ครม.ไฟเขียว ยกเว้นภาษีเงินได้ ลงทุน DR ส่งเสริมตลาดทุนไทย

DR Depository Receipt

ครม.เห็นชอบหลักการ พ.ร.ฎ.ยกเว้นภาษีเงินได้ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ – DR ส่งเสริมตลาดทุนไทย

วันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เเห็นชอบอนุมัติหลักการพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนในตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR)) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้พิจารณาเห็นว่า การออกและเสนอขาย DR จะเป็นการเพิ่มผลิตภัณฑ์การลงทุนในตลาดทุนไทยให้มีความหลากหลาย โดยจะช่วยให้นักลงทุนรายย่อยมีโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน จึงเป็นประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรง และยังจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน การเป็นจุดเชื่อมโยงทางภูมิภาคของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า รวมทั้งส่งผลเชิงบวกแก่การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพราะหากไม่มีช่องทางให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านการถือ DR นักลงทุนรายย่อยอาจเลือกซื้อหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านนายหน้า (Broker) ในต่างประเทศซึ่งอาจจะทำให้รัฐสูญเสียโอกาสทางภาษี

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. คำนิยาม “ผู้ออกและเสนอขายตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ” (ผู้ออกและเสนอขาย DR) หมายความว่า ผู้ออกและเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

2. คำนิยาม “เงินเทียบเท่าเงินปันผล” หมายความว่า เงินที่ผู้ออกและเสนอขาย DR จ่ายให้แก่ผู้ถือ DR และได้จ่ายจากเงินดังต่อไปนี้ 1.เงินปันผลหรือเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับเงินปันผลที่ผู้ออกและเสนอขาย DR ได้รับจากการถือหลักทรัพย์ต่างประเทศ 2.เงินได้จากการขายหุ้นปันผลที่ผู้ออกและเสนอขาย DR ได้จากการถือหลักทรัพย์ต่างประเทศในส่วนที่เกินและไม่เกินกว่ามูลค่าของหุ้นปันผลนั้น

3. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งเป็นผู้ออกและเสนอขาย DR สำหรับเงินได้ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่ได้รับจากการถือหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยจะต้องไม่นำเงินได้ดังกล่าวที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ถือ DR มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (เงินเทียบเท่าเงินปันผล)

4. การลดหรือยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ถือ DR กรณีที่ผู้ออกและเสนอขาย DR จ่ายปันผลหรือเงินเทียบเท่าเงินปันผลให้ผู้ถือ DR และออก DR เพิ่มให้ผู้ถือ DR เนื่องจากได้รับหุ้นปันผลจากการถือหลักทรัพย์ต่างประเทศ

4.1 สำหรับเงินได้ที่ผู้ถือ DR ได้รับจากผู้ออกและเสนอขาย DR ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 10 ของเงินได้ ให้ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเหลือ ร้อยละ 10 ของเงินได้ (โดยมีสิทธิไม่นำเงินได้ไปรวมคำนวนภาษีเงินได้ปลายปี)

4.2 สำหรับเงินได้ที่ผู้ถือ DR ได้รับจากผู้ออกและเสนอขาย DR ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีในอัตราที่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้ เมื่อผู้ถือ DR ยอมให้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้นั้น (โดยมีสิทธิไม่นำเงินได้ไปรวมคานวนภาษีเงินได้ปลายปี

5. การลดหรือยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ถือ DR ใช้กับบุคคลธรรมดาเท่านั้น และไม่ใช้บังคับกับห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป