เปิดแผนจับขั้วรัฐบาล เพื่อไทย-พลังประชารัฐ โอกาส-เสี่ยงเดดล็อกยาว

เปิดแผนจับขั้วรัฐบาล เพื่อไทย-พลังประชารัฐ

อีก 24 วัน ผลการเลือกตั้งจะปรากฏ บรรดาหัวหน้าพรรคและแกนนำเปิดแผนการจับขั้วรัฐบาลใหม่ โอกาสการดีลข้ามขั้ว หลังเลือกตั้ง 2566

ก่อนพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งจะประกาศ บรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดใหญ่ กะเกณฑ์การจัดตั้งรัฐบาลไว้หลายทาง อาทิ พลังประชารัฐจะเป็นแกนจับกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเป็นพรรคพี่-พรรคน้อง 2 ป.

หรือแกนนำพรรคขนาดกลาง-ถึงใหญ่รายหนึ่ง ที่เปิดทางเลือกไว้ว่า ขนาดของพรรค 70-85 เสียง สามารถร่วมรัฐบาลได้กับทั้ง 2 ขั้ว

แต่เมื่อพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งประกาศวันเลือกตั้งชัดเจน มีการเสนอชื่อ ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมกับเปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กลับมีข่าว “ดีลข้ามขั้ว” เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ไทม์ไลน์การเมืองหลังวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 จากนั้นจะมีการประกาศผู้ที่ชนะเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.ทั้งระบบเขต และระบบบัญชีรายชื่อให้ได้ 95% ของจำนวน ส.ส.ทั้งสภา 500 คน

เป็นไปตามบทบัญญัติ มาตรา 84 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ระบุว่า ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับเลือกตั้งถึงร้อยละเก้าสิบห้าของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดแล้ว หากมีความจำเป็นจะต้องเรียกประชุมรัฐสภา ก็ให้ดำเนินการเรียกประชุมรัฐสภาได้

โดยให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่ แต่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ครบตามจำนวน 500 คนโดยเร็ว

จากนั้นจะมีการเปิดสมัยประชุมสภา เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ด้วยการออกหนังสือเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 เพื่อโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แล้วจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ทั้งนี้ เป็นไปตามที่ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดไทม์ไลน์ของรัฐบาลใหม่ไว้ว่า

  • ต้นเดือนกรกฎาคม 2566 ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. 500 คน
  • กลางเดือนกรกฎาคม 2566 รัฐพิธีเปิดสภาผู้แทนราษฎร แต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร
  • ปลายเดือนกรกฎาคม 2566 โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีและรอโปรดเกล้าฯ
  • ปลายเดือนกรกฎาคม-ต้นเดือนสิงหาคม 2566 จัดตั้งรัฐบาล
  • เดือนสิงหาคม 2566 ทูลเกล้าฯ ชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
  • กลางเดือนสิงหาคม 2566 คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ถวายสัตย์ปฏิญาณ เข้ารับตำแหน่ง

คาดการณ์ใครจับขั้วจัดรัฐบาลกับใคร

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมคำให้สัมภาษณ์แกนนำและหัวหน้าพรรคสำคัญ ว่าจะจัดรัฐบาลกับพรรคใดบ้าง

  • พรรคเพื่อไทย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแกนนำระบุว่า ถ้าได้ 310 เสียงจะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว แต่ถ้าได้ 250 จะจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยจับขั้วกับ “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” หรือขั้วฝ่ายค้านในปัจจุบัน อาทิ ก้าวไกล เสรีรวมไทย ไม่ร่วมรัฐบาลอย่างเด็ดขาดกับพรรคที่มีส่วนร่วมกับการทำรัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา เช่น พรรคพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ
  • พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ไม่เคยระบุชัด แต่แกนนำพรรคเคยระบุไว้ว่า จะจัดรัฐบาลร่วมกับกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลเก่า แต่ไม่ปิดประตูร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ทั้งนี้ ขั้วรัฐบาลเก่า อาทิ พรรคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรครวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา
  • พรรครวมไทยสร้างชาติ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐนตรี เปิดเผยว่า ถ้าได้น้อยคงไม่มีพรรคไหนคบ แต่ถ้าได้จำนวนมาก นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค บอกว่าจะไม่ร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล
  • พรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีระกูล หัวหน้าพรรค บอกว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล เพราะนโยบายแก้ไข ม.112 แต่ไม่ได้ปิดทางจับมือกับขั้วเพื่อไทย และขั้วพลังประชารัฐ แต่ถ้าได้ ส.ส. 120 เสียง อาจต้องเป็นผู้นำฝ่ายค้าน
  • พรรคชาติพัฒนากล้า นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค เคยกล่าวว่า ร่วมงานกับขั้ว-พรรคไหนก็ได้ ที่มีนโยบายเข้ากันได้
  • พรรคไทยสร้างไทย โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ ระบุว่า ถ้าเพื่อไทยจับมือกับพลังประชารัฐ ขอไปเป็นพรรคฝ่ายค้าน
  • พรรคก้าวไกล ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ช่วยหาเสียง และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ประกาศไม่จับมือกับพรรคเผด็จการจำแลง ซึ่งน่าจะสื่อสารถึงพรรคพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ

ไม่ควรลืมว่า หากพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.ทั้งระบบเขต และระบบบัญชีรายชื่อ 255 เสียง อาจเสี่ยงที่จะเกิดการ “เดดล็อก” โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ โดยมีวุฒิสมาชิก 250 เสียง เป็นตัวหลัก-ตัวช่วย ให้ฝ่ายขั้วรัฐบาลเก่าขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย 245 เสียง

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว พูดถึงเดดล็อกไว้ว่า หากเพื่อไทยได้ ส.ส. 255 เสียง อาจเสี่ยงเกิดการดึง “ส.ส.งูเห่า” ต้องมีกลไกป้องกัน ส.ส.ไม่ให้ไหลออกจากพรรค

แต่หากเป็นเช่นนั้น รัฐบาลเสียงข้างน้อย 245 เสียง แต่เมื่อเปิดสมัยการประชุมสภา จะทำให้เกิดเสี่ยงที่จะเกิด “ล็อกถล่ม” เมื่อมีการโหวตคว่ำกฎหมายงบประมาณรายจ่าย 2567 ล็อกถล่มโดมิโนต่อไปคือ รัฐบาลต้องลาออก ล้างไพ่ จัดรัฐบาลใหม่ไม่ได้ ก็จะเกิดการเดดล็อกทางการเมือง ไปไม่ได้กลับไม่ถึง คือจัดรัฐบาลใหม่ไม่ได้ ส่งผลให้เกิด “รัฐบาลรักษาการ” ยาวแบบไม่มีที่สิ้นสุด

นี่คือซีนาริโอ ความน่ากลัว เดดล็อกของการจัดขั้วรัฐบาลไม่ได้