มติชน-เดลินิวส์ ดีเดย์โพลเลือกตั้ง’66 นายกฯที่ใช่ พรรคที่ชอบ ดีเดย์ 8 เม.ย.นี้

มติชน เดลินิวส์ โพลเลือกตั้ง

2 สื่อชั้นนำของประเทศ “มติชน-เดลินิวส์” ประเดิมทำโพลเลือกตั้ง 2566 เปิดโหวตให้ตอบคำถาม 2 ข้อเลือกนายกรัฐมนตรีที่ใช่ และพรรคการเมืองที่ชอบ ดีเดย์วันที่ 8 เมษายนนี้ ขอเชิญชวนประชาชนผู้ที่รักประชาธิปไตย มีส่วนร่วมกับการโหวตครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ โปรดติดตามความคืบหน้าผ่านทุกช่องทางของสื่อในเครือมติชน-ข่าวสด-เดลินิวส์ และพันธมิตร

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า การจัดทำโพลความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่างสื่อ 2 สำนักใหญ่ “เครือมติชนและเดลินิวส์” เพื่อสะท้อนผลเลือกตั้ง 2566

โดยการทำโพลครั้งที่ 1 นี้ เป็นการโหวตผ่านช่องทางออนไลน์ในทุกแพลตฟอร์ม ของสื่อเครือมติชนและเดลินิวส์ คาดว่าจะมีผู้ร่วมโหวตจำนวนมาก โดยเฉพาะพลังเสียงหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ กลุ่มนิวโหวตเตอร์ และประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ

สำหรับการโหวตรอบที่ 1 ประเด็นคำถามมี 2 ข้อ เพื่อสะท้อนฉันทามติในกลุ่มประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และทำโพลออนไลน์ผ่านสื่อเครือมติชน-เดลินิวส์ ดังนี้

เริ่มต้นรอบที่ 1 “เลือกนายกรัฐมนตรีที่ใช่” และ “เลือกพรรคการเมืองที่ชอบ” ระยะเวลาโหวต เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 8 เม.ย. 2566 ประชาชนผู้ที่รักประชาธิปไตย อยากมีส่วนร่วมกับการโหวตครั้งประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ สามารถติดตามความคืบหน้าต่อไปผ่านทุกช่องทางของสื่อในเครือมติชน ข่าวสด เดลินิวส์ และพันธมิตร

ทั้งนี้ โพลเจาะลึกศึกเลือกตั้ง 2566 ระหว่าง 2 ค่ายยักษ์ วงการสื่อมวลชนอย่าง “มติชน X เดลินิวส์” ภายหลังได้แถลงข่าวลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง สำรวจความคิดเห็นของประชาชนกับการเลือกตั้งปี 2566 กันไปแล้ว เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา

โดยมีผู้บริหารเครือมติชน นำโดย น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมกับนางประพิณ รุจิรวงศ์, นายปารเมศ เหตระกูล และนางสิริวรรณ พันธุ์ปรีชากิจ กรรมการบริหาร น.ส.พ.เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ รวมถึง ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และนายศุภกร รวยวาสนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิกซ์เดฟ จำกัด ผู้ให้บริการระบบซิสเต็มเอ็นจิเนียร์ และไอทีโซลูชั่นชั้นนำ เข้าร่วม

น.ส.ปานบัวกล่าวว่า โพลในครั้งนี้มีความสำคัญมาก ๆ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงตรงนี้คือการเปลี่ยนแปลงวิธีในการเลือกตั้ง การเปลี่ยนแปลงเขตการเลือกตั้ง การเปลี่ยนแปลงผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง และการเปลี่ยนแปลงในฐานะผู้โหวต หรือนิวโหวตเตอร์ (New Voter)

