เพื่อไทย แพ้เลือกตั้ง ในรอบ 22 ปี สรุปปัญหา ปัจจัยทำให้แพ้

เพื่อไทยแพ้เลือกตั้ง ในรอบ 22 ปี สรุปปัจจัยทำให้แพ้

เพื่อไทย แพ้เลือกตั้ง ในรอบ 22 ปี สรุปปัญหาใครพาพรรคมาแพ้ อะไรคือปัจจัยชี้ขาดในช่วงรณรงค์ จัดทัพ ช่วงหาเสียงและโค้งสุดท้าย ก่อนลงคะแนน คว้า ส.ส.มาได้เพียง 141 เสียง จากเป้าหมาย ชนะแลนด์สไลด์ เกิน 250 เสียง หรือโพลของพรรคที่ระบุว่าทะลุ 300 เสียง

วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ผลการเลือกตั้งออกมาเกือบ 100% แล้วว่า พรรคเพื่อไทย (พ.ท.) แพ้การเลือกตั้ง เสียแชมป์ให้กับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นการพ่ายแพ้การเลือกตั้งในรอบ 22 ปี ผ่านการเลือกตั้ง 6 ครั้ง และพ่ายแพ้ตกเป็นพรรคอันดับ 2 ครั้งแรก นับตั้งแต่ทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่วงการเมือง

ย้อนหลังไปตั้งแต่ยุคแรก 22 ปีก่อน ที่ทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่การเมืองครั้งแรก ก็นำพรรคไทยรักไทย เข้าเส้นชัย ผงาดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ของประเทศไทย ด้วยผลการเลือกตั้งที่ชนะอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง 5 ครั้ง

เลือกตั้ง 6 รอบ แพ้ครั้งแรก ในรอบ 22 ปี

1.การเลือกตั้ง 2544 พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้ง และรวบรวม ส.ส.จากพรรคต่าง ๆ เข้าสังกัดได้พรรคเดียว 320 เสียง

2.การเลือกตั้ง 2548 พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้ง สมัยที่ 2 ด้วยจำนวน ส.ส. 377 เสียง

3.การเลือกตั้ง 2550 พรรคไทยรักไทยถูกยุบ และย้าย ส.ส.เข้าสังกัดชื่อใหม่ คือ พรรคพลังประชาชน ชนะเลือกตั้งด้วยจำนวน ส.ส. 233 เสียง

4.การเลือกตั้ง 2554 พรรคเพื่อไทย ชนะเลือกตั้ง ด้วยจำนวน ส.ส. 265 เสียง

5.การเลือกตั้ง 2562 พรรคเพื่อไทย แม้แตกพรรคไปเป็นพรรคไทยรักษาชาติ อีก 1 พรรค แต่ก็ถูกยุบก่อนเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่พรรคเพื่อไทยก็ยังชนะเลือกตั้ง ด้วยจำนวน ส.ส. 137 เสียง

6.การเลือกตั้ง 2566 เป็นครั้งแรก ที่พรรคเพื่อไทยเสียแชมป์ แพ้การเลือกตั้ง ด้วยจำนวน ส.ส. 141 เสียง

สำรวจปัญหา-ปัจจัยแห่งความพ่ายแพ้

จากการสนทนา-สำรวจความคิดเห็นของแกนนำพรรคเพื่อไทย และสมาชิกคนสำคัญ ระดับมีตำแหน่งในโครงสร้างกรรมการบริหารพรรค และไม่มีตำแหน่งในโครงสร้างอำนาจพรรค ทำให้เห็นเค้าโครงและการเคลื่อนพรรคไปสู่จุดที่เรียกว่า “แพ้เลือกตั้ง” ดังนี้

1.การดึง-ดูด ส.ส.เก่า-นักการเมืองบ้านใหญ่ ที่ย้ายขั้วไปสังกัดพรรคฝ่าย 3 ป. กลับเข้าพรรค นับเป็นหนึ่งในโค้งอันตราย ของการเคลื่อนพรรคเข้าสู่การเลือกตั้ง

2.การจัด ส.ส.ลงสมัครเลือกตั้ง ระบบเขต และบัญชีรายชื่อ ให้ความสำคัญกับคนมี “ชื่อเสียง” มากกว่าคนที่มี “ฐานเสียง”

