เปิดตัวเลข “เงินเดือน รายได้ ค่าตอบแทน” ส.ว. และ ส.ส. รับกันคนละเท่าไร

ประชุมสภา
ภาพจากศูนย์ภาพมติชน

เปิดเงินเดือน รายได้ ค่าตอบแทน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) รับกันเดือนละกว่า 1.1 แสนบาท ตั้งผู้ช่วยได้อีก ไม่รวมสิทธิประโยชน์อื่น ๆ

วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้การเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วไป 2566 จะผ่านพ้นไปแล้ว และอยู่ในช่วงการตั้งรัฐบาลผสมของพรรคก้าวไกล ล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 19 พ.ค. 2566) รวบรวมพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลได้ 314 เสียง

แต่อุปสรรคใหญ่คือการยกมือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่มี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องรวบรวมให้ได้ 376 เสียงขึ้นไป โดยพรรคก้าวไกลคาดหวังว่าจะได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีจำนวน 250 คนมาสนับสนุน

แม้จะมี ส.ว. บางส่วนออกมาสนับสนุนที่จะช่วยโหวตนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่เลือกพรรคก้าวไกลเข้ามา แต่ก็ถือว่ายังเป็นจำนวนที่น้อยมาก

ขณะที่มี ส.ว.ส่วนใหญ่ออกมาแสดงจุดยืนชัดที่จะไม่โหวตให้กับ นายพิธา กับอีกส่วนหนึ่งยังคงสงวนท่าที เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคก้าวไกลที่ดูเหมือนว่าจะสุดโต่งเกินไปในนโยบายบางเรื่อง

ส่วน ส.ส. จากพรรคการเมืองอื่นที่ไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาล หรือที่จะเป็นพรรคฝ่ายค้านในอนาคตนั้น และจะมาโหวตให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น แทบไม่ต้องคาดหวัง บางพรรคถึงกับปฏิเสธไปเรียบร้อยแล้ว

กระทั่งมีการตั้งคำถามถึงเงินเดือน รายได้ และค่าตอบแทนของข้าราชการการเมืองในตำแหน่งต่าง ๆ โดยเฉพาะ ส.ว. และ ส.ส. ว่าได้รับกันคนละเท่าไร/เดือน

รัฐธรรมนูญปี 2560 มีบทเฉพาะกาลเฉพาะสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่าด้วยการทำหน้าที่กลั่นกรองงานของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีวาระ 5 ปี และมีอำนาจที่ต่างจาก ส.ว.จากรัฐธรรมนูญในอดีตคือ การร่วมออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งกำหนดให้จ่ายได้หลังจากวันเข้ารับหน้าที่ ต่อมาในปี 2555 มี พ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกรัฐสภาเพิ่ม กำหนดให้ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเป็นรายเดือนนับแต่วันเข้ารับหน้าที่

“ประชาชาติธุรกิจออนไลน” รวบรวมข้อมูลสิทธิประโยชน์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2556 อัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และเงินเพิ่มของ ส.ว. กับ ส.ว. มีดังนี้

  • ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีเงินเดือน 75,590 บาท เงินเพิ่ม 50,000 บาท รวม 125,590 บาท
  • รองประธานสภาผู้แทนราษฎร มีเงินเดือน 63,860 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท รวม 106,360 บาท
  • ประธานวุฒิสภา มีเงินเดือน 74,420 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 45,500 บาท รวม 119,920 บาท
  • รองประธานวุฒิสภา มีเงินเดือน 73,240 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 42,500 บาท รวม 115,740 บาท
  • ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร มีเงินเดือน 73,240 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 42,500 บาท รวม 115,740 บาท
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)* มีเงินเดือน 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท รวม 113,560 บาท
  • สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีเงินเดือน 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท รวม 113,560 บาท

สำหรับ ส.ส.* ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย เมื่อได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งในฐานะรัฐมนตรีแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่ง ส.ส. อีก

นอกจากนี้ สมาชิก ส.ส. กับ ส.ว. แต่ละคนยังสามารถมีผู้ช่วย 8 คน แบ่งเป็น ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 1 คน มีเงินเดือนเดือนละ 24,000 บาท ผู้ชำนาญการประจำตัว 2 คน มีเงินเดือนเดือนละ 15,000 บาท และผู้ช่วยดำเนินการประจำตัวอีก 5 คน มีเงินเดือนเดือนละ 15,000 บาท


ยังไม่นับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่ารักษาพยาบาล เบี้ยประชุม เป็นต้น