คณิตศาสตร์เลือกตั้ง 2566 เพื่อไทยชนะ แต่ลุ้นนายกฯ ประยุทธ์-ประวิตร ?

3 คน การเมือง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ประกาศยุบสภา ศึกเลือกตั้งใหญ่หนีไม่พ้นเดือนพฤษภาคม

นับแต่วันที่ 20 มีนาคม เป็นต้นไป รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในสภาพ “รักษาการ” ไม่มีอำนาจเต็มไม้เต็มมือครั้งแรกนับตั้งแต่รัฐประหาร 2557

ทั้งนายกฯ-รองนายกฯ มากบารมี จนถึงรัฐมนตรีขาใหญ่ หัวหน้าพรรคการเมืองหลัก พรรคตัวแปร จนถึงพรรคตัวประกอบ ต่างลงพื้นที่ช่วงชิงเสียงประชาชน ห้ำหั่นกันอย่างดุเดือด

เครือมติชน เชิญ “กูรู” การเมือง 3 คน ประกอบด้วย รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตกรรมการบริหาร-โฆษกพรรคไทยรักไทย อดีตรัฐมนตรีและเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

มาวิเคราะห์สนามเลือกตั้งที่จะมาถึง ผ่านข้อมูล-ฐานคะแนนเลือกตั้ง 2562 นำมาสู่การ “คาดคะเน” ว่าใคร-พรรคไหนจะเข้าวิน

ชาวบ้านอยากเปลี่ยนประยุทธ์

“สุรนันทน์” อาศัยความ “เก๋า” ทางการเมือง วิเคราะห์ว่า การดูคะแนนอาจจะต้องกลับไป 2544 2548 ด้วยซ้ำ ส่วนปี 2554 มีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องเขตเยอะ ประชากรมันเปลี่ยน มู้ด (อารมณ์) ประชาชนเปลี่ยน ถ้าใช้ผลคะแนน 2562 เป็นหลัก ยังมีพรรคลุงกำนัน (พรรครวมพลังประชาชาติไทย) พรรคพลังประชารัฐไม่แตกเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ ยังคงอยู่ในสภาพที่พรรครวมไทยสร้างชาติไม่แย่งฐานคะแนนไป ในฐานคะแนนและมู้ดของประชาชน คะแนนระดับตำบลหมู่บ้านจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนในหมู่ประชาชน

ปี 2562 กระแสของ พล.อ.ประยุทธ์ แรงมาก ในฝั่งอนุรักษนิยมเลือก พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐก็มา 10-12 ที่นั่งใน กทม. แต่ปี 2566 จะรู้สึกได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่แม่เหล็กเหมือนเดิม พล.อ.ประวิตรก็ไม่ใช่แม่เหล็ก พรรครวมไทยสร้างชาติ บวกกับพรรคพลังประชารัฐ อาจจะกินกันเองใน กทม.ด้วยซ้ำ และทำให้ทั้งสองพรรคไม่เข้าวิน

กทม.จะออกฝ่ายประชาธิปไตย เสรีนิยม คาดว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย หรือพรรคก้าวไกลมากกว่าที่จะเข้าวิน ชุมชนที่ผมลงไป บ้านมีรั้วก็บอกว่า 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ พอแล้ว สถิติ 2566 คงต้องคุยกันเรื่องโพล เอาเรื่องโพลต่าง ๆ มาเปรียบเทียบกัน

การวิเคราะห์สนาม กทม. จะต้องเอาการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เข้าไปรวมด้วย เพราะเห็นชัดว่าการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ระดับชุมชน ส.ก.ของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่เป็นฝ่ายรัฐบาลหายไปหมดเหลือ 2 ประชาธิปัตย์มา 4-6 ที่เหลือของพรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล แม้การต่อสู้ระดับชุมชนที่ต่อสู้กันหนัก มีทั้งกระสุนจริงและสีเทา แต่มันชัดเจนอยู่ว่าชุมชนคะแนนแตก แต่กระแสใหญ่มากลายเป็นคะแนนของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หมด เพราะคนต้องการเปลี่ยนแปลง

เพื่อไทย ไม่แลนด์สไลด์

“พรรคก้าวไกล ประกาศชัด หวัง กทม.กับหัวเมืองเขต 1 ทั้งหมด พรรคเพื่อไทยเหมือนกัน เขาเข้าถึงชนบทได้ ด้วยนโยบายข้าวเดิม แต่เข้าถึงหัวเมืองด้วยเพราะเพื่อไทยเชื่อว่า คนต้องการเปลี่ยนแปลง เชื่อว่า ทุกพรรคที่ทำโพลแม่นที่สุดคือโพลที่ถือที่ดูไบ แต่ผมไม่เชื่อว่าแลนด์สไลด์ ไม่ได้เกิน 250 หรือ 310 แต่มู้ดนี้ เพื่อไทยยังเป็นที่ 1”

ตอนทำพรรคสร้างอนาคตไทย ลงไปโฟกัสกรุ๊ปพบว่าความรู้สึกที่เปลี่ยนไปจาก 2562 เยอะ และเราทำโฟกัสกรุ๊ป พล.อ.ประยุทธ์กับพรรคพลังประชารัฐ ขายไม่ได้แล้วใน กทม. ถ้าวิเคราะห์พื้นฐานจากปี 2562 ถ้าเราแบ่งครึ่งระหว่าง รวมไทยสร้างชาติ และพลังประชารัฐ ทั้งสองพรรคไม่ร้อยแน่นอน

แต่เพื่อไทยยังเป็นปึกแผ่นที่ร้อยกว่า ขณะนี้เขาเชื่อกันว่า เพื่อไทยจะอยู่ที่ 200 บวกลบ 20 พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ มาคนละ 60 คน แล้วใครจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มันยากเหมือนกัน เมื่อสู้กันกับ 200 บวกลบ 20 ของพรรคเพื่อไทย

“ขณะนี้คิดว่าการเลือกตั้งปี 2566 อยู่ที่คนเบื่อรัฐบาลแล้วอยากเปลี่ยนหรือไม่ ถ้าคนอยากเปลี่ยนรัฐบาล มันจะไม่ใช่เสรีนิยมหรือเผด็จการ คนจะดูว่าพรรคไหนเสนอนโยบายอะไร หรือพรรคไหนที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล หรือถ้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลอย่างภูมิใจไทย หรือพรรคชาติไทยพัฒนา ถ้าเสนอนโยบายที่โดนใจก็มีสิทธิเลือกได้”

“สุรนันทน์” บอกว่า ยังมีสิ่งที่น่าห่วง คือ พอนโยบายพรรคการเมืองเป็นประชานิยมหมด ประชานิยมจนคนงง สุดท้ายคนในชุมชนก็จะคิดว่าก็เป็นนักการเมืองเหมือนกันทั้งหมด เมื่อเสนอนโยบายเหมือนกัน เขาแยกไม่ออก เขาก็รับเงินจากพรรคการเมืองที่ให้เงินดีกว่า ในต่างจังหวัดก็มีผล คนไทยคิดเป็นแต่อยากเลือกคนที่ดี แต่ก็มองว่าคนนี้ฝากลูกชั้นเข้าโรงเรียน ก็เลือกคนนี้ ไม่ใช่เรื่องนโยบาย เพราะประเทศไทยระบบอุปถัมภ์ฝังรากลึก

“พรรคการเมืองต้องพูดให้ชัดว่าจะเปลี่ยนโครงสร้างประเทศอย่างไรในวันข้างหน้า ข้างหน้าต่างหากที่คนอยากรู้จะใช้ชีวิตอย่างไรในโลกที่เปลี่ยนแปลง ทำอย่างไรให้เขามีเงิน จะดีกับการเมืองไทยในอนาคต ไม่ใช่มาแข่งตัวเลขกัน”

คนไม่เลือกเหมือนเดิม

ด้าน “ดร.สติธร” วิเคราะห์ว่า เมื่อมีจำนวนเขตมากขึ้น แน่นอนว่าจะมีจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคได้เพิ่ม แต่โอกาสจะไปอยู่ที่ใครก็อยู่ที่วิธีการแบ่งเขตด้วย ซึ่งหลาย ๆ ที่ดูเหมือนมีการจงใจมาก ๆ ในการที่จะเอาฐานคะแนนมารวมกัน ตนมักจะพูดเสมอในตอนที่มีการแบ่งเขตกันว่าจำเป็นต้องมีการไปตรวจสอบ

“สิ่งที่น่าติดตามต่อไปคือการย้ายพรรค ยกตัวอย่าง กรุงเทพฯเขต 1 เป็นเขตที่ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐเคยชนะ มาเป็นผู้สมัครพรรคเพื่อไทย ดังนั้น ผลการเลือกตั้งจะออกตามพรรค หรือออกตามผู้สมัคร นี่คือสิ่งที่ต้องติดตามต่อ”

