บทบรรณาธิการ : สงวนจุดต่างตั้งรัฐบาลชุดใหม่

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ความพยายามในการรวบรวมเสียงข้างมากจากพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเพื่อจัดตั้ง “รัฐบาล” ที่มี
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ของพรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคแกนนำได้ก้าวไปอีกขั้น เมื่อ 8 พรรคการเมืองที่จะร่วมรัฐบาล อันประกอบไปด้วย พรรคก้าวไกล, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคเป็นธรรม, พรรคพลังสังคมใหม่ และพรรคเพื่อไทรวมพลัง ตกลงลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล โดย MOU ฉบับนี้มีสาระสำคัญประกอบไปด้วย

1) การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2)กฎหมายสมรสเท่าเทียม 3)การปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม 4) เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับเป็นระบบสมัครใจ 5) ร่วมผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

6) ผลักดันการกระจายอำนาจ 7) แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น 8) ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ 9) ยกเครื่องกฎหมายและสร้างแต้มต่อให้กับ SMEs

10) ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 11) ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ 12) ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า 13)จัดทำงบประมาณแบบใหม่ 14) สร้างระบบสวัสดิการ 15)แก้ไขปัญหายาเสพติด 16) นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติด

17) ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย 18) แก้ไขกฎหมายประมง 19) ยกระดับสิทธิแรงงานได้รับค่าแรงที่เป็นธรรม 20) ยกระดับระบบสาธารณสุข 21) ปฏิรูประบบการศึกษา 22) แก้ปัญหาฝุ่นพิษลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและ 23)นโยบายการต่างประเทศ โดยการฟื้นฟูบทบาทผู้นำของอาเซียน

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า MOU ฉบับนี้ไม่ได้มีการกล่าวถึงการแก้ไข มาตรา 112 ที่มีความเห็นขัดแย้งระหว่างพรรคก้าวไกล กับพรรคร่วมรัฐบาลอีก 7 พรรค รวมไปถึงการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง นอกจากนี้ MOU ยังไม่มีการลงรายละเอียด วิธีดำเนินการ และเป้าหมายสำเร็จ

ไม่ว่าจะเป็นประเด็นค่าแรง การยกเลิกการผูกขาด ราคาค่าไฟฟ้า การปฏิรูปกองทัพ และระบบราชการ ปัญหาชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นนโยบายที่ทั้งพรรคแกนนำและพรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นที่ “แตกต่าง” กันอย่างมาก จนไม่สามารถหลอมรวมนโยบายเข้าด้วยกันได้

แต่เป็นเพราะพรรคก้าวไกลมุ่งที่จะหาทาง “ผูกมัด” พรรคร่วมอีก 7 พรรคเพื่อนำไปสู่การตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ ด้วยการเปิดทางออกไว้ว่า ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วม MOU ฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจฝ่ายบริหารของ “รัฐมนตรี” ที่เป็นตัวแทนของแต่ละพรรคการเมือง หรือเท่ากับยกยอดความขัดแย้งต่าง ๆ ไปถกกันในสภา ขอเพียงแค่ให้ตั้งรัฐบาลสำเร็จก่อนเท่านั้น