
ราชกิจจาฯเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด
วันที่ 22 มีนาคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ลงนามโดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง
ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า ด้วยได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบข้อ46 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 และประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2565 ลงวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ดังนี้
1. ราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 มีจำนวน 65,106,481 คน
2. จำนวนราษฎรโดยเฉลี่ย 162,766 คน ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคน
3. จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้กระทรวงมหาดไทย ได้เผยแพร่ ประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่องจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ สิ้นปี 2565 ทั่วประเทศ รวม 77 จังหวัด แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ
โดยทั่วประเทศ ไทยมีจำนวนประชากรรวมทั้งสิ้น 66,090,475 คน เป็นสัญชาติไทย 65,106,481 แยกเป็นชาย 31,755,032 คน หญิง 33,351,449 คนและไม่ได้เป็นสัญชาติไทยจำนวน 983,994 คน
และเมื่อแยกเป็นรายจังหวัดพบว่า พื้นที่ของจังหวัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีประชากรมากที่สุดในประเทศ รวมจำนวน 5,494,932 คน ส่วนจังหวัดที่มีประชากรน้อยสุดตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ได้แก่ จังหวัดสมุทรสงคราม มีจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร 189,453 คน
สำหรับจังหวัดที่มีจำนวนประชากรเกินกว่า 1 ล้านคน มี 21 จังหวัด ได้แก่
1.กรุงเทพมหานคร
2.ขอนแก่น
3.ชลบุรี
4.ชัยภูมิ
5.เชียงราย
6.เชียงใหม่
7.นครราชสีมา
8.นครศรธรรมราช
9.นครสวรรค์
10.นนทบุรี
11.บุรีรัมย์
12.ปทุมธานี
13.ร้อยเอ็ด
14.ศรีสะเกษ
15.สกลนคร
16.สงขลา
17.สมุทรปราการ
18.สุราษฎร์ธานี
19.สุรินทร์
20.อุดรธานี
21.อุบลราชธานี