อวสานอำนาจพรรค 3 ป. ประวิตร-ประยุทธ์ แพ้เลือกตั้งย่อยยับ

3 ป.

และแล้วอำนาจ 3 ป.ก็เดินมาถึงจุดจบ-อวสานจากความพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ถูกฝังกลบ

3,277 วัน นับตั้งแต่ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ 3 ป. สืบทอดอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่าน “นั่งร้าน” 2 พรรคการเมือง

พรรคแรก-พรรคพลังประชารัฐ นำโดยกลุ่มสี่กุมาร ปักธงชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ด้วยคะแนนเสียง 116 ที่นั่ง ผนึกกับเสียง ส.ว. 250 คน ส่ง พล.อ.ประยุทธ์ เข้าทำเนียบรัฐบาล เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง

ทว่าแรงกระเพื่อมภายในพรรค กลายเป็นชนวนจุดระเบิดให้ต้องแยก 2 ป.-แยก ส.ส.ออกเป็น 2 พรรค

รวมไทยสร้างชาติ “พรรคแตก”

ทว่าผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พรรค “นั่งร้านแห่งที่สอง” ของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างรวมไทยสร้างชาติ ไม่สามารถแจ้งเกิดจาก “พรรคใหม่” เป็น “พรรคใหญ่” ได้ เพราะตัวเลข ส.ส.อย่างไม่เป็นทางการ 36 ที่นั่ง ประกอบด้วย

ส.ส.เขต 23 ที่นั่ง นราธิวาส นายวัชระ ยาวอหะซัน เขต 1 สงขลา นายศาสตรา ศรีปาน เขต 2 พัทลุง นายนิติศักดิ์ ธรรมเพชร เขต 2 ตรัง นายถนอมพงศ์ หลีกภัย เขต 1

นครศรีธรรมราช น.ส.พิมพ์ภัทราวิชัยกุล เขต 10 สุราษฎร์ธานี น.ส.กานสินี โอภาสรังค์ เขต 1 นายพิพิธ รัตนรักษ์ เขต 2 น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ เขต 3 นายพันธ์ศักดิ์ บุญแทน เขต 4 นายปรเมษฐ์ จินา เขต 5 นายธานินท์ นวลวัฒน์ เขต 7

ชุมพร นายวิชัย สุดสวาสดิ์ เขต 1 นายสันต์ แซ่ตั้ง เขต 2 นายสุพล จุลใส เขต 3 เพชรบุรี นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ เขต 1 จ่าอากาศเอกอภิชาต แก้วโกศล เขต 3 ราชบุรี น.ส.กุลวลี นพอมรบดี เขต 1 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ เขต 4

ชลบุรี นายจิรวุฒิ สิงห์โตทอง เขต 4 นครปฐม พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร เขต 2 ชัยนาท นายอนุชา นาคาศัย เขต 1 นครสวรรค์ นายสัญญา นิลสุพรรณ เขต 3 พิษณุโลก นายพงษ์มนู ทองหนัก เขต 3

ขณะที่คะแนนบัญชีรายชื่อ 4,671,202 คะแนน คิดเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 13 คน ลำดับที่ 1 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ลำดับที่ 2 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ลำดับที่ 3 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ลำดับที่ 4 ม.ล.ชโยทิต กฤดากร

ลำดับที่ 5 นายสุชาติ ชมกลิ่น ลำดับที่ 6 นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ ลำดับที่ 7 นายวิทยา แก้วภราดัย ลำดับที่ 8 นายชัชวาลล์ คงอุดม ลำดับที่ 9 นายจุติ ไกรฤกษ์ ลำดับที่ 10 นายธนกร วังบุญคงชนะ ลำดับที่ 11 นายเกรียงยศ สุดลาภา ลำดับที่ 12 นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง และลำดับที่ 13 นายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์

ก่อนเลือกตั้ง พรรครวมไทยสร้างชาติ ตั้งเป้าหลอก 80-100 ที่นั่ง เป้าจริง 30-40 ที่นั่ง ขณะที่ “พื้นที่ปลอดภัย” ลำดับ 1-12 แม้ “พีระพันธุ์” จะแถลงข่าวว่า เนื่องจากเป็น “พรรคใหม่” ทุกคะแนนถือว่าเป็นความสำเร็จ

แต่ผลที่ออกมาอาจส่งผล พล.อ.ประยุทธ์ เปล่งวาจา “ผมพอแล้ว” อาจจะทำให้ “พรรคแตก” เลยก็เป็นได้

พปชร.“ขาใหญ่แยกย้าย”

ขณะที่ “พรรค ป.ผู้พี่” อย่างพลังประชารัฐที่เคยสร้างสถิติลงเลือกตั้งครั้งแรกกวาดเก้าอี้ ส.ส.ทะลุ 3 หลัก แต่เอฟเฟ็กต์จาก 2 ป.แยกพรรค การเลือกตั้ง 66 ตัวเลข ส.ส.อย่างไม่เป็นทางการเหลือเพียง 40-41 ที่นั่ง ประกอบด้วย

ส.ส.เขต 39 ที่นั่ง นราธิวาส นายมินทร์ มะยูโซ๊ะ เขต 2 นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ เขต 3 สงขลา นายชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว เขต 4 ปัตตานี นายคอซีย์ มามุ เขต 2 ตรัง นายทวี สุระบาล เขต 2 นครศรีธรรมราช นายสุธรรม จริตงาม เขต 6

พังงา นายฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ เขต 2 ชลบุรี นายสะถิระ เผือกพันธุ์ เขต 10 ฉะเชิงเทรา นายอรรถกร ศิริลัทธยากร เขต 2 ราชบุรี นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา เขต 2 นายจตุพร กมลพันธ์ทิพย์ เขต 3 นายชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ เขต 5 สระแก้ว นางขวัญเรือน เทียนทอง เขต 1 นางตรีนุช เทียนทอง เขต 2

สระบุรี นายองอาจ วงษ์ประยูร เขต 4 สิงห์บุรี นายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เขต 1 ร้อยเอ็ด นางรัชนี พลซื่อ เขต 3 มุกดาหาร นายวิริยะ ทองผา เขต 1 กาฬสินธุ์ นายจำลอง ภูนวนทา เขต 3

ชัยภูมิ น.ส.กาญจนา จังหวะ เขต 4 นายอัครแสนคีรี โลห์วีระ เขต 7 สกลนคร นายชัยมงคล ไชยรบ เขต 5 หนองคาย เขต 1 นายกระแสร์ ตระกูลพรพงศ์ เขต 1

เพชรบูรณ์ น.ส.พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ เขต 1 นายจักรัตน์ พั้วช่วย เขต 2 นายบุญชัย กิตติธาราทรัพย์ เขต 3 นายวรโชติ สุคนธ์ขจร เขต 4 นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ เขต 5 นายอัคร ทองใจสด เขต 6

กำแพงเพชร นายไผ่ ลิกค์ เขต 1 นายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ เขต 2 นายอนันต์ ผลอำนวย เขต 3 นายปริญญา ฤกษ์หร่าย เขต 4 ตาก นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข เขต 3

เชียงใหม่ นายนเรศ ธำรงทิพยคุณ เขต 9 แม่ฮ่องสอน นายปกรณ์ จีนาคำ เขต 1 พะเยา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เขต 1 นายอนุรัตน์ ตันบรรจง เขต 2 นายจีรเดช ศรีวิราช เขต 3

ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พล.อ.ประวิตร ได้เป็น ส.ส.เพียงคนเดียว

ก่อนเลือกตั้ง พล.อ.ประวิตรตั้งเป้าหมาย 150 ที่นั่ง โดยเป็นพื้นที่เซฟโซน 6 ล้านคะแนน หรือ 12 ที่นั่ง แต่ผลที่ออกมาอาจจะส่งพรรคพลังประชารัฐลงสู่ “จุดต่ำสุด” เป็นครั้งแรกนับจากตั้งพรรค

เมื่อพรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกลประกาศ “มีเรา ไม่มีลุง” และ “ไม่จับมือ” พรรคพลังประชารัฐ-พรรครวมไทยสร้างชาติ หากไม่มีอะไร “พลิกล็อก” พรรค “นั่งร้าน 3 ป.” จะกลายเป็น “พรรคฝ่ายค้าน” ไปโดยอัตโนมัติ

และต้องจับตาว่า หาก พล.อ.ประวิตร “วางมือ” หัวหน้ากลุ่ม-หัวหน้าก๊วนขาใหญ่อาจจะ “หนีตาย” แยกย้ายคืนรังพรรคเก่า โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ไปเป็นพรรครัฐบาลดีกว่าเป็นพรรคฝ่ายค้าน

บ้านใหญ่ล้ม-องครักษ์ตู่สอบตก

พล.อ.ประยุทธ์ ที่มี “สุชาติ ชมกลิ่น” แห่งบ้านใหม่ชมกลิ่น เป็น “ลมใต้ปีก” ได้ “จิรวุฒิ สิงห์โตทอง” ชลบุรี เขต 4 มาเพียงที่นั่งเดียว จากทั้งหมด 10 เก้าอี้

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ที่มี “วิรัช รัตนเศรษฐ” เป็นขุนพลข้างกาย พ่ายแพ้ยกจังหวัด ปิดตำนาน “บ้านใหญ่รัตนเศรษฐ” รวมถึง “บ้านใหญ่อัศวเหม” พ่ายแพ้แลนด์สไลด์

ขณะที่ “องครักษ์” ที่เคย “พิทักษ์” พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งใน-นอกสภา พาเหรดกัน “สอบตก-ยกชั้น” โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราชที่พรรครวมไทยสร้างชาติ สถาปนาเป็น “ฐานที่มั่น”

ทั้งนายสายัณห์ ยุติธรรม จังหวัดนครสวรรค์ นายนิโรธ สุนทรเลขา เขต 6 จังหวัดสงขลา นายพยม พรหมเพชร เขต 3 ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี เขต 4

ส่วนขุนพล-กุนซือข้างกาย พล.อ.ประวิตร ก็ไม่ผ่านเข้าสภาในระบบบัญชีรายชื่อ อย่างนายไพบูลย์ นิติตะวัน วิรัช รัตนเศรษฐ ทั้งอดีตกลุ่มสี่กุมาร อุตตม สาวนายน-สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

นับถอยหลังลงจากอำนาจ

สำหรับไทม์ไลน์-นับถอยหลังลงจากอำนาจ หลังจากวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง หรือกลางเดือนกรกฎาคม 2566

จากนั้นภายใน 15 วันให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก เพื่อประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมสภา และเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร

ก่อนเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 และจัดตั้งรัฐบาลเพื่อทูลเกล้าฯรายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์รักษาการต่อจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ทว่า จากผลการเลือกตั้งออกมา พรรคฝ่ายค้านเดิมที่มีพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำได้รับคะแนนถล่มทลาย แม้จะปิดสวิตช์ ส.ว.ไม่ได้ แต่ยากที่จะหักดิบมติมหาชน

2 ป.กลับบ้านเลี้ยงหลาน

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ สวมหัวโขนเพียงประธานยุทธศาสตร์และกำหนดแนวทางพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของรวมไทยสร้างชาติ จึงตกอยู่ในที่นั่ง “ขาลอย”

ในส่วนของ พล.อ.ประวิตร แตกต่างกับ พล.อ.ประยุทธ์ ตรงที่ พล.อ.ประวิตรยังคงมีเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ “ค้ำคอ” นับรวมถึง ป.ที่ 3 บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่ขอถอนสมออำนาจไปก่อนล่วงหน้าแล้ว


ทว่า “ระบอบประยุทธ์” ทั้งคณะยังฝังรากลึกอยู่ในองค์กรอิสระ-เครือข่าย อำมาตย์ ส.ว. ชนชั้นนำ อยู่ในทุกระดับ