3 ปมร้อน พรรคพันธมิตรก้าวไกล ก่อนลงนาม MOU 

MOU จัดตั้งรัฐบาล

3 ปมร้อน พรรคพันธมิตรก้าวไกล 8 พรรค 313 เสียง ก่อนลงนาม MOU วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 

เวลา 16.30 น. วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เป็นเวลาที่พรรคก้าวไกลนัดพรรคการเมือง “พันธมิตร” 313 เสียง 8 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคเพื่อไทรวมพลัง ลงนามใน MOU ร่วมรัฐบาล 

ทั้ง 8 พรรคเลือกวันที่ 22 พฤษภาคม เป็นสัญลักษณ์การ “เปลี่ยนผ่าน” 

เพราะเป็นวันครบรอบ 9 ปีการรัฐประหาร ในปี 2557 และเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นการเข้าสู่รัฐบาลใหม่ที่เป็นยุคเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย 

ทว่าไป ๆ มา ๆ MOU ที่ก้าวไกลเป็นผู้ “ตั้งกติกา” ร่วมกันเกิดความปั่นป่วน เพราะมีบางข้อในเอ็มโอยูของพรรคก้าวไกลที่ 8 พรรคพันธมิตรมีความ “ติดขัด”

ประเด็นแรก การยกเลิกการผูกขาดอุตสาหกรรมผลิตสุรา และกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่พรรคประชาชาติ ไม่เห็นด้วย

วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า “พรรคประชาชาติได้ทำหนังสือถึงพรรคก้าวไกลอย่างเป็นทางการไปแล้ว ว่าเรื่องของสมรสเท่าเทียม กับเรื่องสุราก้าวหน้าเป็นเรื่องที่ขัดกับแนวทางของพรรคประชาชาติ พรรคจึงทำหนังสือถึงพรรคก้าวไกลเพื่อขอให้ปรับให้พรรคประชาชาติรับได้”  

“และได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคนำเรื่องนี้ไปคุยกับคณะทำงานที่ร่วมทำเอ็มโอยู ที่มีตัวแทนของแต่ละพรรคอยู่ด้วย  ซึ่งก็เชื่อว่าพรรคก้าวไกลก็คงจะรับฟังและนำไปปรับ” 

“ยังได้เสนอไปอีกหลายเรื่องที่เป็นไปตามนโยบายพรรค เพื่อให้พรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาลพิจารณานำไปเขียนไว้ในเอ็มโอยู เช่น เรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตย การให้สวัสดิการประชาชน เรื่องการแก้ปัญหาที่ดิน”

ประเด็นที่สอง พรรคเพื่อไทยไม่ต้องการให้เขียนเรื่อง ให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมือง โดยไม่รวมความผิดคดีคอร์รัปชั่น, และเป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย เพราะจะถูกมองว่าพรรคเพื่อไทยมีส่วนได้ ส่วนเสีย อาจถูกโยงไปถึง “ทักษิณ ชินวัตร” และเกรงว่า “ทัวร์จะลง”    

ประเด็นที่สาม นโยบายของพรรคก้าวไกลหลายเรื่อง ที่บรรจุอยู่ในเอ็มโอยูถูก “พรรคพันธมิตร” ทักท้วงว่า ควรเก็บไว้ไปบรรจุในคำแถลงนโยบาย ตอนเป็นรัฐบาลแล้ว จะเหมาะกว่าที่มาระบุชัดเจนในเอ็มโอยู ซึ่งควรเป็นกรอบ หรือหลักการกว้าง ๆ พรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรคเพื่อไทย เสนอให้เติมเรื่องเศรษฐกิจ ร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และรายได้

แหล่งข่าวจากแกนนำ 8 พรรคสะท้อนว่า MOU ของพรรคก้าวไกลค่อนข้างสุภาพแต่ลงรายละเอียดหลายเรื่องในนโยบายเขา ถ้าหากเป็นอย่างนี้ บางพรรคอยากจะให้เติมเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 3 พันบาท ก็ต้องเติมลงในเอ็มโอยู เหมือนนโยบายของพรรคก้าวไกล จะทำอย่างไร ดังนั้น สิ่งที่จะต้องหารือกันคือ เขียนในกรอบกว้าง ๆ ไว้ก่อน

ทว่าสิ่งแรกที่ “ทุกพรรค” เห็นตรงกันคือ เห็นด้วยกับการสนับสนุน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 และพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 

อย่างไรก็ตาม ก่อนถึงชั่วโมงลงนาม MOU ทั้ง 8 พรรคจะมาไตร่ตรอง-หาข้อสรุปกันอีกครั้ง