จับตาเกมหักขั้วรัฐบาลก้าวไกล เพื่อไทย หืดขึ้นคอหามือ ส.ว. 66 เสียง

จับตาเกมหักขั้วรัฐบาลก้าวไกล เพื่อไทย หืดขึ้นคอหามือ ส.ว.67 เสียง

การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ที่มีพรรคก้าวไกล เป็นแกนนำ รวม 6 พรรค 310 เสียง ยังต้องลุ้นหาเสียง ส.ว.ให้ได้อีก 66 เสียง เพื่อโหวต พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 376 เสียง ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30

วันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานไทม์ไลน์จัดตั้งรัฐบาลใหม่ หลังวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 และรู้ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ของ ส.ส.ระบบเขต 400 คน และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยพรรคที่ได้เสียงอันดับ 1 คือ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้จำนวน ส.ส.รวม 152 เสียง และพรรคเพื่อไทย (พ.ท.) ได้ 141 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง รวมทั้งพรรคเสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม พรรคละ 1 เสียง รวมเป็นว่าที่รัฐบาล 310 เสียง

ตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ 2560 ภายใน 60 วันหลังเลือกตั้ง เมื่อมีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ 95% หรือจำนวน 475 เสียง ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้งแล้ว ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก เพื่อเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกประธานสภา คาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2566

แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จากสมาชิก 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และวุฒิสมาชิก (ส.ว.) โดยจำนวนผู้โหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีเสียง 2 สภารวมกันไม่น้อยกว่า 376 เสียง จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการจัดตั้งรัฐบาล และจัดโผคณะรัฐมนตรี และทูลเกล้าฯ รายชื่อคณะรัฐมนตรี ในราวต้นเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เท่า ๆ กับในช่วงหลังการเลือกตั้ง 2562  คือประมาณ 2 เดือนครึ่งจึงจะได้เห็นโฉมหน้ารัฐบาลใหม่

ลุ้นดีล ส.ว. 66 เสียง-พรรคแกนนำอื่นพลิกขั้ว?

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กำหนดเวลาว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องเสร็จสิ้นเมื่อไร หากขั้วการเมือง 6 พรรค จำนวน 310 เสียง ที่มีพรรคก้าวไกล เป็นแกนนำ ไม่สามารถตกลงกันได้ รวมทั้งไม่สามารถหาจำนวนเสียง จาก ส.ว.ให้ได้อีก 66 เสียง ก็ไม่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้

อีกทั้งหากวุฒิสมาชิกไม่ลงมติ หรือ “งดออกเสียง” ก็จะส่งผลให้พรรคก้าวไกลและขั้วพรรคว่าที่รัฐบาลใหม่ ก็ไม่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เพราะมีเสียงไม่ถึงกึ่งของสมาชิกรัฐสภา ทำให้วาระรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงดำเนินต่อไป จนว่าจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ และนำ ครม.ใหม่เข้าถวายสัตย์ ครม.เก่า และพล.อ.ประยุทธ์ จึงจะสิ้นสุดวาระลง


จึงต้องติดตามการเจรจาทั้งในทางลับ และการหารืออย่างเป็นทางการ ของแกนนำพรรคก้าวไกล และเพื่อไทย และการดีลกับ ส.ว. เพื่อให้เกิดการเดินหน้าตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ และน่าจับตาว่า การจัดตั้งรัฐบาล 310 เสียง ที่ถือเป็นเสียงโหวตประชาชน กับการหักเกมของ ส.ว. 250 เสียง และความเคลื่อนไหวการเมืองที่จะเกิดขึ้น จากพรรคอันดับ 2 และอันดับรองลงมา จะพลิกเกมจัดตั้งรัฐบาลรอบใหม่ ได้หรือไม่