3.ถูกครหาแบบยากที่จะพิสูจน์ ว่ามี “ทุนใหญ่” เคลื่อนเข้าสู่พรรค ตามนักการเมืองรุ่นใหญ่ ที่ย้ายเข้าพรรค

4.การไม่ประกาศท่าทีที่ชัดเจน ระหว่างการรณรงค์หาเสียง ว่าจะจับขั้วรัฐบาลกับฝ่ายใด พรรคใด

5.มีข่าวพงศาวดารกระซิบในวงการชนชั้นนำ และคนการเมือง ว่ามีการดีลเจรจา ระหว่าง “ผู้ใหญ่” ในฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน กับทักษิณ ชินวัตร ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตย คลางแคลงใจ

6.มีกระแสข่าวก่อนการเลือกตั้งประมาณ 10 วัน ว่า “ทักษิณและลูกน้องบางคน” พยายามจะจัดขั้วรัฐบาลใหม่ โดยไม่มีพรรคก้าวไกล อยู่ในสมการจัดรัฐบาล

7.โค้งสุดท้ายของการหาเสียง ไม่มี อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ออกไปขึ้นเวทีปราศรัย สร้างกระแสไม่ได้ มีแต่วิดีโอคอล ซึ่งไม่เหมือนการไปปรากฏตัวจริง

8.แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ขึ้นเวทีดีเบต ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างกระแสในโซเชียล ทำให้เสียคะแนน

9.พรรคก้าวไกล ที่ถือเป็นคู่แข่งสำคัญ ขึ้นแทบทุกเวทีดีเบต สามารถสร้างวาทกรรม เกิดการพูดต่อแบบปากต่อปาก แปรเปลี่ยนเป็นคะแนน ทั้งระบบเขต และระบบปาร์ตี้ลิสต์

10.ทีมงานรอบข้างของผู้บริหารสูงสุดของพรรค มีอิทธิพลสูงในการกำหนดอีเวนต์ จุดหาเสียงช่วย ส.ส.ในพื้นที่ต่าง ๆ และกิจกรรมหาเสียงของพรรค ซึ่งบางจุดไม่ได้คะแนน

11.บุคลิกของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคก้าวไกล เป็นลักษณะผู้นำในฝันของคนรุ่นใหม่ ที่มีภาพลักษณ์ของการต่อสู้กับทุนใหญ่ สู้กับความไม่เป็นธรรม อย่างชัดเจน

12.วงในสุดของการบริหารสูงสุดพรรคมีไม่กี่คน ยากที่คนในพรรคและสมาชิกจะเข้าถึง

13.พรรคก้าวไกล สามารถสร้างภาพลักษณ์ และสร้างกระแส ในทุกแพลตฟอร์มโซเชียล อย่างเป็นระบบ และมีความถี่ เนื้อหาหลากหลาย ทำให้คะแนนนิยมพุ่งในสัปดาห์สุดท้าย ของการหาเสียง

14.ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม จนถึงเวลา 15.00 น.ของวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 แกนนำพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าจะร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ทั้งนี้ การที่พรรคก้าวไกลจัดรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย จะทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยมีความหวัง ในการแก้ปัญหาเก่า สร้างอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเปลี่ยนแปลงแนวทางการบริหารประเทศได้

อย่างน้อยพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมาแล้ว อย่างน้อย 4 สมัย สามารถเข้าใจกลไกการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เข้าใจกลไกของข้าราชการ และช่วยประคับประคองให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น และสร้างสมดุลระหว่างโครงสร้างอำนาจต่าง ๆ ในสังคม

นอกจากนี้แกนนำพรรคบางรายยังได้ประเมินด้วยว่า หากเป็นพรรคอันดับสอง ที่ร่วมรัฐบาล ช่วงหลังจากนี้จะเป็นเวลาแห่งการปรับเปลี่ยน บ่มเพาะ ปรับปรุงพรรคอีกครั้ง ก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งสมัยหน้า ที่จะสุกงอมและนำชัยชนะกลับคืนมาอีกครั้ง