ทักษิณกลับบ้านเมื่อไร ต้องขออนุญาตใคร ขอมาแล้วกี่ครั้ง

ทักษิณกลับบ้านเมื่อไร ต้องขออนุญาตใคร มาแล้วกี่ครั้ง

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ส่งสัญญาณ “ขออนุญาตกลับบ้าน” อีกครั้ง หลังจากแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 คลอดลูกชาย เป็นหลานคนที่ 7 ท่ามกลางคดีที่มีโทษจำคุกถึง 4 คดี

วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ทักษิณ ชินวัตร แจ้งข่าวดีและส่งสัญญาณ พร้อมประกาศ “ขออนุญาต” กลับบ้านอีกครั้ง ด้วยการทวีตข้อความว่า “เช้าวันนี้ ผมดีใจมากที่ได้หลานคนที่ 7 เป็นชายชื่อ ธาษิณ จากน้องอิ๊งค์ แพทองธาร หลานทั้ง 7 คน คลอดในขณะที่ผมต้องอยู่ต่างประเทศ ผมคงต้องขออนุญาตกลับไปเลี้ยงหลาน เพราะผมอายุจะ 74 ปี กรกฎาฯนี้แล้ว พบกันเร็ว ๆ นี้ ครับ ขออนุญาตนะครับ”

การส่งสัญญาณขออนุญาตกลับบ้านของทักษิณ ชินวัตร เกิดการค้นหาคำตอบมาตลอด 16 ปีที่ผ่านมา ว่าเขาส่งสัญญาณ ถึงใคร ? และคำตอบที่เขารอคอยอยู่นั้น มีแล้วหรือยัง ซึ่งในหลายครั้งมักจะมีบุคคลที่มีอำนาจออกมาปฏิเสธทั้งผ่านภาษาพูดและคำตอบเชิงสัญลักษณ์ ในหลายครั้ง อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งปฏิเสธหน้าฉากเสมอว่าไม่เคยเจรจา เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ให้สัมภาษณ์ทุกครั้งว่า ไม่เจรจา แต่ขอให้กลับมารับโทษทางคดี

ส่วนคำตอบของผู้มีอำนาจนอกเหนือโครงสร้างในรัฐธรรมนูญ หรือผู้มีอิทธิพลในฝ่ายอนุรักษนิยม ไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร มีแต่เสียงในพงศาวดารกระซิบ ว่ามีการเจรจาหลายครั้ง แต่ไม่บรรลุผล ไม่สามารถเข้าถึงอำนาจที่แท้จริง

ปี 2566 ขออนุญาตกลับบ้าน 4 ครั้ง

นับตั้งแต่ทักษิณ ชินวัตร กลับมาอยู่ในแผ่นดินไทยหลังรัฐประหาร 2549 ครั้งสุดท้ายด้วยการกราบแผ่นดิน หน้าสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2551 หลังพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง นับจากนั้นทักษิณไม่ได้กลับประเทศไทยอีกเลย กระทั่ง ถูกถอดยศตำรวจ ต่อสู้คดีอีกไม่ต่ำกว่า 4 คดี

ในปี 2566 ทักษิณ ให้เหตุผลการกลับบ้านทุกครั้งว่า เขาต้องการกลับมาเพื่อเลี้ยงหลาน ทั้ง 7 คน และเขาคาดว่าจะได้กลับหลังพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง

ครั้งแรก วันที่ 15 มกราคม 2566 ทักษิณ ไม่ได้กล่าวโดยตรงว่าจะกลับบ้าน แต่แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ประกาศแทนที่ จ.อุดรธานี ว่า “อยากให้กลับไปบอกคนที่ไม่ได้มาวันนี้ว่าเพื่อไทยมาแล้ว มาเพื่อบอกว่าเรามาสร้างความฝัน สร้างความหวัง ต้องไม่ใช่แค่ความฝันแต่ต้องเป็นความจริง … ลุงโทนี่จะได้กลับมาเลี้ยงหลานบ้าง”

ครั้งที่สอง วันที่ 25 มกราคม 2566 ทักษิณ ชินวัตร กล่าวผ่านรายการ CARE คิด เคลื่อนไทย ว่า “ยังไงก็กลับบ้าน กลับโดยไม่อาศัยพรรคใด รวมถึงเพื่อไทย จะไม่มีการออกกฎหมาย ไม่มีการเกี้ยเซี้ย กับพลังประชารัฐเพื่อออกกฎหมายแน่นอน จะอาศัยหัวใจของตัวเอง เรื่องจะให้ไปง้อคนคงยาก ช่วยเหลือตัวเองได้ ยังไงก็ต้องกลับ เพราะอยู่ต่างประเทศโดนกลั่นแกล้งตลอดเวลา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว จะเป็นคนประกาศเองว่าตนเองกลับเมื่อไหร่”

ครั้งสาม วันที่ 24 มีนาคม 2566 ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเกียวโด ระหว่างเดินทางอยู่ในญี่ปุ่นว่า เขาพร้อมที่จะรับโทษจำคุกในประเทศไทย “หากได้รับอนุญาต” ให้ใช้ชีวิตบั้นปลายกับครอบครัว ไม่ว่าผลการเลือกตั้งทั่วไปจะออกมาอย่างไร พร้อมระบุว่า “แม้ไม่ใช่ราคาที่ต้องจ่าย แต่ผมยอมจ่าย เพื่อให้ได้อยู่กับหลาน ๆ ผมควรจะใช้ชีวิตที่เหลือกับลูกหลาน”

ครั้งที่สี วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ทักษิณ ชินวัตร ที่งดให้ความเห็นทางการเมืองมานับเดือน ออกมาประกาศ “ขออนุญาต” กลับบ้านอีกครั้ง “เช้าวันนี้ ผมดีใจมากที่ได้หลานคนที่ 7 เป็นชายชื่อ ธาษิณ จากน้องอิ๊งค์ แพทองธาร หลานทั้ง 7 คน คลอดในขณะที่ผมต้องอยู่ต่างประเทศ ผมคงต้องขออนุญาตกลับไปเลี้ยงหลาน เพราะผมอายุจะ 74 ปี กรกฎาฯนี้แล้ว พบกันเร็ว ๆ นี้ ครับ ขออนุญาตนะครับ”

ปี 2565 ขอเปิดทางกลับบ้าน 3 ครั้ง

วันที่ 4 มกราคม 2565 ทักษิณกล่าวในรายการของกลุ่มแคร์ บอก 4 เงื่อนไข ขอกลับบ้านว่า 1.อยากเลี้ยงหลานในเวลาที่เหลือ 2.ใครเป็นรัฐบาลก็ช่าง ถ้าอยากให้ช่วยคิดแก้ปัญหาให้ ตนพร้อมไม่คิดเงิน 3.จะรับจ้างบรรยายให้โอเลี้ยงแก้วหนึ่งก็พอ 4.จะไปชวนบรรดาเศรษฐีในเมืองไทย มาลงขันช่วยส่งเสริมสตาร์ตอัพ

วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 วันเกิดของทักษิณ ได้ปล่อยคลิปสัมภาษณ์จากดูไบ บอกเหตุผลที่อยากกลับบ้านเพราะ “เห็นคุณหญิง (คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์) ผมสงสารคุณหญิง ผมตัดสินใจที่จะกลับเมืองไทย เพราะคุณหญิงรับภาระมาเยอะ รับภาระแทนผมมาเยอะ สงสาร เมื่อกลับไปแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างได้กลับไปอยู่กับครอบครัวแล้ว มันก็จบ ทุกอย่าง”

“ซึ่งวันนั้นผมกลับไปอยู่กับครอบครัวแล้ว ผมก็ต้องทำตัวให้แข็งแรงขึ้น เพื่อชดเชยเวลาที่หายไป …และผมเองผมสั่งครอบครัวแล้วนะ ตายไม่เผา ให้เก็บไว้ เก็บร่างไว้ ไม่ให้เผา นี่คือสิ่งที่ผมต้องการให้การต่อสู้ของผม ให้ชีวิตผมเป็นอมตะของครอบครัว ของลูกหลาน”

วันที่ 13 กันยายน 2565 ทักษิณกล่าวในรายการของกลุ่มแคร์อีกเช่นเคยว่า “ไม่มีใครรู้จักคุณหญิงพจมานดีเท่าผม ยืนยันว่าคุณหญิงไม่ชอบการเมือง ตอนผมจะลงเล่นการเมืองใหม่ ๆ คุณหญิงรู้สึกอึดอัดและไม่สนับสนุน แต่เมื่อลูกสาวเข้ามาทำหน้าที่ จึงไปให้กำลังใจลูกสาว โดยไม่มีนัยอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องวิเคราะห์ เพราะเป็นธรรมชาติของแม่ที่ไปให้กำลังใจลูก และเป็นครอบครัวที่อบอุ่นและให้กำลังใจกันแบบนี้มาตลอด”

“สำหรับผมเอง หากจะกลับบ้านไม่มีหมากอะไรหลายชั้น ไม่ต้องคิดว่าผมจะให้รัฐบาลเพื่อไทยเสนอนิรโทษกรรม ไม่มีแน่นอน มีหมากชั้นเดียวตื้น ๆ คือกลับ หรือไม่กลับ ดังนั้น นักวิเคราะห์ทั้งหลายอย่าคิดเยอะ”

ในรอบ 16 ปี ทักษิณ ขอเจรจากลับบ้านทุกปี

หลังจากวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 พรรคไทยรักไทย ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค จากพิษจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้ง ลงแข่งกับพรรคไทยรักไทย เพื่อหนีเกณฑ์ 20% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น ในกรณีที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียว

2 ธันวาคม 2551 พรรคพลังประชาชน ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค จากกรรมการบริหารพรรค (ยงยุทธ ติยะไพรัช) ทุจริตเลือกตั้ง

7 มีนาคม 2562 พรรคไทยรักษาชาติ ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค จากการเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ขัดรัฐธรรมนูญ

ในรอบ 16 ปี ที่ทักษิณ ส่งสัญญาณ-ขออนุญาตกลับบ้าน แทบทุกปี ทั้งด้วยตัวเองและคนในครอบครัวชินวัตร ทั้งผ่านเครือข่ายบุคคลที่มีอำนาจใน-นอกรัฐธรรมนูญ ดังนี้

ครั้งแรก หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้เดือนกว่า ๆ 26 ตุลาคม 2549 คุณหญิงพจมาน และนายบรรพจน์ ดามาพงศ์ เข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ ผ่านการประสานงาน พล.อ.อู้ด เบื้องบน อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายทหารคนสนิท พล.อ.เปรม ประมาณ 15 นาที รายงานข่าวระบุว่าเป็นการเพื่อให้ทักษิณได้กลับบ้าน

ครั้งที่สอง ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2552 มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งจตุพร พรหมพันธุ์ เปิดเผยเวลาต่อมาว่า ท่ามการกลางการเจรจายุติม็อบ มีวาระทักษิณ กลับบ้านเข้ามาเกี่ยวข้อง ในเดือนเมษายน 2552 และเมษายน-พฤษภาคม 2553

ครั้งที่สาม เป็นการวางแผนกลับบ้านผ่านการนิรโทษกรรมให้กับทักษิณ ชินวัตร ด้วยแผนที่เรียกกันว่า นิรโทษกรรมสุดซอย ส่งผลให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก

ทักษิณชนะแล้ว 2 คดี

ปัญหาทางคดีนับเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทักษิณ ไม่ต้องการกลับบ้านเพื่อติดคุก หรือต่อสู้ทางคดี แต่ขณะนี้ ทักษิณชนะแล้ว 2 คดี คือ ชนะคดีที่กรมสรรพากรฟ้อง กรณีประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 17,000 ล้านบาท

และศาลภาษีอากรกลางเพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2565

บีบีซีไทย รายงานว่า ณ เดือนมกราคม 2566 ทักษิณ ชินวัตร ถูกกล่าวหาในคดีความทั้งจากศาลและ ป.ป.ช. ตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2549 จนถึง 2564 รวม 8 คดี เป็นคดีที่พิพากษาแล้ว 4 คดี รวมโทษจำคุก 12 ปี

คดีทักษิณ ที่พิพากษาจำคุก 4 คดี รวมโทษคุก 12 ปี

  • คดีทุจริตโครงการหวยบนดิน ศาลพิพากษาว่านายทักษิณ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
  • คดีให้ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้เงินแก่เมียนมา 4,000 ล้านบาท ศาลพิพากษาว่า นายทักษิณ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) จำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา
  • คดีให้นอมินีถือหุ้นชินคอร์ป และเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการโทรคมนาคม ศาลพิพากษารวมโทษ จำคุก 5 ปี และศาลฎีกาออกหมายจับจำเลยมาเพื่อบังคับตามคำพิพากษา
  • คดีจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาลับหลัง ลงโทษจำคุก 2 ปี นายทักษิณ ชินวัตร ในคดีที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ขณะนั้น) ซื้อที่ดินรัชดาจำนวน 33 ไร่ 78 ตารางวา ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย 21 ต.ค. 2551

ยกฟ้องทักษิณ 2 คดี

  • คดีสั่งกระทรวงการคลังบริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ ยกฟ้องเมื่อปี 2562 เนื่องจากนายทักษิณไม่ได้มีเจตนาพิเศษในการให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารจัดการแผนทีพีไอ และไม่ได้แสวงผลประโยชน์ หรือกระทำการ ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต
  • คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานครโดยทุจริตวงเงินกว่า 9,000 ล้านบาท ศาลยกฟ้อง โดยศาลวินิจฉัยว่า ตามพยานที่ให้การแก่ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร 2549 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลฎีกาอ้างว่าคนสั่งการคือ “ซูเปอร์บอส” หรือ “บิ๊กบอส” ไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้ว่าคือนายทักษิณ หรือคุณหญิงพจมาน

คดีที่ ป.ป.ช. กำลังไต่สวน 2 คดี

  • คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) อีก 4 สัญญา สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือที่เรียกว่าคดีข้าวจีทูจีลอต 2 โดย ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหานายทักษิณเพิ่มเติม โดยกล่าวหาว่านายทักษิณ มีบทบาทและอยู่เบื้องหลังในการสั่งการให้มีโครงการระบายข้าวจีทูจี โดยอ้างหลักฐานเป็นการสนทนาผ่านวิดีโอลิงก์ ที่โรงแรม เอส.ซี.ปาร์ค
  • คดีอนุมัติการสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 จำนวน 4 ลำ เมื่อปี 2545-2547 และปี 2554 อนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบิน จำนวน 75 ลำ ไม่คุ้มค่า ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ป.ป.ช.กล่าวหานายทักษิณ พร้อมพวกรวม 5 ราย

หลังจากทักษิณ พ้นแผ่นดินไทยไปแล้ว มีการเลือกตั้งแล้ว 3 รอบ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 การส่งสัญญาณ “ขออนุญาต” กลับบ้านก่อนการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 บนพื้นฐานโพลของพรรคเพื่อไทย ที่คาดว่าจะชนะแบบแผ่นดินถล่ม นับว่าเป็นอีกครั้งที่เป็นคำขอที่มีน้ำหนัก !!