แค่ปัจจัยตรงนี้ ใครคาดการณ์ว่า การเลือกตั้งนี้จะออกแบบง่าย ๆ หรือเดาได้ง่าย ไม่น่าจะใช่ เพราะมีความซับซ้อนมากกว่าเดิม ไม่รวมถึงมิติปัญหาด้านต่าง ๆ ที่ทุกคนล้วนแล้วแต่ก็มีมิติของปัญหาที่แตกต่างกัน ที่อาจจะนำไปสู่ผลของการตัดสินใจเลือกตามแต่มิติที่ได้รับผลกระทบมา เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องซับซ้อนที่สุดครั้งหนึ่งของการเลือกตั้ง

ด้านนายปราปต์มองว่าโพลที่จัดทำร่วมกัน จะเป็นโพลซึ่งมีความเรียบง่าย ด้วยชุดคำถามทั้ง 2 คำถาม และแม้จะไม่ใช่โพลลงรายละเอียดถึงระดับเขต แต่ในฐานะสื่อ โพลที่ทำร่วมกันน่าจะสะท้อนให้เห็นถึงกระแสภาพรวม ภาพกว้าง ช่วยคาดคะเนผลที่จะเกิดขึ้นได้ โดยผลประโยชน์ในการวิเคราะห์การเลือกตั้ง อาจจะวิเคราะห์ในส่วนปาร์ตี้ลิสต์ (ส.ส.บัญชีรายชื่อ) ได้

จุดเด่น คือ กลุ่มผู้บริโภคซึ่งมีความกว้างขวาง เพราะความหลากหลายของผู้อ่านของทั้ง 2 เครือ โดยเชื่อมั่นว่าเราจะได้ข้อมูลที่กว้างขวางในเชิงคุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมา มติชนเคยทำโพลการเมืองจริง แต่มีข้อจำกัด เนื่องด้วยความเบี่ยงเบน ก็จะเทไปที่ค่านิยมแบบหนึ่ง แต่พอผนึกร่วมกับเดลินิวส์ จึงเกิดความกว้างขวาง และครอบคลุมทุกความเป็นไปได้

นางประพิณกล่าวว่า เดลินิวส์เป็นสื่อมวลชนที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน และปีนี้ครบ 59 ปี เข้าสู่ปีที่ 60 เรายึดมั่นที่จะยังผลิตข่าว งานเขียนคุณภาพในสื่อสิ่งพิมพ์ ควบคู่กับการนำเสนอในแพลตฟอร์มออนไลน์ทุกรูปแบบ มีข่าวมีรายงานข่าวคุณภาพนำเสนอครบถ้วน ในส่วนของความร่วมมือครั้งนี้ ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสังคมสื่อบ้านเรา ซึ่งทุกคนจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่ได้จากกลุ่มผู้อ่านของทั้ง 2 ค่ายใหญ่แน่นอน

ด้านนายปารเมศยืนยันว่า เดลินิวส์เป็นองค์กรสื่อครบวงจร ที่จำหน่าย น.ส.พ.ทั่วประเทศ เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั้งประเทศมายาวนาน มีบุคลากรด้านสื่อสารมวลชนที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในสนามข่าวทุกประเภท และในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ ได้เตรียมความพร้อมผู้สื่อข่าวไว้ทั่วประเทศ เพื่อเกาะติดทุกพื้นที่อย่างรวดเร็วในการทำโพลเลือกตั้ง ให้มีผลออกมาอย่าง “แม่นยำ” มากที่สุด

ด้วยการออกเสียงแสดงความคิดเห็นจากกลุ่มผู้อ่านของเดลินิวส์และเครือมติชน เชื่อว่าจะเป็นแรงผลักดันให้เห็นการเมืองในอนาคต แนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จึงมองว่า ผลโพลที่ออกมา น่าจะมีความใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ขอเชิญชวนผู้อ่านและผู้ชม ร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านโพล เพื่อเป็นเสียงสะท้อนไปยังสถาบันพรรคการเมืองได้ทราบว่า มาถูกทางแล้วหรือไม่ หรือสะท้อนความต้องการ เพื่อพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะได้ปรับตัวต่อไป

