัง เป็นสิทธิร้องทุกข์กล่าวโทษ สอดคล้องกับกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ บางประเทศใช้แบบที่เราเสนอ หรือญี่ปุ่นให้เป็นอำนาจนายกฯ ถ้าเรามีการปรับปรุงแก้ไขจะทำให้เรามีกฎหมายคุ้มครองประมุขฐานหมิ่นประมาทที่สามารถพัฒนาและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์” นายพริษฐ์กล่าว

นายพริษฐ์กล่าวว่า ส่วนเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 116 มีเขียนไว้ค่อนข้างกว้างว่าอะไรเข้าข่ายการยุยงปลุกปั่น พรรคก้าวไกลเสนอให้มีการทบทวนนิยามให้แคบลง เพื่อไม่ให้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง

เพื่อไทย ดัน 112 แก้ไขในรัฐสภา

ด้าน นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า ตนคิดว่าพรรคเพื่อไทยยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย มีบทบาทและของจริงมาตลอดตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย จุดยืนเพื่อประชาธิปไตยและการให้สิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องสำคัญ เรายึดมั่นระบอบที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญที่แตะต้องไม่ได้คือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ส่วนเรื่องมาตรา 112 ตนเห็นด้วยว่าการที่กฎหมายที่ปกปักรักษาเป็นเรื่องจำเป็น ในกรอบกฎหมายแน่นอนว่าเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป สาระอาจต้องเปลี่ยนให้สอดคล้องมากขึ้น กระบวนการที่แก้ไขสันติวิธีต้องกลับไปสภา และหารือกันว่าอะไรที่ต้องแก้

เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลมีหลายจุดที่ต้องแก้ เห็นด้วยอย่างยิ่งกับเรื่องของโทษ เรื่องของผู้ที่ฟ้อง รวมถึงกระบวนการที่นำไปใช้กฎหมาย ในสมัยที่ตนอยู่ในรัฐบาลไทยรักไทย เรื่องแบบนี้ก็เกิดขึ้น แต่มีกระบวนการ มีองค์กรกลั่นกรองเรื่องพวกนี้ มีคณะกรรมการชุดหนึ่งที่แต่งตั้งขึ้นพิจารณาเรื่องนี้ว่าเข้าข่ายหรือไม่ ไม่เช่นนั้นถูกใช้ แม้ถูกใช้กับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

ดังนั้น เราเห็นด้วยอย่างยิ่งต้องมีการแก้ไข แต่เรื่องนี้มีความเห็นที่แตกต่างกันมาก จึงต้องเข้ากระบวนการรัฐสภาแล้วหารือ แต่เรายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข