พรรคร่วมรัฐบาล จ่อลงนาม MOU 22 พ.ค. ครบรอบ 9 ปีรัฐประหาร

8 พรรคร่วมรัฐบาล

8 พรรคร่วมรัฐบาล แถลงเตรียมเปิด MOU จัดตั้งรัฐบาล และเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ในวันครบรอบ 9 ปี รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2566

วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรคทั้ง 8 พรรคการเมือง ร่วมแถลงจัดตั้งรัฐบาล หลังจากนัดประชุมเจรจาและรับประทานอาหารค่ำร่วมกัน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่ร้านอาหาร Chez Miline ถนนสุโขทัย

ในช่วงแรกของการแถลง นายพิธาแถลงสาระสำคัญร่วมกัน 3 ข้อ ในการจัดตั้งรัฐบาล ประกอบด้วย

1.ทั้ง 8 พรรค 313 เสียง หนุนนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตามเสียงข้างมากจากผลการเลือกตั้ง

2.ทุกพรรคร่วมกันทำ MOU ในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อแสดงถึงการทำงานร่วมกัน และจะแถลงต่อสาธารณชนในวันที่ 22 พ.ค. 66 เพื่อแก้ไขวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ

3.ทุกพรรคจะจัดตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อจากรัฐบาลเดิมได้แบบไร้รอยต่อ

ทั้งนี้ นายพิธากล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลมีโรดแมป และเตรียมฉากทัศน์ในกรณีที่มีเรื่องที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นพร้อมทางแก้ไขและลดความเสี่ยงไว้แล้ว มั่นใจว่า 8 พรรค จะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้อย่างแน่นอน และจะสามารถหาเสียงสนับสนุนโหวตตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีได้อย่างแน่นอน

“คณะเจรจาและกรรมการเปลี่ยนผ่านที่มาจากทุกพรรคร่วมรัฐบาล จะวางฉากทัศน์ และจะบริหารฉากทัศน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เรามีแนวทางลดความเสี่ยงความไม่แน่นอนต่อการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งนี้ จำนวนเสียง 313 เสียง โดยปกติของระบอบประชาธิปไตยถือว่าเพียงพอ มากพอ ดังนั้นการหาให้ครบ 376 เสียงมาเพิ่มไม่สำคัญในตอนนี้” นายพิธากล่าว

นายพิธาตอบคำถาม ถึงจำนวนเสียงที่นั่งในสภาที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ว่านโยบายพรรคร่วมรัฐบาลต้องมิติการเมือง ปากท้อง ของประชาชน ส่วนกระทรวงต่าง ๆ เราเอาวาระประชาชนเป็นตัวตั้ง เอานโยบายเป็นตัวตั้ง หลาย ๆ นโยบาย กระจายที่ดินก็ดี รวม 8 กระทรวง ต้องเอาปัญหาประชาชนเป็นตัวตั้ง และว่า กระทรวงไหนสามารถทำงานร่วมกันเป็นเอกภาพได้ องคาพยพเดียวกัน

เมื่อถามว่า มีการพูดคุยกับพรรคเพื่อไทยเพื่อจัดกระทรวงกันแล้วหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า มีการพูดคุยกัน แต่ไม่ได้เน้นกระทรวงอะไร เน้นเรื่องวาระของทุกพรรคที่ได้หาเสียงไว้ สาเหตุที่หาเสียงไว้ เพราะวาระใกล้เคียงกัน แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง เมื่อตกผลึกได้ เป็นเรื่องที่ปลายเหตุ เอาเป้าหมายเป็นตัวตั้ง ดูว่าโครงสร้างเป็นอย่างไร คนที่จะมาทำงานควรเป็นอย่างไร ถ้าเอากระทรวงมาตั้ง ประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์อะไร

ผุ้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ถูกร้องเรียนเรื่องการถือหุ้นสื่อ และบัญชีทรัพย์สิน ที่สำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงาน ก.ก.ต. นายพิธาตอบว่า “ไม่กังวล และไม่ประมาท เข้าใจว่าการเมืองมีมิติไหนบ้าง ต้องรับให้ได้ทุกมิติ การเตรียมตัวสำคัญ เราต้องแยก ในเมื่อเป็นบุคคลสาธารณะ ต้องยอมรับการตรวจสอบ และเตรียมรับผลกระทบที่เกิดขึ้น”


ขณะที่เสียงการโหวตของวุฒิสภานั้น นายพิธากล่าวว่า ผลโหวตวุฒิสภา ต้องขอบคุณบางท่าน การตัดสินใจของท่าน เป็นเรื่องของระบอบประชาธิปไตย มีนิมิตหมายที่ดีพอสมควร หลังจาก 8-9 ปี สามารถเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุด