ถอดรหัส MOU รัฐบาลก้าวไกล ภูมิใจไทย พรรคตัวแปร ปิดสวิตช์ ส.ว.

นายก
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

ชัยชนะของพรรคก้าวไกล คว้า ส.ส.อย่างไม่เป็นทางการ 152 ที่นั่ง กลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีว่าที่นายกรัฐมนตรีชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ฉีกตำรา – พลิกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย หักปากกาเซียน หักผลโพล หักทฤษฎีรัฐศาสตร์ของนักวิชาการ

เขี่ยพรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้การเลือกตั้งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ “ทักษิณ ชินวัตร” ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย เมื่อ 20 กว่าปีก่อน

“พิธา” ประกาศดึงพันธมิตร 5 พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม พลิกขั้วมาจัดตั้งรัฐบาลด้วยกัน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง และพรรคเป็นธรรม 1 เสียง และชวนพันธมิตร 5 พรรคมาร่วมทำ MOU พรรคร่วมรัฐบาลฉบับพรรคก้าวไกล

ที่มา MOU พรรคก้าวไกล

“พริษฐ์ วัชรสินธุ” หรือไอติม ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล และผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 11 ฟันเฟืองสำคัญของการร่างนโยบายพรรคก้าวไกล ระบุที่มา MOU พรรคก้าวไกลว่า

“การขับเคลื่อนนโยบายให้ได้เยอะที่สุดกับพรรคใด ๆ ก็ตาม เราจะต้องมี MOU ที่ชัดเจน ว่าวาระการเข้าร่วมรัฐบาลจะประกอบด้วยอะไรบ้างสุดท้ายแล้ววาระร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาลคืออะไร”

“และยิ่งพรรคไหนมี ส.ส.มากเท่าไหร่ อำนาจในการต่อรองหรือความชอบธรรมในการต่อรองนโยบายของตัวเองก็มีมากกว่า”

“และ MOU นี้ก็ต้องประกาศชัดตั้งแต่ก่อนตั้งรัฐบาล เพราะไม่อย่างนั้นพรรคที่มีนโยบายแตกต่างกันมาร่วมรัฐบาลกัน ผ่านไป 4 ปี ประชาชนทวงถามว่า เอ๊ะที่หาเสียงไปทำไมไม่ทำ พรรค เอ ก็บอกว่า อ๋อพรรคร่วมบีไม่ยอมทำ ดังนั้น MOU ต้องมีก่อนการจัดตั้งรัฐบาล และแน่นอน เราจะพยายามผลักดันวาระ 300 ข้อเข้าไปใน MOU ให้เยอะที่สุด ซึ่งจำนวน ส.ส.ก็จะเป็นตัวแปรถึงความชอบธรรมที่จะบรรจุในวาระร่วมรัฐบาล”

ส่วน MOU ก้าวไกล ประกอบด้วยอะไรบ้างนั้น “พริษฐ์” ยกตัวอย่าง เช่น เตรียมแก้กฎหมาย 45 ฉบับ บางนโยบายมีความจำเป็นที่ต้องแก้กฎหมาย หรือออกกฎหมายใหม่ หรือใช้งบประมาณเท่าไหร่ เราก็มีการชี้แจงชัดเจนว่า แหล่งที่มาของรายได้มาจากไหน ระยะเวลา ว่านโยบายแต่ละข้อจะสำเร็จภายในระยะเวลาเท่าไหร่

อะไรที่เป็นอำนาจฝ่ายบริหารอย่างเดียว เช่น มติ ครม.ทำได้ภายใน 100 วันแรก คือนโยบายหวยใบเสร็จ

อะไรที่ต้องแก้กฎหมายเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือจัดงบประมาณที่ทำได้ภายใน 1 ปี อะไรที่ต้องแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ หรือใช้งบประมาณเยอะอาจใช้เวลา 4 ปีเต็ม

“แนวคิดใช้งบประมาณ 2567 อาจแตกต่างกันบ้าง พรรคเพื่อไทยจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยดิจิทัลวอลเลต 5.6 แสนล้านบาท เราก็มองถึงความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนกัน”

“พรรคก้าวไกลใช้งบประมาณ 2.5 แสนล้านบาทในปีแรก ทั้งการขึ้นค่าแรง 450 บาทต่อวัน และช่วยเหลือ SMEs ก็ต้องมาคุยกันว่าจะไปด้วยกันอย่างไรดี ซึ่งเป็นกระบวนการ MOU ที่เราคุยกันไว้ อะไรที่เหมือนกันก็ไปต่อด้วยกันได้ จำนวน ส.ส.จะเป็นตัวกำหนด แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่างในนโยบายอย่างไร”

ส.ว.อย่าเป็นแพะรับบาป

ท่ามกลางเสียงยินดี-ดีใจ เต็มโซเชียลมีเดียของแฟนคลับพรรคก้าวไกล ที่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

กลับมีสูตรจัดตั้งรัฐบาล ที่บีบให้ “พรรคก้าวไกล” เป็นฝ่ายค้าน เพื่อเก็บ 2 ลุง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เอาไว้ในห่วงโซ่อำนาจต่อ โดยใช้เกม ส.ว. 250 เสียงมาเป็นตัวช่วย

