ธ.ก.ส. ตั้งเป้าระดมทุนใหม่ “เงินฝาก-สลาก” มูลค่ารวม 3.2 แสนล้าน

ธ.ก.ส.

ธ.ก.ส. ระดมทุนใหม่ มูลค่า 3.2 แสนล้าน ตั้งเป้าระดม “เงินฝาก” 1.2 แสนล้าน โต 7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ออกสลากใหม่ “มั่งมีทวีโชค-เกษียณมั่งคั่ง” ทดแทนครบกำหนดอีก 2 แสนล้าน ช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้

วันที่ 6 พฤษภาคม 2567 นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคาร ธ.ก.ส. และผู้จัดการธนาคาร ธ.ก.ส. รวมทั้งคณะกรรมการฝ่ายจัดการ ได้เชิญผู้จัดการสาขาทั่วประเทศและผู้อำนวยการจังหวัดฝ่ายภาค ประมาณ 2,000 คน มารับฟังนโยบายสำคัญ

โดยแผนธุรกิจของ ธ.ก.ส. ในปีบัญชี 2567/2568 (เม.ย. 2567-มี.ค. 2568) ตั้งเป้าวงเงินปล่อยสินเชื่อใหม่ 90,000 ล้านบาท เติบโต 5.13% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) จากปิดสิ้นปีบัญชี 2566/2567 (สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2567) มีพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ทั้งสิ้น 1.69 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะระดมเงินใหม่อีกมูลค่ารวม 320,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมาย 1. ระดมเงินฝากใหม่จำนวน 120,000 ล้านบาท เติบโต 7% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) จากสิ้นปีบัญชี 2566/2567 ธ.ก.ส. มีเงินฝากรวม 1.89 ล้านล้านบาท เงินฝากส่วนใหญ่คือเงินฝากเกษตรกร เงินฝากส่วนราชการ และเงินฝากของประชาชน ซึ่งสัดส่วนประมาณ 55% เป็นเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (CASA)

2. ออกสลากใหม่เพื่อทดแทนสลากมั่งมีทวีโชค กับ สลากเกษียณมั่งคั่ง ที่จะครบกำหนดประมาณ 2 แสนล้านบาท ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้

“ตอนนี้ ธ.ก.ส. มีพอร์ตเงินฝากมากกว่าพอร์ตสินเชื่อ อยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการดำรงสภาพคล่องที่แบงก์พึงทำ เพื่อเป็นฐานของความมั่นคง และเป็นไปตามเกณฑ์อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ของ ธปท. และนี่คือแผนธุรกิจใหญ่ ๆ ของ ธ.ก.ส. ในเรื่องของการใช้ไปของเงินทุน (Uses of Funds) กับแหล่งที่มาของเงินทุน (Sources of Funds) เพื่อธุรกิจ ธ.ก.ส. ในปีบัญชี 2567/2568“ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว

Advertisment

สำหรับสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปิดสิ้นปีบัญชี 2566/2567 ธ.ก.ส.มีหนี้เสียสัดส่วน 5.41% มูลหนี้ประมาณ 90,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดีตั้งเป้าในปีบัญชี 2567/2568 จะลดหนี้เสียลงมาเหลือ สัดส่วน 3.69% โดยหากการผลิตของเกษตรกรเป็นไปตามแผนของ ธ.ก.ส. จะช่วยให้เอ็นพีแอลลดลงได้ ประกอบกับเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้สิน ธ.ก.ส. ก็จะเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะเป็น NPL

ซึ่งปัจจุบัน ธ.ก.ส. มีจำนวนลูกหนี้ทั้งหมด 4 ล้านราย มูลหนี้รวม 1.68 แสนล้านบาท เป็นกลุ่มลูกหนี้ปกติ 5.4 หมื่นล้านบาท กลุ่มลูกหนี้ที่มีการค้างชำระเกิน 30 วัน แต่ยังไม่เกิน 90 วัน (SM) 2.4 หมื่นล้านบาท และลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอล 90,000 ล้านบาท

Advertisment

“ธ.ก.ส. จะพยายามไม่ให้พี่น้องเกษตรกรเป็น NPL เพราะจะเสียโอกาสหลายอย่าง ทั้งดอกเบี้ยสูงขึ้น และเครดิตที่มีต้องเริ่มต้นใหม่ ดังนั้นลูกหนี้ปกติและ SM เราจะไม่รอให้เขาตกเป็น NPL โดยเราจะเข้าไปตรวจสอบ หากเดือดร้อนจริง จะปรับโครงสร้างหนี้ โดยขยายจากหนี้ระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาว เพื่อดำรงชั้นหนี้ของลูกหนี้ไว้ระดับเดิม หรือเรียกว่าเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ดี” รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว