ธ.ก.ส.กางแผนปล่อยสินเชื่อใหม่ 9 หมื่นล้าน-ลด NPL

tks

ธ.ก.ส.กางแผนปีบัญชี 2567/2568 ปล่อยสินเชื่อใหม่ 9 หมื่นล้าน โต 5.13% ลุยปล่อยกู้ “สินเชื่อดอกเบี้ยล้านละร้อย” เตรียมระดม “เงินฝาก-สลาก” อีก 3.2 แสนล้าน ดำรงสภาพคล่อง “แข็งแกร่ง” 2 แสนล้าน พร้อมวางเป้าลดหนี้เสียลงเหลือ 3.69% เตรียมลุย “พักหนี้ เฟส 2”

นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า แผนธุรกิจของ ธ.ก.ส. ในปีบัญชี 2567/2568 (เม.ย. 2567-มี.ค. 2568) ตั้งเป้าวงเงินปล่อยสินเชื่อใหม่ 90,000 ล้านบาท เติบโต 5.13% จากสิ้นปีบัญชีก่อนที่ยอดสินเชื่อคงค้าง 1.69 ล้านล้านบาท เนื่องจากประเมินสถานการณ์การผลิตทางการเกษตรเริ่มพอไปได้แล้วหลังผ่านวิกฤตโควิดมา 2-3 ปี

พงษ์พันธ์ จงรักษ์
พงษ์พันธ์ จงรักษ์

โดยวงเงิน 50,000 ล้านบาทแรก จะเป็นสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน ตั้งเป้าปล่อยกู้ให้กับกลุ่มเกษตรกรรายกลางและกลุ่มเกษตรกรรายใหญ่ ขณะที่อีก 40,000 ล้านบาท จะปล่อยกู้ให้กับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย

สำหรับผลิตภัณฑ์เรือธงที่เกษตรกรสนใจ คือ โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย หรือสินเชื่อดอกเบี้ยล้านละร้อย มีวัตถุประสงค์ 2 ประเภท คือ 1.ค่าใช้จ่ายในการทำการผลิต และ 2.เทอมโลนระยะยาวไม่เกิน 10 ปี ซึ่งรัฐบาลกำหนดวงเงิน 50,000 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส.คิดดอกเบี้ยเกษตรกรแค่ 0.01% ช่วง 3 ปีแรก เพื่อให้ชุมชนหรือผู้ประกอบการพัฒนาตัวเองได้ และ ธ.ก.ส.ลดดอกเบี้ย MRR สำหรับเกษตรกรรายบุคคล อยู่ที่ 6.975% และลดดอกเบี้ย MLR สำหรับกลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชน อยู่ที่ 6.125% โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรและ ธ.ก.ส. ช่วง 3 ปีแรก ประมาณ 3-3.5%

“เฟสแรกดำเนินการมาแล้ว 4 ปี ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 30,000 ล้านบาท เฉลี่ย 3-5 ล้านบาท/ราย รวม 2,000-3,000 ราย ส่วนเฟส 2 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบไปเมื่อปลายปี 2566 มีการขยายวัตถุประสงค์เรื่องการส่งเสริมด้าน BCG ตามหลักการ SDGs ปล่อยกู้ไปแล้ว 5,800 ล้านบาท จำนวน 1,000 ราย คงเหลือวงเงินปล่อยกู้ได้อีก 15,000 ล้านบาท เกษตรกรสามารถขอสินเชื่อได้ถึงวันที่ 30 พ.ย. 2568”

Advertisment

นายพงษ์พันธ์กล่าวว่า โครงการดังกล่าวถือว่าค่อนข้างประสบผลสำเร็จ เพราะว่ามีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) แค่ 0.1% เท่านั้น ส่วนใหญ่ NPL ที่เกิดขึ้นเมื่อเหตุจำเป็น เช่น ผลผลิตไม่สามารถออกได้ เจอภัยพิบัติ หรือเจอสถานการณ์ไม่ปกติ แต่หากผลผลิตออกได้ตามปกติ เกษตรกรจะไม่ค่อยผิดนัดจ่ายหนี้ เพราะ ธ.ก.ส.แจ้งชัดตั้งแต่แรกว่าเมื่อเสียเครดิตไปแล้ว จะต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ด้วยการขออนุมัติสินเชื่อปกติ

ขณะเดียวกันในปีบัญชีนี้ ธ.ก.ส.ตั้งเป้าระดมเงินฝาก 120,000 ล้านบาท เติบโต 7% จากสิ้นปีบัญชี 2566/2567 ธ.ก.ส.มีเงินฝากรวม 1.89 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันก็มีสลากมั่งมีทวีโชคกับสลากเกษียณมั่งคั่ง ที่จะครบกำหนดอีกประมาณ 2 แสนล้านบาท ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ ดังนั้นรวม ๆ แล้ว ปีนี้ ธ.ก.ส.จะต้องระดมเงินใหม่ 3.2 แสนล้านบาท

“พอร์ตเงินฝากถือว่ามีมากกว่าพอร์ตสินเชื่ออยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการดำรงสภาพคล่องที่แบงก์พึงทำ เพื่อเป็นฐานของความมั่นคง และเป็นไปตามเกณฑ์อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)”

สำหรับสถานการณ์ NPL ปิดสิ้นปีบัญชี 2566/2567 อยู่ที่ 5.41% มูลหนี้ประมาณ 90,000 ล้านบาท โดยในปีบัญชี 2567/2568 ตั้งเป้าจะลดหนี้เสียลงเหลือ 3.69% โดยหากการผลิตของเกษตรกรเป็นไปตามแผน จะช่วยให้ NPL ลดลงได้ ประกอบกับเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้สิน ธ.ก.ส. ก็จะเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะเป็น NPL

Advertisment

ปัจจุบัน ธ.ก.ส.มีลูกหนี้ทั้งหมด 4 ล้านราย มูลหนี้รวม 1.68 แสนล้านบาท เป็นกลุ่มลูกหนี้ปกติ 5.4 หมื่นล้านบาท กลุ่มลูกหนี้ที่มีการค้างชำระเกิน 30 วัน แต่ยังไม่เกิน 90 วัน (SM) 2.4 หมื่นล้านบาท และลูกหนี้ที่เป็น NPL 90,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ธ.ก.ส.อยู่ระหว่างขยายกลุ่มเป้าหมายพักหนี้ เฟส 2

“ธ.ก.ส.จะพยายามไม่ให้เกษตรกรเป็น NPL เพราะจะเสียโอกาสหลายอย่าง ทั้งดอกเบี้ยสูงขึ้น และเครดิตที่ต้องเริ่มต้นใหม่ ดังนั้น ลูกหนี้ปกติ และ SM เราจะไม่รอให้เขาตกเป็น NPL โดยเราจะเข้าไปตรวจสอบ หากเดือดร้อนจริงจะปรับโครงสร้างหนี้ โดยขยายจากหนี้ระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาว เพื่อดำรงชั้นหนี้ของลูกหนี้ไว้ระดับเดิม หรือเรียกว่าเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ดี” นายพงษ์พันธ์กล่าว