เปิดไทม์ไลน์รัฐบาลใหม่ หลังเลือกตั้ง ประยุทธ์ รักษาการถึง ครม.ถวายสัตย์

ไทม์ไลน์เลือกตั้ง 2566

ไทม์ไลน์การเมืองหลังวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 รัฐบาลรักษาการ เปิดประชุมสภา โหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปจนถึงโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาล และทูลเกล้าฯรายชื่อคณะรัฐมนตรี

วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานไทม์ไลน์การเมืองหลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 พรรคที่ชนะการเลือกตั้ง และพรรคที่ได้คะแนนรองลงมา จะมีช่วงเวลาในการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ประมาณ 2-3 เดือน ทั้งนี้ แบ่งระยะเวลาเป็น 60 วันหลังเลือกตั้ง ตามกฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 127 ระบุว่า

ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้ กกต. ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้ เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผลการเลือกตั้ง เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจํานวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่ง กกต.ต้องตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

ดังนั้น กกต.มีเวลารับรองผลเลือกตั้งจนถึง ช่วงต้นเดือน-กลางเดือนกรกฎาคม 2566 จากนั้นภายใน 15 วันนับแต่ กกต.ประกาศรับรองผล รัฐธรรมนูญมาตรา 121 กำหนดว่า ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก เพื่อประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมสภา จากนั้นจะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร

แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี และฟอร์มคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการเลือกนายกรัฐมนตรี และการตั้งคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด ซึ่งจะทำให้รัฐบาล ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จะรักษาการต่อจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

สำหรับขั้นตอนการเรียกประชุมรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. จำนวน 500 คน และ ส.ว.จำนวน 250 คน เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตามมาตรา 272 วรรคแรก โดยต้องได้เสียงสนับสนุนไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่ง หรือไม่น้อยกว่า 376 เสียง

ไทม์เลือกตั้ง 2566 รักษาการไปจนถึงมีนายกฯ และ ครม.ชุดใหม่

  • 14 พฤษภาคม 2566 เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
  • ภายใน 13 กรกฎาคม 2566 กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ครบ 500 คน
  • ก่อนสิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 เปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร โหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร
  • ปลายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2566 โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่
  • ต้นเดือนสิงหาคม 2566 จัดตั้งรัฐบาล ทูลเกล้าฯ รายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ทั้งนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันจะยังคงรักษาการต่อไปประมาณ 3 เดือน หลังจากมีการเลือกตั้ง จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ คาดว่าราวต้นเดือนสิงหาคม 2566

ด้านผลที่เกี่ยวข้องกับ ครม. เมื่อพ้นตำแหน่งแต่ยังอยู่ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อ (รักษาการ) จนกว่า ครม.ชุดใหม่จะเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ตำแหน่งต่าง ๆ เอกสารราชการ หรือการรายงานข่าวไม่จำเป็นต้องวงเล็บว่ารักษาการ สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ข้าราชการการเมืองทุกตำแหน่งยังปฏิบัติหน้าที่ได้ และจะพ้นตำแหน่งในวันเดียวกับที่ ครม.พ้นตำแหน่ง คือเมื่อมีการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณของ ครม.ชุดใหม่

ในระหว่างรักษาการหากมีรัฐมนตรีลาออก จะไม่กระทบ ครม.ที่เหลือ ยังสามารถประชุมได้ และนายกรัฐมนตรีก็ยังมีอำนาจในการปรับ ครม.ได้หากมีความจำเป็น ขณะที่เรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ครม.จะต้องดำเนินการภายใน 60 วัน นับจากวันที่ ครม.ใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณไปแล้ว

นอกจากนี้ ในเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม. จะต้องอยู่ในเงื่อนไขต่าง ๆ ดังนี้

1.ต้องไม่อนุมัติงาน หรืออนุมัติโครงการที่สร้างความผูกพันกับ ครม.ใหม่ ยกเว้นจะเป็นเรื่องที่อยู่ในงบประมาณประจำปีอยู่แล้ว

2.ต้องไม่แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พนักงาน หรือมีการให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.

3.ต้องไม่อนุมัติการใช้งบฯกลาง เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.

4.ต้องไม่ใช้ทรัพยากรหรือบุคลากรของรัฐกระทำการอันมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่ฝ่าฝืนระเบียบของ กกต. เช่น ต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ต้องไม่จัดโครงการที่เป็นการเอาเปรียบ ไม่มีการประชุม ครม.สัญจร ไม่มีการจัดประชุมโดยใช้งบฯของรัฐ เว้นแต่จะจัดตามวาระปกติอยู่แล้ว ไม่โอนงบประมาณเพื่อทำในลักษณะของแจกจ่ายให้ประชาชน และต้องไม่ใช้ทรัพยากรหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น