เปิดวิธีลงทะเบียน เลือกตั้งล่วงหน้า 2566 มีขั้นตอนอย่างไร ?

เลือกตั้ง เลือกตั้งล่วงหน้า 2566 ในเบต นอกเขต นอกราชอาณาจักร
ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 9 เมษายน 2566 เวลา 07.32 น.

เปิดวิธีลงทะเบียน เลือกตั้งล่วงหน้า 2566 ในเขต-นอกเขต-นอกราชอาณาจักร วันนี้ (9 เม.ย. 2566) เปิดลงทะเบียนวันสุดท้าย มีขั้นตอนอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง ?

ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดวันเลือกตั้งครั้งใหม่ ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 และกำหนดวันเลือกตั้งล่วงหน้า วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 สำหรับผู้ที่อยู่นอกเขตเลือกตั้งและผู้ที่อยู่ในเขตเลือกตั้ง แต่ไม่สะดวกไปเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

ขณะที่การลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า กกต.กำหนดไว้ว่า จะเปิดให้ลงทะเบียนวันที่ 25 มีนาคม-9 เมษายน 2566 ทั้งเลือกตั้งล่วงหน้า นอกเขต และเลือกตั้งล่วงหน้า นอกราชอาณาจักร

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมวิธีการลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมก่อนลงทะเบียนจริง

ทบทวนคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • อายุ ไม่ตํ่ากว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
  • มีสัญชาติไทย
  • หาก เคย แปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้ว เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง
  • ไม่ เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  • ไม่ อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง
  • ไม่ ถูกต้องคุมขังโดยหมายของศาล หรือคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

การเลือกตั้งล่วงหน้า ในเขต-นอกเขต แตกต่างกันอย่างไร ?

การเลือกตั้งล่วงหน้า สามารถทำได้ทั้งในเขตเลือกตั้งปัจจุบัน และนอกเขตเลือกตั้งปัจจุบัน โดยผู้ที่จะใช้สิทธิ เลือกตั้งล่วงหน้า 2566 ในเขตเลือกตั้ง กฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับคําสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง

โดยสามารถยื่นคําขอลงทะเบียนใช้สิทธิ ต่อนายทะเบียนอําเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น ภายใน 20 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง และใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง

ส่วนผู้ที่จะใช้สิทธิ เลือกตั้งล่วงหน้า 2566 นอกเขตเลือกตั้ง จะต้องเป็นผู้ที่อยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งไม่ถึง 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

โดยสามารถยื่นคําขอลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง นอกเขตเลือกตั้ง ต่อนายทะเบียนอําเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น 30 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง และสามารถไปลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ก่อนวันเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลางของจังหวัดที่ทํางานหรืออาศัยอยู่ได้

กรณีเขตเลือกตั้งใดมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. แทนตําแหน่งที่ว่าง หรือมีการเลือกตั้งใหม่ ผู้ลงทะเบียนสามารถเดินทางกลับไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ณ หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้

ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 ในเขต มีขั้นตอนอย่างไร ?

ผู้ที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 ในเขตเลือกตั้ง สามารถเขียนรายละเอียดลงแบบคําร้องขอ พร้อมเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และยื่นคําขอลงทะเบียน ผ่าน 2 ช่องทาง

  1. ยื่นคําขอด้วยตนเอง (หรือมอบหมายผู้อื่นยื่นแทน) ต่อนายทะเบียนอําเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีถิ่นที่อยู่
  2. ยื่นคําขอทางไปรษณีย์

สำหรับเอกสารที่ต้องเตรียมในการลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 ในเขต มีดังนี้

  1. สําเนาบัตรประจําตัวประชาชน หรือ สําเนาบัตรที่มีรูปถ่ายและหมายเลขประจําตัวประชาชนที่ทางราชการออกให้
  2. คําสั่งของทางราชการ หรือหนังสือรับรองจากหน่วยงานของรัฐ
  3. แบบคําร้องขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ในเขต

ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 นอกเขต มีขั้นตอนอย่างไร ?

ผู้ที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 นอกเขตเลือกตั้ง สามารถเขียนรายละเอียดลงแบบคําร้องขอ พร้อมเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และยื่นคําขอลงทะเบียน ผ่าน 3 ช่องทาง

  1. ยื่นคําขอด้วยตนเอง (หรือมอบหมายผู้อื่นยื่นแทน) ต่อนายทะเบียนอําเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีถิ่นที่อยู่
  2. ยื่นคําขอทางไปรษณีย์
  3. ยื่นคําขอทางอินเทอร์เน็ต (หรือทางแอปพลิเคชั่น Smart Vote)

สำหรับเอกสารที่ต้องเตรียมในการลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 นอกเขต มีดังนี้

  1. สําเนาบัตรประจําตัวประชาชน หรือ สําเนาบัตรที่มีรูปถ่ายและหมายเลขประจําตัวประชาชนที่ทางราชการออกให้
  2. แบบคําร้องขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า นอกเขต

การเลือกตั้งล่วงหน้า นอกราชอาณาจักร คืออะไร ?

การเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 นอกราชอาณาจักร คือการอํานวยความสะดวกให้คนไทยที่พํานักอยู่นอกราชอาณาจักร หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่จะเดินทางไปนอกราชอาณาจักร ได้มีโอกาสใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ได้

โดยให้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร 30 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ให้คนไทยทุกคนที่มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศไทยสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ตามสถานที่และวิธีการ ที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่กําหนด

ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 นอกราชอาณาจักร มีขั้นตอนอย่างไร ?

การลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า นอกราชอาณาจักร แบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีอยู่นอกราชอาณาจักร และ กรณีอยู่ในประเทศไทย แต่จะเดินทางไปต่างประเทศในช่วงการเลือกตั้ง

โดยยื่นแบบคําร้องขอใช้สิทธิเลือกตั้ง พร้อมเอกสารแสดงตน เพื่อลงทะเบียนขอใช้สิทธิ 30 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง ในวันและเวลาราชการ ณ สถานเอกอัครราชทูตแห่งเขตรับผิดชอบที่ตนมีถิ่นที่อยู่

เอกสารที่ต้องใช้

  • หนังสือเดินทาง
  • บัตรประจําตัวประชาชน หรือ บัตรที่มีรูปถ่าย ซึ่งทางราชการออกให้ และมีเลขประจําตัวประชาชน

สำหรับ กรณีอยู่นอกราชอาณาจักร สามารถยื่นคำร้องขอใช้สิทธิเลือกตั้งได้ 3 ช่องทาง ดังนี้

  1. ยื่นด้วยตนเอง หรือมอบหมายผู้อื่นยื่นแทน
  2. ยื่นทางไปรษณีย์ ถึงสถานเอกอัครราชทูต
  3. ยื่นคําขอทางอินเทอร์เน็ต

สำหรับ กรณีอยู่ในประเทศไทยแต่จะเดินทางไปต่างประเทศในช่วงการเลือกตั้ง สามารถยื่นคำร้องขอใช้สิทธิเลือกตั้งได้ 3 ช่องทาง ดังนี้

  1. ยื่นที่สำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น
  2. ยื่นทางไปรษณีย์ ถึงสถานเอกอัครราชทูต
  3. ยื่นคําขอทางอินเทอร์เน็ต

ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 นอกเขต-นอกราชอาณาจักร ผ่านทางออนไลน์ มีขั้นตอนอย่างไร ?

สำหรับผู้ที่ต้องการลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 นอกเขตเลือกตั้ง และนอกราชอาณาจักร สามารถลงทะเบียนผ่านทางออนไลน์ได้ 2 ช่องทาง คือ ทางเว็บไซต์ หรือทางแอปพลิเคชั่น ผ่านแอป Smart Vote (iOS, Android) และแอป ThaiD (iOS, Android) โดยสามารถลงทะเบียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตามวันที่ กกต.กำหนด และไม่ต้องนําส่งเอกสารและหลักฐานประกอบการลงทะเบียน

โดยสามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ดังต่อไปนี้

หรือลงทะเบียนผ่านระบบ BORA Web Portal ของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ที่เว็บไซต์ https://thportal.bora.dopa.go.th/ แล้วยืนยันตัวตนด้วยแอปพลิเคชั่น ThaiD

ผู้ที่ต้องการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า นอกเขต-นอกราชอาณาจักร จะต้องเตรียมข้อมูลดังนี้

  • เลขประจําตัวประชาชน
  • ชื่อ-นามสกุล
  • วัน-เดือน-ปีเกิด
  • หมายเลขหลังบัตรประจําตัวประชาชน (Laser ID)
  • เลขรหัสประจําบ้าน 11 หลัก (กรณีลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขต)
  • สถานที่ที่ประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้ง ก่อนวันเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง
  • หมายเลขหนังสือเดินทาง (กรณีลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร)

สำหรับขั้นตอนการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 นอกเขตเลือกตั้ง มีดังนี้

  1. เข้าสู่ระบบ บันทึกข้อมูลข้างต้นให้ถูกต้องครบถ้วน แล้วเลือก “รายการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้ง”
  2. ตรวจสอบข้อมูลที่ปรากฏว่าถูกต้องหรือไม่
    • กรณีผู้ที่เคยลงทะเบียนแล้ว หากต้องการเปลี่ยนแปลงสถานที่ลงคะแนน ให้ระบุสถานที่ที่ประสงค์จะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
    • ถ้าประสงค์จะขอยกเลิกการลงทะเบียน ให้เลือกรายการขอยกเลิกการลงทะเบียน
  3. เลือกบันทึกข้อมูล
  4. เข้าสู่หน้าการยืนยันการบันทึกข้อมูล ให้ตรวจสอบว่าข้อมูลที่ปรากฏอยู่นั้น ถูกต้องหรือไม่
    • หากต้องการกลับไปแก้ไขข้อมูล เลือกรายการกลับไปแก้ไขข้อมูล
  5. หากถูกต้องครบถ้วนแล้ว เลือกรายการยืนยันการบันทึกข้อมูล
  6. เมื่อยืนยันการลงทะเบียนเสร็จสมบูรณ์ ระบบจะแสดงแบบตอบรับ เป็นหลักฐานประกอบการลงทะเบียน เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานประกอบการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนนอกเขตเลือกตั้ง

ตรวจสอบการลงทะเบียน เลือกตั้งล่วงหน้า 2566 อย่างไร?

สำหรับการตรวจสอบการลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า 2566 สามารถทำได้โดยการเข้าไปที่เว็บไซต์ https://stat.bora.dopa.go.th/Election/enqelection และทำการกรอกเลขที่บัตรประชาชน

เมื่อกด “ตรวจสอบ” ระบบจะแสดงทั้งจังหวัดและเขตที่มีสิทธิเลือกตั้งในปัจจุบัน พร้อมทั้งแสดงจังหวัด เขต และสถานที่สำหรับไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า

เลือกตั้งล่วงหน้า 2566 ในเขต-นอกเขต-นอกราชอาณาจักร กาบัตรเลือกตั้งวันไหน ?

สำหรับการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 ทั้งในเขตเลือกตั้ง และนอกเขตเลือกตั้ง จะมีขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ตามหน่วยเลือกตั้งที่ระบุไว้

ส่วนการเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 นอกราชอาณาจักรนั้น กรมการกงสุล ระบุว่า การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร  ตามระเบียบของ กกต. ต้องมีก่อนหน้าการเลือกตั้งในประเทศอย่างน้อย 12 วัน ก่อนวันเลือกตั้งทั่วไป (14 พ.ค. 2566) โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในระหว่างวันที่ 24 เมษายน-5 พฤษภาคม เนื่องจากมีปัจจัยในการส่งบัตรการเลือกตั้งกลับมานับคะแนนที่ไทยด้วย

โดยคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ และต้องใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร สามารถตรวจสอบกำหนดการและวิธีการเลือกตั้ง ได้จากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ประเทศนั้น ๆ

ไม่ไปเลือกตั้ง จะเกิดอะไรขึ้น?

หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะถูกตัดสิทธิดังนี้

  1. ไม่มีสิทธิร่วมลงชื่อ ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
  2. ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา
  3. ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่

รวมถึง จะถูกถือเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ ดังนี้

  • ตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
  • ตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น
  • นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายกฯ อบจ.)
  • เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น
  • ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น
  • ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
  • ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
  • คณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • ทุกตำแหน่ง ที่ผ่านการลงคะแนนเลือกตั้ง

โดยการจํากัดสิทธิดังกล่าว กําหนดเวลาครั้งละ 2 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง ครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และหากในการเลือกตั้งครั้งต่อไปไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอีก ให้เริ่มนับเวลาการจํากัดสิทธิ 2 ปีใหม่

หากไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งวันเลือกตั้งล่วงหน้า (7 พ.ค. 2566) และวันเลือกตั้งจริง (14 พ.ค. 2566) แล้วมีเหตุผลอันสมควรดังต่อไปนี้

  • ผู้มีธุรกิจจําเป็นเร่งด่วนต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
  • ผู้ป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • ผู้พิการหรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
  • ผู้มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
  • ผู้ประสบเหตุสุดวิสัย เช่น อุทกภัย วาตภัย ฯลฯ

สามารถแจ้งเหตุที่ไม่สามารถใช้สิทธิได้ ในวันที่ 7-13 พฤษภาคม 2566 และ 15-21 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วง 7 วัน ก่อนและหลังวันลงคะแนนเลือกตั้งเป็นการทั่วไป (14 พ.ค. 2566)

ข้อมูลจาก ไทยโหวต (thaivote.info)