
การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่น ดำเนินการเป็นจุดที่ 2 แล้วที่โรงแรมน้ำทองน่าน อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน นำทีมโดย “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าและงานหัตถกรรม (Coaching) ผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์”
รวมพลังบิ๊กข้าราชการเมืองน่าน-ดีไซเนอร์
ซึ่งคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก ได้สนองแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โค้ชชิ่ง “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” ให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มช่างทอผ้าและงานหัตถกรรม 16 จังหวัดภาคเหนือ เน้นย้ำ “ของเก่าเราก็ไม่ทิ้ง ของใหม่เราก็ต้องมี” เพื่อพัฒนาฝีมือทำให้ผ้าไทยเป็นที่นิยมของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
งานนี้มีบิ๊กข้าราชการรวมพลังครั้งใหญ่ ประกอบด้วย สยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อรจิรา ศิริมงคล อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ธวัช ชุนเคลือบทอง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดน่าน พลตรี คณิศร อาสนะ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 38
พลตำรวจตรี ดเรศ กัลยา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดน่าน วรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เทวา ปัญญาบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน สุภาสินี งามธุระ รองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดน่าน หัวหน้าส่วนราชการ ดร.ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระด้านการจัดการความรู้และสื่อสารการศึกษา
รวมถึงกลุ่มผู้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและผู้เชี่ยวชาญการย้อมสีธรรมชาติ ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและเจ้าของแบรนด์ THEATRE ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบ เจ้าของแบรนด์ ISSUE นุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้แทนจาก 16 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมแชร์ไอเดีย
ทุกคนคือผู้สืบสาน รักษา และต่อยอด
ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า พวกเราทุกคนคือความหวังของชาติ เพราะทุกคนคือผู้สืบสาน รักษา และต่อยอด มรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม ทั้งงานหัตถกรรม งานผ้าประจำถิ่น (ผ้าไทย) ซึ่งมีคุณค่า
ยิ่งเข้าสู่ยุคสมัยของความเจริญทางวัตถุ บุคคลที่จะช่วยให้มรดกของบรรพบุรุษยังคงอยู่เป็นอัตลักษณ์ตามจังหวัดต่าง ๆ ก็ยิ่งเหลือน้อยลง อย่างจังหวัดน่านมีสิ่งเร้าจากตะวันตกและทั่วโลก ทั้งการศึกษา การสื่อสาร มารยาท การพูด การแต่งกาย ภาษา ซึ่งอาจทำให้กลิ่นอายความเป็นน่านเจือจางลง
แต่เป็นความโชคดีของคนไทยที่เรามี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีพระราชปณิธานที่แน่วแน่ สะท้อนผ่านพระปฐมบรมราชโองการ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2563 พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัส ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
ชาวมหาดไทยได้รับใส่เกล้าใส่กระหม่อมเป็นหลักปฏิบัติราชการ และยิ่งโชคดีที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานจะแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยโดยเสด็จลงมาช่วยเหลือพี่น้อง OTOP ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดงาน OTOP City 2020 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
ครั้งนั้น พระองค์ได้ทรงออกแบบและพระราชทานลายผ้า “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” พร้อมพระราชทานพระอนุญาตให้กลุ่มทอผ้านำไปเป็นต้นแบบพัฒนาต่อยอดเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามเอกลักษณ์ประจำถิ่น โดยเน้นใช้สีธรรมชาติ เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชน พร้อมพระราชทาน “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อกระตุ้นผ้าไทยสู่สากล ใส่ได้ในทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส
ชุมชนมีรายได้หมุนเวียนแล้ว 6 หมื่นล้าน
“ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เป็นลายที่ขายดีและเป็นลายที่เปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิต รวมทั้งมุมมองใหม่ที่เกิดขึ้นกับสังคม ทั้งนี้ นับแต่พระราชทานโครงการ ทำให้ประชาชนมีรายได้จากการจำหน่ายผ้าไทยแล้ว 60,000 ล้านบาท และยังมีผ้าลายพระราชทานลวดลายอื่น ๆ อีกจำนวนมาก
ล่าสุดคือ “ลายสิริวชิราภรณ์” ลวดลายแห่งความจงรักภักดีที่พระองค์ทรงออกแบบเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567
จากธีม “ของเก่าเราก็ไม่ทิ้ง ของใหม่เราก็ต้องมี” จะเกี่ยวโยงกับแฟชั่น เพราะเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึกที่เปลี่ยนตามรสนิยมของคนในแต่ละช่วงเวลา
เป็นองค์ความรู้ทางแฟชั่น งาน OTOP พระองค์จึงพระราชทาน “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” ควบคู่กับสิ่งที่เป็น Knowhow ของแฟชั่นสมัยใหม่ นำผ้าไทยมาตกแต่งออกแบบตัดเย็บให้ทันสมัย น่าใส่
ด้วย Passion ที่จะนำพระปณิธานมาถ่ายทอดขยายผล ทำให้ผ้าไทยไม่มีทางตัน เราต้องรุ่งโรจน์จากการผลิตและจำหน่าย เพราะผ้าไทยจะทำให้คนไทยมีรายได้ มีโอกาสที่ดี
การ Coaching แบบเดินสายจึงสำคัญ ทำให้เรามั่นใจภูมิความรู้ภูมิปัญญา และทำให้เกิด “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม” พัฒนาช่องทางการตลาด โดยเฉพาะเรื่อง Branding ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าและผลิตภัณฑ์
ผ้าไทยแต่ละแบรนด์มีเทคนิคแตกต่างหลากหลาย เชื่อว่าจะมีกลุ่มลูกค้ามากขึ้นเพราะความชอบของคนไม่เหมือนกัน ผ้าไทยยังมีช่องว่างให้เราคิดออกแบบอยู่เสมอ เราต้องเปิดใจรับสิ่งที่โลกนิยมเข้ามาประยุกต์
เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน จึงจัดโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน กระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน ทุ่มเท และพิถีพิถัน ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบ การย้อมสี การทอ การออกแบบลวดลาย การตัดเย็บ เพื่อผลิตชิ้นงานให้ดีที่สุด เป็นการกระตุกความคิด เปิดปัญญา จากเคยมี 5 ลาย กลายเป็น 10 ลาย
พระองค์มิได้พระราชทานแนวพระดำริเพียงเฉพาะเรื่องผ้า และงานหัตถศิลป์ หัตถกรรมเพื่อสร้างอาชีพเท่านั้น แต่พระองค์ยังพระราชทานแนวพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน” หรือ Sustainable Village และพระราชทานพระอนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำไปขับเคลื่อนขยายผลในทุกหมู่บ้านและชุมชน ให้ทุกคนพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ลืมรากเหง้าของความเป็นคนไทย