ตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ได้ ครม.ประยุทธ์ ยังรับเงินเดือน-ไม่เปิดบัญชีทรัพย์สิน

ครม.ประยุทธ์

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชุดรักษาการ จะสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่กลางเดือนสิงหาคม 2566 บนเงื่อนไขพรรคก้าวไกล-เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว 

วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 ตามไทม์ไลน์อย่างสั้น ที่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี เนติบริกร กางบนโต๊ะวงประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปักหมุดหมายสำคัญไว้ในวันที่ 3 สิงหาคม 2566

-วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 วันสุดท้ายที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศผลรับรองผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 (ภายใน 60 วันนับจากวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566)

-วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 จะมีพิธีเปิดประชุมรัฐสภา

-วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร

-สัปดาห์ที่ 1 ของเดือนสิงหาคม 2566 โปรดเกล้าฯแต่งตั้งประธานสภา และเลือกนายกรัฐมนตรี

-สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนสิงหาคม 2566 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับการปฏิบัติหน้าที่

-กลางเดือนสิงหาคม 2566 รัฐบาลชุดปัจจุบันสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่รักษาการ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานะของครม.-รัฐมนตรีชุดปัจจุบัน แม้จะสิ้นสุดลง แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป (ไม่เรียกว่า รักษาการ และได้รับเงินเดือนแต่ยังไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน)

-ครม.ยังคงมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศเท่าที่จำเป็นทุกประการ กรณีมีสถานการณ์คุกคามความมั่นคงของชาติ ย่อมมีอำนาจหน้าที่ที่จะประกาศมาตรการเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติได้ เช่น ประกาศภาวะฉุกเฉินหรือประกาศกฎอัยการศึก

-การลงชื่อตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรียังคงลงชื่อในตำแหน่งเดิม มิใช่เป็นการรักษาการ หรือรักษาการในตำแหน่ง

-นายกรัฐมนตรีจะปรับรัฐมนตรีออก หรือ รัฐมนตรีจะลาออกก็กระทำได้ แต่ไม่แต่งตั้งใครแทน

ทั้งนี้ การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ครม.ชุดปัจจุบันจะยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดังนี้

-กรณีรัฐมนตรีมีสถานะเป็น ส.ส.ด้วย ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินภายใน 60 วัน นับแต่วันถัดจากวันพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. (วันที่ยุบสภา) และต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอีกครั้งภายใน 60 วันนับแต่วันถัดจากพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี (วันที่ ครม.ชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ)

-กรณีรัฐมนตรีไม่มีสถานะเป็น ส.ส. ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินภายใน 60 วันนับแต่วันถัดจากวันพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี (วันที่ ครม.ชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ)

เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่กำหนดระยะเวลาการเลือกนายกรัฐมนตรีต้องเสร็จสิ้นเมื่อใด การประชุมของ ครม.และรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ตามปกติ จนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ครม.ชุดต่อไป เมื่อไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เร็ว-ช้าเกินกว่าไทม์ไลน์ โอกาสที่ต้องเสียไประหว่างรัฐบาลชุดปัจจุบันรักษาการ คือ

1.ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ

-การอนุมัติโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีไปกำหนดแผนงานหรือโครงการใหม่ เช่น การกำหนดแผนงานใหม่หรือโครงการใหม่

-การอนุมัติให้หน่วยรับงบประมาณก่อหนี้ผูกพันเกินกว่า หรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย เช่น การอนุมัติรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการใหม่

-การอนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการ หรือการเพิ่มวงเงินรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ

2.ไม่กระทำการอันมีผลสร้างความผูกพันต่อ ครม.ชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี

-การอนุมัติให้หน่วยงานของรัฐดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือภาระทางการคลังในอนาคต หรือก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ เช่น การจัดตั้งหน่วยงานใหม่ การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล

-การมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ โดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินการ เช่น มาตรการกึ่งการคลังที่รัฐมอบหมายให้สถาบันการเงินที่เป็นรัฐวิสาหกิจดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล โดยรัฐบาลจะรับภาระชดเชยส่วนต่าง หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้แก่สถาบันการเงิน

-การอนุมัติการยกเว้น หรือลดภาษีอากร เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลสำหรับการบริจาคให้กับการดำเนินการสาธารณะบางประเภท การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการบางประเภทที่เป็นมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล

3.การแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง

– ไม่แต่งตั้ง หรือโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ หรือ พนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือ ให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อน

4.การอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (งบกลาง)

-ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบต่อ กกต.

5.การออกกฎหมาย

-กรณีเป็นร่างพระราชบัญญัติ เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วจะดำเนินต่อไปไม่ได้ เพราะยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องรอให้ ครม.ชุดใหม่เป็นผู้พิจารณาเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร