หักเหลี่ยมเฉือนคม ชิงประธานสภา เกมคู่ขนานเพื่อไทยดีล ส.ว.โหวตนายกฯ

นายก
คอลัมน์ : Politics policy people forum

เกมชิงเหลี่ยม เฉือนคม ระหว่างพรรคก้าวไกล กับ พรรคเพื่อไทย ร้อนระอุทะลุปรอทตลอดเวลา ทั้งที่จับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล

หน้าฉากดูเหมือนฉาบไว้ด้วยรอยยิ้ม แต่ข้างหลังซ่อนมีดดาบรอจังหวะ หากศัตรูคู่แข่งในลู่เดียวกันไม่ระวังตัว ปมร้อนที่สุดของเกมจัดตั้งรัฐบาล ยกแรก คือเกมชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรคก้าวไกลยืนกรานว่าต้องการเป็นของพรรคก้าวไกล

ฝุ่นตลบชิง ส.ว.

หนึ่งในแถลงการณ์ของพรรคก้าวไกลที่เผยแพร่ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของพรรค เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ระบุว่า..

“พรรคก้าวไกลต้องการให้ผู้แทนราษฎรของเราดำรงตำแหน่งประธานสภา ไม่ใช่เพื่อตำแหน่ง แต่เราต้องการอำนาจเข้าไปเปลี่ยนแปลงรัฐสภาไทยให้สามารถออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ สามารถแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้จริง และเป็นรัฐสภาที่เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง”

เป็นการย้ำคำพูดของ “รังสิมันต์ โรม” โฆษกพรรคก้าวไกล ที่กล่าวว่า เรื่องของตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตำแหน่งที่พรรคก้าวไกลอยากรักษาประเพณีที่เคยทำกันมา ซึ่งในอดีตหากไม่นับรวมเมื่อปี 2562 จะพบว่าพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเป็นลำดับที่ 1 จะขอตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย เพื่อผลักดันกฎหมายต่าง ๆ

Advertisment

“พรรคก้าวไกลยืนยันว่าตำแหน่งดังกล่าวทางพรรคก้าวไกลต้องขอเอาไว้เอง เบื้องต้นพรรคได้ประกาศมาหลายครั้ง และยืนยันในเรื่องนี้มาโดยตลอด”

คำพูดของ “รังสิมันต์ โรม” มาขยายความ ทวิตเตอร์ของ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า หนึ่งในศูนย์รวมจิตวิญญาณทางการเมืองของพรรคก้าวไกล ที่ระบุว่า

“ทางพรรคก้าวไกลก็ยอมถอยในหลายประเด็น เพื่อให้พรรคร่วมสบายใจ และจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ เท่านั้นยังไม่พอ ยอมยกกระทรวงที่สังคมจัดให้เป็นกระทรวงเกรดเอให้ พรรคก้าวไกลยอมลด ยอมถอยมาขนาดนี้แล้ว จะต้องยอมขนาดไหนเพื่อให้พรรคอื่นพอใจและจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่จะต้องไม่ไปถึงขนาดที่ยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับพรรคอื่น”

จากการเจรจาวงใน “ที่ลับ” บานปลายสู่ภายนอก

“อดิศร เพียงเกษ” ว่าที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ออกโรงปะฉะดะพรรคก้าวไกลว่า “ฝ่ายบริหารเราได้คนหนุ่มแล้ว ที่เหมาะสมแก่กาลสมัย แต่ประธานสภา พรรคก้าวไกลก็ไม่ควรกินรวบ เล่นสลากกินแบ่งกันหรือเปล่า แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ถ้าพรรคก้าวไกลยังดื้อดัน สมมติว่าพรรคเพื่อไทยไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล คุณเดินไปไม่ได้อยู่ดี ผมไม่อยากให้เกิดภาพนี้ขึ้น”

Advertisment

พท.มั่นใจกำเสียง ส.ว.ต่อรอง

พลันที่ทั้งสองพรรค “แลกหมัด” กันและกัน ทำให้เกมชิงประธานสภาเคลื่อนมาสู่จุดใกล้แตกหักของระหว่าง 2 พรรค

แกนนำพรรคเพื่อไทยรายหนึ่งเคลมว่า ได้ โทร.ไปเคลียร์ใจกับแกนนำพรรคก้าวไกล หารือจุดขัดแย้ง 2 เรื่อง ถ้ายังปล่อยให้บานปลายจะทำงานกันลำบาก

หนึ่ง เรื่องเปิดพื้นที่ให้ ศิธา ทิวารี แคนดิเตดนายกรัฐมนตรีพรรคไทยสร้างไทย
เคลื่อนไหวโจมตีหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคแกนนำก้าวไกลต้องปรามเรื่องนี้

แต่ไฮไลต์สำคัญอยู่ในเรื่องที่สอง กรณี “ปิยบุตร” ทวิตข้อความในเกมชิงเก้าอี้ประธานสภา ซึ่ง “ปิยบุตร” อยู่ในฐานะคนนอก จึงไม่ควรมากดดัน

“ถ้าว่ากันตามหลักการ พรรคก้าวไกลได้เสียง 151 เสียง พรรคเพื่อไทย 141 เสียง คิดคะแนนไปกลับ ห่างกันไม่ถึง 6 เสียง เวลาคำนวณตำแหน่งในรัฐบาล อย่างเก้าอี้รัฐมนตรี ถ้าคิดสัดส่วนการมี ส.ส. จะใช้สูตร ส.ส. 8.5-9 คนต่อ 1 เก้าอี้รัฐมนตรี เมื่อเสียงใกล้ ๆ กัน หากพรรคก้าวไกลได้นายกฯ เพื่อไทยควรได้ฝ่ายนิติบัญญัติ เรื่องนี้สู้กันในหลักการ” แหล่งข่าวกล่าว