ทว่า “รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ” นักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่า ส.ว.ต้องเห็นผลการเลือกตั้งวันนี้ ส.ว.เป็นคนแค่ 250 คน และคุณเห็นคนกี่สิบล้านคนโหวตอย่างนี้ ถ้ามาขวางแล้ว ส.ว.จะกลายเป็นแพะรับบาป แทนที่จะปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับความพ่ายแพ้และเกษียณตัวเองทางการเมืองไป เพราะชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯที่มาจากเสียงข้างน้อยและน้อยมาก

รศ.ดร.ประจักษ์ อ่านสถานการณ์ว่า พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยทำงานร่วมกันไม่ง่าย แต่ก้าวไกลจะจับกับใครถ้าไม่ใช่เพื่อไทย เพื่อไทยจะจับกับใครถ้าไม่ใช่ก้าวไกล ที่สองพรรคนี้จับกัน การเจรจาต่อรองคงเข้มข้น เพราะเราไม่เคยเจอสถานการณ์อย่างนี้มาก่อน

เมื่อพรรคอันดับหนึ่งอันดับสองเสียงเท่า ๆ กัน จะแบ่งเก้าอี้คณะรัฐมนตรีกันอย่างไร ไม่ใช่สถานการณ์ที่พรรคเพื่อไทยกำหนดได้ทั้งหมดได้เหมือนเดิม หรือ พรรคก้าวไกลจะกำหนดทั้งหมดไม่ได้เช่นกัน ต้องแบ่งกันพอดี ๆ

และทั้ง 2 พรรคได้ 140-150 เสียง ถ้าเพื่อไทยไม่เอาก้าวไกล ไปเอาภูมิใจไทยก็ยังไม่พอ เท่ากับคุณไปเอาพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์อีก และที่เป็นไปได้มากที่สุดคือก้าวไกล เพื่อไทย และต้องกอดคอกันครบเทอม สองพรรคนี้ทิ้งกันไม่ได้ เพราะถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถอนตัวรัฐบาลก็ล่มเลย

2 สูตรรัฐบาลก้าวไกล

ด้าน ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า พรรคก้าวไกลมองสูตรจัดตั้งรัฐบาลเป็น 2 สูตร โดยพับสูตรรัฐบาลเสียงข้างน้อยต้องพับไปก่อน

“เพราะรัฐบาลเสียงข้างน้อยในขณะที่พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทยรวมกันมีถึง 292 ที่นั่ง และรวมพรรคอื่น มีพรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย มารวม 310 เสียงคงเกิดยาก เว้นหากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล แล้วพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลไม่ได้เสียที มีการหักดิบตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่น่าจะเกิดยาก เมื่อพรรคก้าวไกลมาเป็นอันดับหนึ่ง”

เหลือ 2 สูตร สูตร 1 คือ ก้าวไกล +5 พรรคการเมือง 310 เสียง สวดมนต์อ้อนวอนให้ ส.ว. 250 โหวตตามประชาชนก็ตั้งรัฐบาลด้วยกัน

“ส.ว.มีกรณีเดียวถ้าจะยอมโหวตให้พิธาคือ คนที่มีอำนาจเหนือ ส.ว.เปิดไฟเขียวให้เขา คือยอมแล้วว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนความต้องการของประชาชน เปิดไฟเขียวให้ ส.ว.โหวตอิสระ หรือโหวตสนับสนุนไปเลย ว่าจริง ๆ ส.ว.ฟังเสียงประชาชนเหมือนกัน โหวตแบบแลนด์สไลด์ให้พิธาก็เป็นไปได้ เสร็จแล้วไปลุ้นเอา ถ้ารัฐบาลไปดีก็ไปต่อไป ถ้าไปไม่ดี ส.ว.ก็ประกาศตรวจสอบรัฐบาลนี้”

“ส.ว.อาจรู้สึกว่าเพื่อไทย ก้าวไกลทำงานด้วยกันได้จริงไหม เขาก็ลุ้นได้ ก้าวไกลอาจจะมือใหม่พอบริหารประเทศจริงอาจจะเจออะไรอีกมากมาย และเพื่อไทยเขี้ยวลากดิน จำนวน ส.ส.พอ ๆ กัน ที่นั่งเฉือนหลักหน่วยจะทำงานได้จริงหรือเปล่า เมื่อเป็นแบบนี้ก็ไม่ได้ง่ายที่จะเป็นรัฐบาลกันราบรื่น”

สูตรที่ 2 คือ ก้าวไกล +5 พรรคการเมือง สวดมนต์ก็แล้วแต่ ส.ว.ยังเฉย ๆ ต้องหาเสียง ส.ส.มาร่วม มาช่วยโหวตนายกฯ ด้วยตัวเลขวันนี้หากพรรคภูมิใจไทย 71 เสียงมาก็ครบพอดี แต่พรรคก้าวไกลกับพรรคภูมิใจไทยถือว่าเปิดประตูกันไว้พอสมควร ถ้าพรรคภูมิใจไทยยอมไม่นั่งคมนาคม ไม่นั่งสาธารณสุข ยืนยันชัดเจนไม่เอากัญชาเสรีมันก็คุยกันได้ ก็ร่วมรัฐบาลกันได้ เป็นรัฐบาล Hybrid ที่มีพรรคภูมิใจไทยมาร่วมแค่นั้น

“ยอม MOU ที่ก้าวไกลเขียน ถ้าตกลงกันลงตัวก็ได้”