กต.นำระบบดิจิทัล OVMS ติดตามการจัดการเลือกตั้งในต่างประเทศ

เลือกตั้งล่วงหน้า 2566 นอกราชอาณาจักร

กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ย้ำภาพนโยบายของรัฐบาลดิจิทัล ล่าสุดพัฒนาคิดค้นระบบ OVMS เฝ้าติดตามการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เผยใช้งานได้ทั้งบน PC tablet และสมาร์ทโฟน หวังเป็นเครื่องมือปิดช่องโหว่การบริหารจัดการการเลือกตั้งในต่างแดน ทั้งในเรื่องของขั้นตอน กฎระเบียบ

วันที่ 6 เมษายน 2566 นายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงศุล กระทรวงการต่างประเทศเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่ากรมการกงสุลโดยศูนย์บริหารข้อมูลการกงสุลและสารสนเทศ (Consular Data and Information Centre : CDIC) ซึ่งเป็น in-house tech ของกรม และเป็นทีมเดียวกับที่พัฒนาระบบลงทะเบียนรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (COE) และระบบลงทะเบียนรับวัคซันของชาวต่างชาติ (Expat Vac) ในช่วงการระบาดของโรค covid-19 ได้พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดกรมการกงสุลได้พัฒนาและคิดค้น “ระบบเฝ้าติดตามการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร” หรือ Overseas Voting Monitoring System (OVMS) เป็น web application ใช้งานได้ทั้งบน PC tablet และ smart phone โดยพัฒนามาจากการรวบรวมข้อมูลและประสบการณ์ 25 ปี จากการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรครั้งแรกเมื่อปี 2541 จนถึงปัจจุบัน

นายรุจกล่าวว่าการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่นำระบบ OVMS มาใช้เพื่อช่วยในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการก้าวไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยระบบ OVMS ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับเป็นเครื่องมือ (tool) เพื่อแก้ไข painpoint ช่องโหว่ในการบริหารจัดการการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของสถานเอกอัครราชทูต (สอท.) /สถานกงสุลใหญ่ (สกญ.) ทั้งในเรื่องของขั้นตอนและกฎระเบียบ

ตัวระบบแบ่งออกเป็น 3 ฟีเจอร์ (feature) หลัก ๆ ได้แก่ ฟีเจอร์ที่ 1 เป็นส่วนเตรียมการ ซึ่ง สอท./สกญ. ทั่วโลกต้องป้อนข้อมูลการเตรียมการ ประกอบด้วย 1.งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร 2.จำนวนอุปกรณ์ที่ต้องการใช้ อาทิ หีบใส่บัตรเลือกตั้ง คูหา หรือเชือกกั้นคูหา และ 3.วิธีที่จะจัดการเลือกตั้ง อาทิ คูหา ไปรษณีย์ หรือแบบอื่น ๆ

โดย OVMS จะประมวลผลข้อมูลออกมาในภาพรวม ทำให้ส่วนกลางสามารถประมาณการด้านงบประมาณและประสานงานกับ กกต. พร้อมทั้งเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ล่วงหน้า ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงการต่างประเทศได้ทำไปแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565

ฟีเจอร์ที่ 2 เป็นส่วนของการบริหารจัดการการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร โดย OVMS ถูกออกแบบให้เป็นระบบ checklist ขั้นตอนต่าง ๆ ในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ซึ่งอ้างอิงจากระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2566 เพื่อให้ สอท./สกญ. ทั่วโลกจัดการเลือกตั้งตามขั้นตอนที่ระบบกำหนดไว้

โดยระบบเน้นในส่วนของขั้นตอนการส่งและรับบัตรเลือกตั้งระหว่างส่วนกลางกับ สอท./สกญ. ทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความมั่นใจในการทำหน้าที่และลดความผิดพลาด และช่วยให้ส่วนกลางที่กระทรวงการต่างประเทศสามารถติดตามสถานะความคืบหน้าของการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของ สอท./สกญ. ทั่วโลกได้แบบ real time

และฟีเจอร์ที่ 3 เป็นส่วนการประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ ในรูปแบบ dashboard ได้แก่ จำนวนคนไทยในต่างประเทศ จำนวนผู้มาขอใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนนอกราชอาณาจักร จำนวนผู้มาลงคะแนนออกเสียง จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ส่วนกลางส่งให้กับ สอท./สกญ. และจำนวนบัตรที่ลงคะแนนแล้วถูกส่งกลับมายังประเทศไทย โดยสามารถประมวลผลได้ทั้งแบบรายประเทศ รายภูมิภาค หรือแบบภาพรวมก็ได้

นายรุจกล่าวด้วยว่า การที่ OVMS เป็นระบบแบบ real time มีประโยชน์คือ เจ้าหน้าที่ สอท./สกญ. ทั่วโลกและที่ส่วนกลางในประเทศไทยเห็นภาพรวมการดำเนินการตามขั้นตอน ตั้งแต่เตรียมการไปจนจบกระบวนการ การใช้งบประมาณ ข้อมูลวิธีการเลือกตั้ง จำนวนบัตร และจำนวนตัวเลขผู้มาใช้สิทธิ์ และสามารถตรวจสอบวัน เวลา และเที่ยวบินในการส่งบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วกลับไทยได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ OVMS ยังมีประโยชน์ในการเก็บข้อมูล (data) กระบวนงานในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรทุกขั้นตอน ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการทำ data analytics เพื่อวิเคราะห์และกำหนดนโยบายในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในอนาคตได้อีกด้วย