อีกประเด็นคือพรรคเพื่อไทยฝันถึงแลนด์สไลด์ แปลว่าเขาฝันถึงวันวานอันหวานชื่นเมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นวันที่พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเยอะมาก แต่หายไปในปี 2562 น่าสนใจที่ว่าคะแนนหายไปตรงไหนบ้าง และวันนี้ปี 2566 มีโอกาสไปกู้คืนได้หรือไม่ ถ้าหายไปให้พรรคอนาคตใหม่ฐานเสียงเดียวกันยังพอเอาคืนมาได้ แต่ถ้าหายไปให้พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ ทำอย่างไร และคนจะเลือกเหมือนเดิมหรือ คิดว่านี่ก็เป็นอีกชุดข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ

วิเคราะห์เป้า 310 เพื่อไทย

พรรคเพื่อไทย ขยับยอดแลนด์สไลด์ 250 ที่นั่ง มาเป็น 310 เสียง เพื่อเป็นรัฐบาลพรรคเดียว-ข้ามกับดัก ส.ว. “ดร.สติธร” วิเคราะห์เชิงลึก อ่านใจเพื่อไทยว่า มีความเป็นไปได้ไหม 310 ว่า ยังมีความหวังลึกมาก ๆ โพลที่แม่นที่สุดอยู่ที่ดูไบ และรู้ว่าไม่ใช่ 310 แต่เลขนี้มีความหมายรุกฆาต

โดยรุกฆาตตัวแรกไปที่พรรคก้าวไกล เพราะถ้าเป้าหมายจะแลนด์สไลด์สำเร็จ ต้องเอาคะแนนที่พรรคก้าวไกลเคยแชร์ไปเมื่อตอนปี 2562 กลับคืนมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งได้ 6.3 ล้านเสียง หารด้วย 350 เขต ได้ประมาณ 18,000 คะแนนต่อเขต

ซึ่งแปลว่านี่คือคะแนนที่พรรคเพื่อไทยเคยได้เมื่อปี 2554 แล้วจะเอาคืนมาได้อย่างไร ถ้าเอาคืนมาได้จะมีโอกาสแลนด์สไลด์ขนาดไหน ต้องไปดูที่ปี 2554 พรรคเพื่อไทยเคยชนะเลือกตั้ง 204 เขต ถ้าเทียบกับปีนี้คือ 210 เขตโดยประมาณ วันนี้ต้องเอาคะแนนจากพรรคก้าวไกลมาครึ่งเดียวก่อน 210 เขตมีโอกาสแล้วไปลุ้นกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

นอกจากนี้ ตัวเลข 310 คือหนึ่งในกระบวนการที่จะนำไปสู่การจูงใจให้คนอยากจะเลือกเชิงยุทธศาสตร์ เพราะเมื่อวาง 310 ลงไปแล้ว คนในฝ่ายเสรีนิยมคิดว่ามันเป็นไปได้ แปลว่าต้องทำให้พรรคเพื่อไทยชนะด้วยตัวเลขเท่านี้ใช่หรือไม่ แปลว่าเขตก็ต้องยกให้พรรคเพื่อไทยไปเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่พรรคก้าวไกลก็ต้องปลอบใจด้วย ส.ส.บัญชีรายชื่อ

“พอวางยุทธศาสตร์ 310 เสียง วันนี้พรรคก้าวไกลปวดหัว เพราะนอกจาก 310 เขากระแทกด้วยนโยบายชุดใหญ่ อะไรที่มันไม่ทะลุหลังคาที่ก้าวไกลเคยพูดไว้ เพื่อไทยเอามาหมดเลย แปลว่าเกมนี้คือบีบให้ก้าวไกลไปทะลุหลังคาอีกเพื่อแยกโหวตเตอร์ นี่คือแผนระดมเสียงที่ต้องการเรียกคืนส่วนที่เคยถูกแชร์ไปเมื่อปี 2562”

“อีกส่วนหนึ่ง 310 ก็จะไปกระแทกบรรดาพรรคที่คิดยุทธศาสตร์รอบนี้ว่าอย่างไรก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีสองพรรคหลัก (พรรคภูมิใจไทย กับพรรคพลังประชารัฐ) ตอนนี้ เพราะตัวเลข 310 อาจจะพรรคใดพรรคหนึ่งก็พอ ไม่จำเป็นต้องเอามาทั้งคู่ แปลว่าการที่จะไปหาเสียงว่าพรรคเราอย่างไรก็ร่วมรัฐบาล ไม่ว่าขั้วไหนมา มันจะดรอปลงในเชิงกระแส”
ลุงตู่-ลุงป้อม ตัวเลือกคนไทย

