จับตาประชุมวุฒิสภา 250 เสียง นัดพิเศษหลังเลือกตั้ง

จับตาวุฒิสภา 250 เสียง นัดประชุมพิเศษ หลีงวันเลือกตั้ง

จับตานัดประชุมวุฒิสภา 250 เสียง หลังเลือกตั้ง คาดตั้งวงวิเคราะห์โหวตชื่อนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ใช้สิทธิครั้งสุดท้าย ก่อนหมดวาระ

วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 แหล่งข่าวจากวุฒิสภา (ส.ว.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 จะมีการประชุมนัดพิเศษวุฒิสภา ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) เพื่อทำหน้าที่พิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 126 (2) ซึ่งมีวาระสำคัญ เช่น ให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติคนใหม่ และให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

ทั้งนี้ คาดว่าวุฒิสมาชิกทั้ง 250 คน จะมาประชุมโดยพร้อมเพรียงเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งเพื่อลงมติ ตามวาระที่ประธานวุฒิสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย แจ้งตามหนังสือเรียกประชุม และจะเป็นการประชุมกลุ่มย่อย ๆ อย่างไม่เป็นทางการ จากสาขาอาชีพต่าง ๆ เพื่อเช็กเสียง ฟังความเห็นเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง และวางแนวทางสำหรับการโหวตชื่อนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ที่วุฒิสมาชิกจะได้ใช้สิทธิเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนหมดวาระ ในปี 2567

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ขณะนี้วงสนทนาของวุฒิสมาชิก บางส่วนแสดงความเห็น และท่าทีชัดเจนแล้ว ว่าจะโหวตฝ่ายรัฐบาลเก่า หรือฝ่ายรัฐบาลใหม่ (ขั้วฝ่ายค้านเดิม) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งต้องใช้เสียงของทั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) รวมกับเสียงวุฒิสภา (ส.ส.) ต้องไม่น้อยกว่า 376 เสียง

ก่อนหน้านี้ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ วุฒิสมาชิก เคยกล่าวว่า “ผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ส.ว.จะพิจารณาจากความรู้ ความสามารถ ความซื่อสัตย์ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเป็นผู้ที่รัก เคารพ และเทิดทูน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เท่านั้น… ส่วนถ้าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ปราศจากความเคารพชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ส.ว.ไม่เลือกครับ”

ส่วนนายคำนูณ สิทธิสมาน วุฒิสมาชิกอีกราย ระบุว่า “เวลาเขาให้เราเลือกตัวบุคคล เราจะพูดแต่เชิงหลักการว่าเป็นใครก็ได้ นาย ก. นาง ข. ที่รวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้แล้ว ส.ว. จะไม่เลือกเป็นอื่น ผมว่ามันยังไม่ใช่”

“เพราะการเลือกตัวบุคคลก็ต้องดูบุคคล ดูพรรคการเมืองที่เข้ามาประกอบเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ดูนโยบายแต่ละพรรคว่าเรารับได้หรือรับไม่ได้ประการใด และฟังคำอภิปรายก่อนขานชื่อเลือกนายกรัฐมนตรีก่อน”

อนึ่ง เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา ได้แถลงถึงพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. 2566 เพื่อให้วุฒิสภาประชุมเพื่อทำหน้าที่พิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 126 (2)

สืบเนื่องจากเมื่อวันพุธที่ 26 เมษายน 2566 ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา ครั้งที่ 9/2566 เป็นพิเศษ โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ทำหน้าที่ประธานของที่ประชุม โดยที่ประชุมได้พิจารณากรณีที่วุฒิสภาต้องประชุมเพื่อทำหน้าที่พิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

โดยให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (นายสถาพร วิสาพรหม ผู้ได้รับการเสนอชื่อ แทนนายณรงค์ รัฐอมฤต ที่พ้นจากตำแหน่ง) เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่าปัจจุบันมีกรรมการ ป.ป.ช. เหลืออยู่เพียง 6 คน ว่างลง 3 คน และจะพ้นจากตำแหน่งอีก 2 คน ในเดือนกันยายน 2566 จึงอาจส่งผลให้กรรมการ ป.ป.ช. เหลืออยู่ไม่ถึง 5 คน ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติได้

“กมธ.วิสามัญพิจารณาเหตุผลและความจำเป็นในกรณีดังกล่าวแล้ว จึงเห็นควรกราบเรียนประธานวุฒิสภาพิจารณาเพื่อมีดำรินำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อดำเนินการประชุมวุฒิสภา ตามมาตรา 123 (2) และวรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”

เพื่อให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. และพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในตำแหน่งอื่นที่ต้องดำเนินการไปในคราวเดียวกัน โดยเห็นควรกำหนดระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ ตามมาตรา 126 (2) ของรัฐธรรมนูญ ที่จะมีขึ้น ดังนี้

1.ให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. (นายสถาพร วิสาพรหม)

2.ให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (น.ส.ศิลักษณ์ ปั้นน่วม)

3.ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (นายชาย นครชัย)

4.ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (นายพศวัจณ์ กนกนาก)

5.ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. (แทน พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการสรรหา และเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2566 คณะกรรมการสรรหาได้เสนอรายงานต่อประธานวุฒิสภาแล้ว โดยเสนอชื่อนายสมบัติ ธรธรรม เป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช.)

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาเตรียมการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (นายชาย นครชัย) ป.ป.ช. (นายพศวัจณ์ กนกนาก และนายสมบัติ ธรธรรม)

โดยเห็นควรแนะนำที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งทั้ง 3 ตำแหน่งดังกล่าว  คือ 1.ผู้แทนคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา จำนวน 12 คน และ 2.ผู้แทนคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา จำนวน 3 คน มีกำหนดระยะเวลาการดำเนินการภายใน 60 วัน