สแกนอำนาจ ประธานสภา หาคำตอบทำไม ก้าวไกล-เพื่อไทย ต้องแย่งกัน

ประธานสภา

ศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างพรรคเพื่อไทย กับ พรรคก้าวไกล ถูกซุกไว้ใต้พรมชั่วคราว ภายหลัง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล สั่งการ ให้ไปคุยกันในทีมเจรจา อย่าคุยกันผ่านสื่อ เกรงว่าจะ “เสียการใหญ่”

เพราะพรรคที่จับมือกันตั้งรัฐบาลทั้งหมด 8 พรรค 313 เสียงจะไปถกกัน ในวันที่ 30 พฤษภาคม จะมีการนัดประชุมกันอย่างเป็นทางการ ที่พรรคประชาชาติ เวลา 14.00 น.

เรื่องประธานสภา จะเป็นหนึ่งในวาระที่ พรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล เคลียร์ใจกัน หลังจากทั้งสองฝ่ายเปิดศึกทะเลาะกันผ่านสื่อ พร้อมอ้าง “วาระ” และ “ความจำเป็น” ของแต่ละฝ่าย ที่ต้องการจะครอบครองเก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ

พรรคก้าวไกล ชูตัวเต็ง ณัฐวุฒิ บัวประทุม ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคฝ่ายกฎหมายก้าวไกล คนอ่างทอง และธีรัจชัย พันธุมาศ ว่าที่ ส.ส.กทม. ตัวทำเกมในสภาหนก่อน

ส่วนพรรคเพื่อไทย ชูหนึ่งเดียว “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งช่ำชองกฎหมาย กลเกมในสภา เคยมีข่าวเป็น 1 ใน “แคนดิเดต” รองประธานสภา ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่สุดท้ายจบลงที่ตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม หากก้าวข้าม “เหตุผล” ที่ พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย พยายาม “ขาย” ต่อสังคมว่าเหตุใด “เก้าอี้ประธานสภา” ควรเป็นของตน

แล้วตรวจสอบอำนาจหน้าที่ “ประธานรัฐสภา” ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 ข้อบังคับการประชุม และกฎหมายอื่น ๆ มีอีกหลายข้อที่ทั้ง 2 พรรคไม่ได้กล่าวถึง

หน้าที่ประธานสภา ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เกี่ยวข้องกับองคมนตรี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ องค์พระรัชทายาท

1. ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา (มาตรา 80)

2. เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานองคมนตรีหรือให้ประธานองคมนตรีพ้นจากตําแหน่ง (มาตรา 11)

3. เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหาร พระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม (มาตรา 16)

4. ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 16 หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์เพราะ ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น

แต่ต่อมา คณะองคมนตรีพิจารณาเห็นว่ามีความจําเป็นสมควร แต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์และไม่อาจกราบบังคมทูลให้ทรงแต่งตั้งได้ทันการ ให้คณะองคมนตรี เสนอชื่อบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะ ตามลําดับที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมกําหนดไว้ก่อนแล้ว ให้เป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ “แล้วแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อประกาศในพระปรมาภิไธย พระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นขึ้นเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” (มาตรา 17)

5. ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ทั้งนี้ การแก้ไขดังกล่าว เป็นพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ ทั้งนี้ ให้คณะองคมนตรีจัดทําร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเดิมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อมีพระราชวินิจฉัย (มาตรา 20)

6. เป็นผู้อัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลง แต่หากเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาท ประธานรัฐสภาจะเป็นผู้อัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไปตามที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบตามที่องคมนตรีเสนอผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว ประธานรัฐสภาต้องประกาศให้ประชาชนทราบ (มาตรา 21)

อำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ในการประชุมรัฐสภา-ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

7. ประธานรัฐสภามีหน้าที่และอํานาจตามรัฐธรรมนูญ และดําเนินกิจการของรัฐสภา ในกรณี ประชุมร่วมกันให้เป็นไปตามข้อบังคับ ประธานรัฐสภาและผู้ทําหน้าที่แทนประธานรัฐสภาต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา 80)

8. เป็นผู้นำความกราบบังคมทูลและลงนามรับสนองพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมสมัยวิสามัญ กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทั้งสองสภารวมกัน หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อร้องขอ (มาตรา 123)

9. เป็นผู้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยร่างกฎหมายที่ ส.ส. หรือ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 เห็นว่าร่างกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (ก่อนนายกรัฐมนตรีนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ) และแจ้งให้นายกรัฐมนตรี ทราบโดยไม่ชักช้า (มาตรา 148)

10. ในกรณีที่มีปัญหาสําคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยหรือเศรษฐกิจของประเทศ สมควรที่จะปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภาก็ได้ ในกรณีนี้ ประธานรัฐสภา ต้องดําเนินการให้มีการประชุมภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับการแจ้ง แต่รัฐสภาจะลงมติในปัญหา ที่อภิปรายมิได้ (มาตรา 155)

11. ประธานรัฐสภา เสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระจากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและ มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เพื่อไต่สวนหาข้อเท็จจริง เมื่อ ส.ส. ส.ว. หรือสมาชิก2 สภารวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 2 หมื่น คน เข้าชื่อ

ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวย ผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
โดยยื่นต่อประธานรัฐสภาพร้อมด้วยหลักฐาน ตามสมควร หากประธานรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทําตามที่ถูกกล่าวหา ให้เสนอเรื่องไปยังศาลฎีกา (มาตรา 236)

ประธานรัฐสภา กับอำนาจโหวตนายกฯ

12. ในกรณีที่ประชุมรัฐสภาไม่อาจแต่งตั้งนายกฯ จากบัญชีพรรคการเมืองได้ และสมาชิกทั้ง 2 สภา รวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด (376 เสียง) เพื่อขอนายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมือง
ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ ทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดําเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมือง

อำนาจประธานสภาผู้แทนราษฎร ใน “สภาล่าง” ตามรัฐธรรมนูญ 2560

13. ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

14. ประธานสภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่และอํานาจดําเนินกิจการ ของสภานั้น ๆ ต้องวางตนเป็นกลาง ในการปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา 119)

15. เป็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระต่างๆ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ยกเว้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (มาตรา 203)

อำนาจประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2562

1. เป็นประธานของที่ประชุม และต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่
2. กำกับดูแลการดำเนินกิจการของสภา
3. ควบคุมการรักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุม ตลอดถึงบริเวณสภา 4
4. เป็นผู้แทนสภาในกิจการภายนอก
5. แต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินกิจการใด ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสภา
6. หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้

อำนาจประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามพระราชบัญญัติสถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2541

1. กำกับดูแลสถาบันพระปกเกล้า
2. เป็นประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า
3. เป็นประธานในที่ประชุมสภาสถาบัน
4. มีอำนาจออกเสียงชี้ขาดในกรณีการประชุมสภาสถาบัน ถ้าคณะกรรมการสถภาสถาบันลงคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
5. มีอำนาจลงนามในข้อบังคับของสถาบัน หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกรรมการสภาสถาบันและคุณสมบัติของกรรมการสภาสถาบัน
6. มีอำนาจลงนามในข้อบังคับของสถาบันเกี่ยวกับการประชุมสภาสถาบันและข้อบังคับอื่นซึ่งออกตามมติที่ประชุมสภาสถาบัน
7. มีอำนาจลงนามแต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการและรองเลขาธิการ แต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่สภาสถาบันมอบหมาย และมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของสถาบัน

หน้าที่-อำนาจ มีมากกว่าแค่การกำหนดวาระ ควบคุม-ทำหน้าที่ให้เป็นกลาง แต่ยังมีวาระต่าง ๆ ที่สำคัญที่เกี่ยวข้องทุกโครงสร้าง