ขณะที่ รศ.ดร.ธนพร ได้นำ 2 ตัวแปร 1.ตัวแปรผลการเลือกตั้ง 2562 ใส่ลงไปถึงระดับตำบล 2.คือเขตเลือกตั้งที่แบ่งใหม่ มาคำนวณ จนได้ภาพการเมืองหลังเลือกตั้ง 2566

“การแบ่งเขตครั้งนี้ 350 เป็น 400 มันมีผลต่อการเลือกตั้ง ขั้วลุงตู่ยังได้ไปต่อ 264 เสียง พลังประชารัฐ ได้ 142 ภูมิใจไทย 59 ประชาธิปัตย์ 48 ชาติไทยพัฒนา 9 รวมพลังประชาชาติไทย 2 เศรษฐกิจใหม่ 2 ชาติพัฒนา 1 พลังท้องถิ่นไท 1 รวม 264 การย้ายพรรค เกิดในขั้วเดียวกันเกิน 95% มีย้ายข้ามขั้วกรณีเดียวคือ “สามมิตร” ย้ายจากพลังประชารัฐ ไปเพื่อไทย แต่ที่เหลือขั้วเดียวกันหมด”

ประเด็นที่ 2 ขั้วฝ้ายค้านเดิม พอแบ่งเป็น 400 เขต เอาคะแนนปี 2562 เป็นตัวตั้ง ก็ยังคงเป็นฝ่ายค้านต่อไป เพื่อไทย 174 อนาคตใหม่ 48 ประชาชาติ 9 เสรีรวมไทย 3 เพื่อชาติ 2

“ในผลคะแนนที่ออกมา เรามักจะบอกว่าวันนี้เมืองไทยยังอยู่ในกรอบความคิด ‘เอาตู่ หรือไม่เอาตู่’ ตู่ไปต่อหรือจะเฉดหัว ในกรอบความคิดนี้จึงมี 3 ซีนาริโอ คือ 1.เพื่อไทยแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน ปิดสวิตช์ ส.ว. 376 เสียง ซึ่งจากผลการวิเคราะห์ตัวแปรทั้ง 2 ของผม ปิดสวิตช์ไม่สำเร็จ”

อันที่ 2 ลุงป้อมพยายามเดินหน้าอยู่ ปรองดอง ก้าวข้ามความขัดแย้ง เอาพลังประชารัฐ มาบวกกับเพื่อไทย เป็น 2 แกนนำหลักก่อน ก็ยังไม่เกิดขึ้น เพราะ 142+174 ได้ 316

ใครบอกลุงป้อมมี ส.ส.ในมือ 100 ผมกล้าเถียงขาดใจ มีตัวชี้วัดใครติดตามการเลือกองค์กรอิสระหนึ่ง ซึ่งวันนี้เข้าทำงานแล้ว คือ กสทช. คะแนนออกมา 197 ต่อ 53 ฟันธงว่า ส.ว.ลุงป้อม มี 53 ไม่เกินนี้ เพราะผมทราบดีว่าในการโหวตวันนั้นเกิดอะไรขึ้น 53 ไปบวกกับ 316 ยังไงก็ไม่ถึง 376 ไปไม่ได้ ดังนั้นในความเป็นจริง 142 ณ วันนี้ก็ไม่ใช่ของลุงป้อมหมด อาจจะหารครึ่งกับ ลุงตู่ รวมไทยสร้างชาติก็ได้ ฉะนั้นซีนาริโอที่ 2 “ไม่เอาตู่” ปิดไปอีกหนึ่ง


“ซีนาริโอที่ 3 ลุงตู่ไปต่อ หรือลุงป้อมเป็นนายกฯ วันนี้จากข้อมูลที่เราวิเคราะห์ เห็นด้วยไม่เห็นด้วย ชอบไม่ชอบ เอาไว้ในใจ แต่ตัวเลขปี 2562 ซึ่งนำมาใส่เป็นตัวแปรแบ่งเขตในปี 2566 แล้วนำวิธีคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ในปี 2566 มาคำนวณคะแนนเสียงที่ได้ วันนี้คนไทยมีทางเลือกแค่ 2 ทาง 1.ท่านจะรักลุงตู่หรือ ท่านจะดูแลลุงป้อม มีเท่านี้ เมื่อวานนี้ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล ก็เพิ่งไปออกรายการ ก็บอกแล้วว่า จับมือกับพลังประชารัฐ 2+2 ยอมพี่ตู่เป็นก่อน 2 ปี แล้วผมต่อก็ได้ นี่คือไฮไลต์”