เปิดสูตรลับ โหวตนายกฯ

เปิดสูตรลับโหวตนายกฯ

ไม่เพียงการจับขั้วรัฐบาลเท่านั้น ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52 ล้านคน แต่การปักธงว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี กลายเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจของกลุ่มสะวิงโหวต-กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ ในช่วงโค้งสุดท้าย 20 วันก่อนเลือกตั้ง

ดังนั้น “สูตรลับ” การโหวตนายกรัฐมนตรี ในสภาผู้แทนราษฎร ที่จะเกิดขึ้น หลังจากการเปิดสมัยประชุมสภาครั้งแรก ที่อยู่ในมือ-ในใจของแต่ละฝ่าย แต่ละขั้ว จึงยังไม่เป็นที่เปิดเผย

แน่นอนว่าขณะนี้ การหาเสียงเลือกตั้ง 2566 ทุกพรรคก็ต้องรณรงค์ให้เลือก ผู้ที่เสนอตัวเป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของแต่ละพรรค แต่ไม่ควรลืมว่า ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อหลังการเลือกตั้ง 2562 ก็เกือบจะ “เดดล็อก” เมื่อเพื่อไทยและแกนนำในขณะนั้น ลงมติให้โหวตชื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แทนที่จะลงมติให้กับแคนดิเดตพรรคเพื่อไทยที่เสนอไว้ถึง 3 ชื่อ

ดังนั้น คุณสมบัติของผู้ที่จะถูกเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ที่มีบทบัญญัติว่า ต้องมาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสมาชิก ส.ส. ที่มีอยู่ 500 คน ความหมายคือ ต้องเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคที่ได้ ส.ส. 25 ขึ้นไป จึงจะมีสิทธิเสนอชื่อในสภาผู้แทนฯ

และชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนนั้นจะต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร หรือ 50 คน หากองค์ประชุมครบ 500 คน

เฉพาะรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 ในวรรคสาม ที่บัญญัติว่า “มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร”

วิธีการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี โดยเปิดเผย ดังกล่าว จะเป็นการ “เปิดตัว” ส.ส. และ ส.ว.ที่ต้องออกเสียง หรือลงคะแนนด้วยการขานชื่อ เพื่อเผยให้เห็นโฉมหน้านักการเมืองทั้ง 2 สภา ที่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แบบตรงปกและแบบข้ามขั้ว หรือประกาศตัวเป็น ส.ส.งูเห่า

ไม่เพียงมาตรา 159 เท่านั้น ที่จะมัดให้ ส.ส.เลือกนายกรัฐมนตรีจากสภาล่าง แต่สภาสูง 250 เสียง นับเป็นตัวพลิกเกมที่จะโหวตนายกรัฐมนตรี ทั้งในบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเท่าที่มีอยู่ในสภา และโหวตเลือกบุคคลนอกบัญชีได้อีกทาง

ซึ่งเป็นไปตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 272 วรรคสอง เขียนว่า หากมีกรณีไม่อาจแต่งตั้งนายกฯ จากบุคคลที่เป็น “นายกฯ ในบัญชี” ของแต่ละพรรคการเมืองได้ สมาชิกทั้ง 2 สภา (ส.ส.-ส.ว.) รวมกันเท่าที่มีอยู่ สามารถเข้าชื่อต่อประธานรัฐสภา ให้รัฐสภามี “มติยกเว้น” ไม่ต้องเสนอชื่อ “นายกฯ ในบัญชี” ของแต่ละพรรคได้

หลังจากนั้น ประธานรัฐสภาต้องจัดให้ประชุมร่วม ส.ส. และ ส.ว. หากมีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ให้ยกเว้นได้ ก็ให้ดำเนินการโหวตนายกฯ โดยจะเสนอชื่อผู้ที่เป็น “นายกฯ ในบัญชี” ของแต่ละพรรคการเมือง “หรือไม่ก็ได้” ชื่อ นายกรัฐมนตรีนอกบัญชี ก็จะเข้ามาสู่การโหวตในสภาผู้แทนฯ

แหล่งข่าวจากสมาชิกวุฒิสภารายหนึ่งเคยให้ความเห็นเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรีไว้ว่า “ถึงแม้ว่า ส.ว.จะไม่ค้านเสียงส่วนใหญ่ แต่ถ้าเสนอคนไม่ดีมาเป็นนายกฯ ส.ว.อาจจะรวมพลังกันงดออกเสียง ต้องเปลี่ยนคนใหม่ ซึ่งถ้า ส.ว.งดออกเสียง เสียงโหวตนายกฯ ไม่ถึง 375 เสียง ยุ่งนะ”

ในขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตผู้จัดการรัฐบาล ต่อเนื่อง 2 สมัย ออกมาประกาศดักหน้าไว้แล้วว่า การจัดตั้งรัฐบาลใหม่นั้น ต้องถ่วงดุลอำนาจกันระหว่าง อำนาจ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง หรืออำนาจที่ซ่อนอยู่ในกลไกตามรัฐธรรมนูญ และถึงเวลานั้น จะมีอีกหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง และยังมองไม่เห็นในเวลานี้

“คนที่มีประสบการณ์การเมืองจะรู้ว่า ในการจัดตั้งรัฐบาลทุกครั้งที่ผ่านมา ล้วนมีเรื่องราวที่แปรเปลี่ยนไป ไม่เคยเป็นไปอย่างที่ประกาศไว้ในช่วงหาเสียงทั้งนั้น” พล.อ.ประวิตร ระบุไว้ในจดหมายเปิดผนึก

ก่อนหน้านี้ ส.ว.ระดับเพลย์เมกเกอร์อย่าง นายสมชาย แสวงการ เคยวิเคราะห์สูตรการโหวตนายกรัฐมนตรี ไว้ 3 สูตร ดังนี้

1.สูตรขั้วรัฐบาลเดิม อันประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ จะมาจับมือจัดตั้งรัฐบาลเป็นรอบที่ 2

2.สูตรที่ 2 ขั้วฝ่ายค้านปัจจุบันพลิกมาจัดตั้งรัฐบาล โดยมี พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล เป็นตัวนำ ได้เสียงมากเป็นอันดับหนึ่ง และรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล สูตรนี้ ถ้าพรรคเพื่อไทยยังมุ่งเรื่อง “ทักษิณกลับบ้าน” โดยไม่ต้องรับโทษทางคดี เชื่อว่า ส.ว.ไม่เอาด้วย และถ้าพรรคก้าวไกลยังต้องการ แก้รัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ส.ว.ก็ไม่เอาด้วย

3.สูตรที่ 3 คือ พรรคพลังประชารัฐ จับมือกับพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย จัดตั้งรัฐบาลเป็นขั้วที่ 3

สำหรับสูตรที่ 4 เป็นสูตรการโหวตที่วิเคราะห์คาดการณ์โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ต้องอาศัย ส.ส.งูเห่า เข้าร่วมขบวนการ “พลิกขั้ว” เพื่อไปสู่ “เดดล็อก” คือมีการโหวตนายกรัฐมนตรี ทั้ง ส.ส.และเสียง ส.ว. โดยมีขั้วอำนาจเก่าเป็นแกนนำ ก็จะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย 245 เสียง

แต่รัฐบาลเสียงข้างน้อยจะอยู่ได้เพียงไม่กี่เดือน ก็ต้องพัง เพราะจะมีการ “โหวตคว่ำ” กฎหมายงบประมาณรายจ่าย 2567 และรัฐบาลต้องลาออก ล้างไพ่ แต่จัดรัฐบาลใหม่ไม่ได้ ก็จะเกิดการเดดล็อกทางการเมือง ส่งผลให้เกิด “รัฐบาลรักษาการ” ยาวแบบไม่มีที่สิ้นสุด

สูตรที่ 5 ซึ่งเป็นไปตามนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ประกาศว่า จะสนับสนุนพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนจากประชาชนเป็นอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่หากพรรคที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคการเมืองอื่น ๆ มีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล

ส่วนสูตรที่ 5 รัฐบาลพรรคเดียว 310 เสียง โดยไม่พึ่งเสียง ส.ว.นั้น ยังเป็นสูตรที่ทุกพรรค ทุกฝ่าย เห็นว่าเป็นไปได้น้อยที่สุด ยกเว้นพรรคเพื่อไทย ที่ยังปักธงแลนด์สไลส์ แต่เพียงพรรคเดียว