เลือกตั้งล่วงหน้า 2566 : รวมปัญหาที่ทำโลกออนไลน์ถาม #กกตมีไว้ทำไม

เลือกตั้งล่วงหน้า 2566 บรรยากาศ คูหา ปัญหา

การเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 กับสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นหลังการไปใช้สิทธิลงคะแนน จนโลกออนไลน์ถกถาม #กกตมีไว้ทำไม ถึงขั้น #กกตต้องติดคุก

ผ่านพ้นไปแล้วกับการเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 เมื่อวานนี้ (7 พ.ค. 2566) ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้ามากกว่า 2 ล้านคน ท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้นสารพัดตั้งแต่ก่อนการลงคะแนนเลือกตั้ง

จนถึงวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ยังคงมีปัญหาร้อยแปดพันประการที่เกิดขึ้นกับการจัดการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่ทำให้ใครหลายคนหัวร้อนสู้กับอากาศที่ร้อนอย่างมากในวันดังกล่าว และทำให้เกิดแฮชแท็กบนโลกออนไลน์ที่ว่า #กกตมีไว้ทำไม ไปจนถึง #กกตต้องติดคุก

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมทุกปัญหาใหญ่ที่เกิดในการเลือกตั้งล่วงหน้า 2566

เหตุเกิด ณ หน่วยเลือกตั้ง

ข้อมูลจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ซึ่งรวบรวมการแจ้งปัญหาจากประชาชนที่พบในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า

ปัญหาหลัก ๆ ที่พบในหน่วยเลือกตั้ง มีตั้งแต่การลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่พบรายชื่อผู้ใช้สิทธิของตนเองในบัญชีรายชื่อเลือกตั้งล่วงหน้า ทำให้หลาย ๆ คนเสียเวลา เสียความรู้สึก และต้องรอกลับไปเลือกตั้งที่บ้านของตนเองในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

นอกจากนี้ ยังมีปัญหา การแปะรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.และพรรคการเมือง ที่มีทั้งการแปะที่ไม่เป็นระเบียบ สร้างความสับสน ไปจนถึงรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.และพรรคการเมือง มีผู้สมัครบางรายหายไป หนึ่งในพรรคที่พบรายชื่อผู้สมัครหายไปจำนวนมาก คือ พรรคก้าวไกล

ธนัญญา แท่นแก้ว ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล เขต 4 จ.สุรินทร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงเรื่องที่ได้รับแจ้งจากประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า โดยระบุว่า “หน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า นอกเขต จ.ชลบุรี โรงเรียนพานทองสภาชนูปถัมภ์ อ.พานทอง จ.ชลบุรี ในหน่วยเลือกตั้งของ จ.สุรินทร์ เขต 4 ช่อง 37 รายชื่อบนบอร์ดหน้าหน่วยไม่มีพรรคก้าวไกล”

ซองบัตรเลือกตั้ง เดี่ยวเขตผิด เดี๋ยวเลขผิด

ปัญหาเรื่องซองบัตรเลือกตั้ง คือปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวานนี้ (7 พ.ค. 2566) โดยข้อมูลจาก iLaw ที่รวบรวมไว้ พบว่ามีการระบุเขตบนซองบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าผิด จนถึงการไม่ระบุรหัสเขตเลือกตั้งบนหน้าซอง ไม่น้อยกว่า 16 แห่ง ทั่ว กทม.-ปริมณฑล และต่างจังหวัด

ปัญหาการระบุเขตเลือกตั้งบนซองผิด มีตั้งแต่การระบุรหัสเขตเลือกตั้งเป็นรหัสไปรษณีย์ ระบุรหัสเขตผิด จากเขตหนึ่งไปเป็นอีกเขตหนึ่ง จนถึงการไม่ระบุรหัสเขตบนหน้าซองเลย ทำให้มีหลายเขตเลือกตั้งที่ผู้ไปใช้สิทธิทักท้วง และรอตรวจสอบพร้อมกับกรรมการ และ กกต.ที่อยู่ประจำหน่วยเลือกตั้ง หลังการปิดหีบเลือกตั้ง

เหตุการณ์ใหญ่ ๆ ที่เกิดขึ้น มีตั้งแต่กรณีที่สนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า เขต 2 จ.สุรินทร์ ทักท้วงกับกรรมการประจำหน่วย ว่ามีการระบุเขตผิด จากเขต 2 เป็นเขต 6 โดยหลังจากตรวจสอบ พบว่ามีจำนวนซองที่ระบุผิดมากถึง 380 ซอง จากจำนวนผู้ใช้สิทธิ 481 ซอง

รวมถึงกรณีที่ จ.นนทบุรี ระบุเขตผิด จากเขต 2 เป็นเขต 4 และบางซองระบุเป็นรหัสไปรษณีย์แทน รวมกว่า 100 ซอง และกรณีที่สำนักงานเขตห้วยขวาง และที่ว่าการอำเภอบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ไม่ระบุรหัสเขตเลือกตั้งลงบนหน้าซอง

ปัญหาอื่น ๆ

นอกจากปัญหาใหญ่ ๆ เหล่านี้แล้ว ยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาในช่วงการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ทั้งระบบ QR Code ล่ม ที่หน่วยเลือกตั้งกลาง เขตปทุมวัน ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน ความสับสนเรื่องสถานที่เลือกตั้งล่วงหน้าในบางหน่วย จนถึงปัญหาที่เจ้าหน้าที่ระบุเขตเลือกตั้งผิด หรือเจ้าหน้าที่ทำบัตรเลือกตั้งฉีกขาด จนทำให้เกิดความสงสัยว่าจะเป็นบัตรเสียหรือไม่?

และอีกเรื่องใหญ่ที่สังคมสนใจ คือ กรณีผู้พิการทางการมองเห็น ไปเลือกตั้งล่วงหน้า แล้วเจ้าหน้าที่ไม่ให้แฟนของผู้ใช้สิทธิเข้าไปช่วย แต่เจ้าหน้าที่กาให้เอง และไม่ให้จับบัตรลงคะแนนที่มีอักษรเบรลล์เพื่อตรวจสอบ

นอกจากนี้ ยังมีเคสกรณีบางพื้นที่มีผู้สูงอายุไปเลือกตั้งล่วงหน้ามากผิดปกติ และการมีรถรับ-ส่งผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า จนทำให้เกิดความสงสัยว่า มีการเก็บค่าโดยสารด้วย หรือให้นั่งฟรี เหมือนเป็นการเกณฑ์คนมาเลือกตั้ง

และการเขียนชื่อจังหวัดบนใบปะหน้าผิด ตั้งแต่ พะเยา เป็น พเยาว์-พระเยา หรือการเขียนชื่อจังหวัดผิด จาก หนองบัวลำภู เป็น หนองบัวลำพูน

โลกออนไลน์ถกถาม #กกตมีไว้ทำไม

จากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งล่วงหน้า ทำให้เกิดการพูดคุยและถกถามบนโลกออนไลน์อย่างมาก จนทำให้มีแฮชแท็กเกิดขึ้น ทั้ง #กกตมีไว้ทำไม #กกตต้องรับผิดชอบ ไปจนถึงการเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปแจ้งความดำเนินคดี เอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ผ่านแฮชแท็ก #กกตต้องติดคุก

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

งบฯเลือกตั้ง’66 ก้อนใหญ่ไม่ใช่เล่น ๆ

ย้อนกลับไปเมื่อ 24 มกราคม 2566 คณะรัฐมนตรี อนุมัติงบประมาณจำนวน 5,945,161,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งมากกว่าการเลือกตั้งปี 2562 ที่ใช้งบประมาณทั้งหมด 4,220,785,070 บาท

ขณะเดียวกัน พระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มีการกำหนดเงินเดือนของ กกต. ดังนี้

ประธานกรรมการการเลือกตั้ง

  • เงินเดือน 81,920 บาท
  • เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท
  • รวม 131,920 บาท/เดือน

กรรมการการเลือกตั้ง

  • เงินเดือน 80,540 บาท
  • เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท
  • รวม 123,040 บาท/เดือน

ทำให้เกิดคำถามใหญ่ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบัน ทำงานสมกับเงินเดือนและความคาดหวังจากประชาชนผู้เสียภาษีเพื่อเป็นเงินเดือนให้กับคนทำงานชุดนี้หรือไม่?

อย่างไรก็ตาม จากนี้ต้องติดตามการเลือกตั้ง 2566 โดยเฉพาะการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่จะถึงนี้ว่า จะมีความผิดปกติหรือปัญหา อุปสรรคอะไรเกิดขึ้นอีกหรือไม่