ทั้งนี้ หลังทำโพล 2 ครั้ง ทั้งในช่วงต้นเดือนและกลางเดือน เม.ย. จากนั้นในช่วงปลายเดือน เม.ย. จะมีเวทีสเปเชียลฟอรั่ม ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็น จะได้รับการวิเคราะห์โดยทีมนักวิชาการจากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ และสื่อมวลชนด้วย เพื่อคาดการณ์ คาดคะเนอนาคตการเมืองไทยต่อไป อีกทั้งคิดว่า ผลลัพธ์จะสามารถสะท้อนให้เห็นแนวคิดของประชาชนว่า ความหลากหลายของกลุ่มคนจะมี “ฉันทามติ” หรือมีความคิดอย่างไรเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ต้องการให้ใครเป็นผู้นำประเทศ รวมถึงการเมืองแบบไหน เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล

นอกจากนี้ เครือมติชนเดินหน้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้งครั้งสำคัญกับ “มติชน : เลือกตั้ง 66 บทใหม่ประเทศไทย” ที่จับมืออีก 5 พันธมิตร ได้แก่ ทีดีอาร์ไอ, สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย, วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์, MFEC และศูนย์ข้อมูลมติชน เปิด “5 เวที 10 ยุทธศาสตร์ 2 กลยุทธ์” หลังจากเปิดเวทีแรกประชันนโยบายพรรคการเมือง “ย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็ง” ต่อด้วยเวทีสอง “วิเคราะห์เลือกตั้ง’66 จากฐานคะแนนและการแบ่งเขตเลือกตั้ง” และเวทีที่สาม “ฟังเสียง New Gen บทใหม่ประเทศไทย” ที่เรียกเสียงกรี๊ดสนั่นลั่นลานโพธิ์ไปเมื่อวันที่ 31 มี.ค.
สำหรับเวทีที่สี่ “เวทีเสียงประชาชน : นโยบายที่ใช่-สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรทำ” พร้อมแล้วที่จะเป็นกระบอกเสียงเปิดรับฟังเสียงจากทุกภูมิภาค โดยการสัมภาษณ์ออนไลน์ ตัวแทนประชาชนทั้งจากภาคธุรกิจ, ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ตัวแทนภาคประชาสังคม จากแต่ละภาค แต่ละพื้นที่ ทำให้ได้ประเด็นคำถาม ข้อเสนอ ข้อเรียกร้องจากแต่ละภูมิภาคซึ่งคลุกคลี สัมผัสกับปัญหาโดยตรง มีข้อมูลที่ “ตรง ชัด รอบด้าน” และเสียงสะท้อนดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังพรรคการเมืองที่กำลังนำเสนอนโยบายและหาเสียงอยู่ในช่วงเวลานี้ ว่าจะมีแนวทางตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการในด้านต่าง ๆ อย่างไร เพื่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.นี้
รายละเอียด “เวทีเสียงประชาชน : นโยบายที่อยากได้-สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรทำ” จะนำเสนอในรูปแบบรายการพิเศษ วันที่ 5 เมษายน 2566 เวลา 10.00-12.00 น. โดย วิทยากรที่เป็นตัวแทนเข้าร่วมนำเสนอเสียงประชาชน ประกอบด้วย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักกิจกรรม, นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย, นายบรรจง นะแส ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง สมาคมรักษ์ทะเลไทย คุณอรนุช เลิศกุลดิลก ผู้จัดการโครงการเพื่อผู้สูงอายุ forOldy, นายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย, นายสมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ นายกเทศมนตรีเมืองสนั่นรักษ์ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
นายยุทธนา ศรีตะบุตร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย, นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ดร.สาโรจน์ วสุวานิช ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่, นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนายก้องศักดิ์ คู่พงศกร ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต
ทั้งนี้ รายการดังกล่าวถ่ายทอดผ่านทุกช่องทางออนไลน์ในเครือมติชน Facebook : Matichon Online, Matichon TV, The Politics, Khaosod, Prachachat, มติชนสุดสัปดาห์/YouTube : Matichon TV, Khaosod TV, Matichon Online, ประชาชาติธุรกิจ, มติชนสุดสัปดาห์