เป็นจังหวะเดียวกับที่มีข่าวลือว่า 2 ส.สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำลำดับบน ปาร์ตี้ลิสต์พรรคเพื่อไทย เดินเจรจาหาเสียง ส.ว.มาสนับสนุนให้ “พิธา” เป็นนายกฯ ที่หาเสียง ส.ว.มาได้ 10++

สมศักดิ์กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่แข่งกับพรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาล ตรงกันข้าม ตนจะทำอย่างไรให้มีการจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ มีพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ คิดว่าคงไม่ได้ใช้บริการส.ว.ทั้งหมด 30 เสียงของ ส.ว.ก็น่าจะตั้งรัฐบาลได้แล้ว

เมื่อพรรคเพื่อไทยเชื่อว่าฝ่ายตัวเองมีกำลังต่อรองที่ “เหนือกว่า” และสามารถกำชื่อ ส.ว.จำนวนหนึ่งไว้ในมือเพื่อต่อรอง แหล่งข่าวรายเดิมจึงแสดงท่าทีว่า “พรรคก้าวไกลอยากได้เก้าอี้นายกฯ หรือเปล่า ก็ต้องคุยกัน”

เพราะในลิสต์บัญชีรายชื่อ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ก็มี “key player” เกาะเกี่ยวสัมพันธ์อยู่ในแกนนำ ส.ว. โยงไปถึงบ้านป่ารอยต่อ ที่เอาไว้ใช้ในช่วงทีเด็ดทีขาด

ย้อนเกมชิงสภา

เกมชิงเก้าอี้ประธานสภา มีความสำคัญอย่างมหาศาล ในฐานะ “ผู้กำหนดเกม” และ “ผู้คุมเกมในสภา” ตั้งแต่วาระโหวตนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงการบรรจุระเบียบวาระกฎหมายสำคัญ การคุมเกมการประชุม

ตัวอย่างหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นจากการวางหมากเก้าอี้ประธานสภาผิดพลาด จนพรรคพลังประชาชนเกิดหายนะ

ต้องย้อนไปไกลหลังจากพรรคไทยรักไทย เปลี่ยนเป็นพรรคพลังประชาชน หลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2551 “ยงยุทธ ติยะไพรัช” ส.ส.เชียงราย พรรคพลังประชาชน ได้รับการปูนบำเหน็จนั่งเก้าอี้ประธานสภา ทว่าเจอพิษใบแดง จากการทุจริตเลือกตั้ง จนต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

ปรากฏว่าอำนาจนำในพรรคพลังประชาชนขณะนั้น คือกลุ่มเพื่อนเนวิน ของ “เนวิน ชิดชอบ” ผลักดันชื่อ “ชัย ชิดชอบ” ส.ส.สัดส่วนกลุ่ม 4 ขึ้นครองบัลลังก์ประธานสภา และได้รับการไฟเขียวจาก “ทักษิณ”

ต่อมาเมื่อถึงคิวหักกันเองภายในพรรค “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ถูกนักการเมืองสายชินวัตร ยึดอำนาจในพรรคพลังประชาชน ดัน “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ขึ้นเป็นนายกฯ แต่ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติยังอยู่ในตระกูลชิดชอบ

พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “ยุบพรรค” พลังประชาชน กลุ่มเพื่อนเนวินพลิกเกม พลิกขั้ว หันมาจับมือพรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล ชูชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่คุมเกมการโหวตก็คือ “ประธานชัย ชิดชอบ”

7 เม.ย. 2552 ที่โรงแรมสยามซิตี เนวินแถลงข่าวครั้งสำคัญว่า การที่บอกว่าผมได้อะไรมากมายจาก พ.ต.ท.ทักษิณ (ยศขณะนั้น) เช่น คุณพ่อผมได้รับเลือกเป็นประธานรัฐสภา ต้องเรียนว่าการจะเป็นประธานรัฐสภาต้องเป็นมติของพรรคเห็นชอบ เป็นมติเดียวที่ให้นายสมัคร และนายสมชาย เป็นนายกฯ

“กรณีผมและอดีตนายกฯทักษิณ ไม่ใช่การหักหลัง แต่เป็นเรื่องของคนที่คิดต่างกันในทางการเมือง เมื่อเราเห็นต่างกันต้องเดินตามทางที่เราเชื่อ ที่เห็นว่าเป็นผลดีกับประเทศชาติ”

จากนั้นรัฐบาลประชาธิปัตย์ ทำงานในสภาอย่างราบรื่น เพราะมีคนคุมสภาอย่าง “ปู่ชัย” ชัย ชิดชอบ

เกมชิงประธานสภาผู้แทนราษฎรระหว่างพรรคก้าวไกล-เพื่อไทย ไม่ใช่เปิดหน้าชก-ชนกันเล่น ๆ เพราะในจังหวะที่ยังคาบลูกคาบดอกว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะต้องฝ่าด่านการโหวตนายกฯ ในสภา

คนคุมเกมจึงสำคัญอย่างยิ่ง พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล จึงต้องเปิดฉากฟาดฟัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง