
วิป 3 ฝ่ายไร้ข้อสรุป ปล่อยฟรีโหวต เสนอญัตติซ้ำโหวต “พิธา” รอบ 2 ไม่ได้ ด้าน เพื่อไทย เตรียมแก้เอ็มโอยู เติมพรรคขั้วเดิมเสียบ ขณะที่ เศรษฐา แต่งตัวรอโหวตใหม่สัปดาห์ถัดไป
วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมวิป 3 ฝ่ายว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าในการโหวตนายกรัฐมนตรี วันที่ 19 กรกฎาคมนี้ จะต้องใช้ยึดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ที่กำหนดห้ามเสนอญัตติชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ ซ้ำได้หรือไม่
เพราะมีความเห็นจากอีกฝ่ายระบุว่าเรื่องนี้เป็นคนละเรื่องกับข้อ 41 และได้แยกเป็นอีกหมวดไว้ในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ซึ่งตรงกับหมวด 9 ที่ไม่ใช่ญัตติทั่วไป ดังนั้นจะขึ้นอยู่กับการประชุมวันที่ 19 กรกฎาคม ที่จะต้องดูหน้างาน และฟังเสียงของสมาชิก
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องมีการขอมติที่ประชุมใช่หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ประธานจะชี้ขาดได้ต่อเมื่อได้ฟังคำอภิปรายอย่างครบถ้วนของสมาชิก ก่อนที่จะสรุปแล้วมีคำวินิจฉัย แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปทั้งหมด ต้องรอการอภิปรายในที่ประชุม คาดว่าคงจะอภิปรายไม่ยาวจนเกินไป ซึ่งในที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายก็มีการเสนอให้มีการอภิปรายเป็นเวลา 2 ชั่วโมง น่าจะเหมาะสม
รอดูหน้างานโหวต ไม่โหวต
ผู้สื่อข่าวถามว่าท้ายที่สุดจะต้องมีการลงมติ หรือใช้คำวินิจฉัยของประธานตัดสินได้เลย นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ต้องดูข้อมูลหน้างาน ว่าตรงตามที่คิดว่าจะต้องให้ประธานวินิจฉัย หรือจะมีการลงมติ
เมื่อถามถึงข้อเสนอการงดเว้นใช้ข้อบังคับ จะเป็นแนวทางหนึ่งหรือไม่ ประธานรัฐสภากล่าวว่า การเสนอให้ยกเว้นข้อบังคับ ต้องมีการเสนอ และมีมติที่ประชุมเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งในที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายไม่มีใครพูดถึง เพราะหากยกเว้นข้อบังคับแล้ว จะไปใช้ข้อบังคับตรงไหน เพราะการเดินหน้าเลือกนายกฯ มีไม่กี่ประเด็น ประเด็นสำคัญคือต้องมีการเลือกนายกฯ ให้ได้ จึงคิดว่าไม่มีใครเสนอให้ยกเว้นข้อบังคับ
เมื่อถามว่าหากสมาชิกส่วนใหญ่มีการลงมติว่าเป็นญัตติตามข้อบังคับที่ 41 แล้วสามารถเสนอชื่อนายกฯ คนอื่นที่ไม่ใช่นายพิธา จะพิจารณาต่อได้เลยหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ข้อบังคับไม่ได้ห้าม ส่วนจะมีการเสนอชื่อนายกฯ คนอื่นที่ไม่ใช่นายพิธาได้เลยหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ แต่ข้อบังคับ และรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม
เมื่อถามว่าหากในวันที่ 19 กรกฎาคม โหวตไม่ได้ การโหวตครั้งที่ 3 จะเกิดขึ้นเมื่อใด นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องดูหน้างาน ส่วนที่ทางรองประธานสภาคนที่ 2 ออกมาระบุจะเป็นวันที่ 20 กรกฎาคม ก็เป็นการพูดไว้ล่วงหน้า ทั้งนี้ ตนเห็นว่าขณะนี้ประชาชนรอคอย และต้องการได้นายกฯ ที่ไม่ช้าเกินไป เพื่อจะได้เข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมือง หลายฝ่ายเรียกร้องให้กระบวนการสภาไม่ช้าเกินไป แต่เราสามารถบอกได้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด อยู่ที่กระบวนการของสภา
ชัยธวัช งง ข้อบังคับ
นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่ายว่า ที่ประชุมพยายามใช้เหตุใช้ผลในการพูดคุย แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้มีข้อสรุป เพราะยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่
เมื่อถามว่า ต้องใช้มติที่ประชุมในวันที่ 19 กรกฎาคม ชี้ขาดใช่หรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า “หลาย ๆ เรื่องคงอยู่ที่ประธานรัฐสภาด้วย”
เมื่อถามว่า ต้องมีการโหวตเรื่องญัตติว่าจะเสนอชื่อนายพิธาอีกรอบได้หรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า “ก็ยังเถียงกันอยู่ คนที่เสนอให้โหวตก็ใช้ช่องของระเบียบไม่เหมือนกัน ก็ยังงง ๆ อยู่”
เมื่อถามว่า ต้องดูหน้างานใช่หรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า “ใช่ครับ แต่พรรคก้าวไกลยืนยันว่ากระบวนการเลือกนายกฯเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ จะไปตีความข้อบังคับให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญก็คงไม่ได้ และมันจะสร้างบรรทัดฐานที่มีปัญหาได้ในอนาคต จึงต้องพยายามใช้เหตุผล และขึ้นกับประธานในที่ประชุม”
ส.ว.ยัน โหวตซ้ำพิธาไม่ได้
ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า เราเดินตามข้อบังคับข้อที่ 41 ต้องเดินตามกฎหมายว่าญัตติที่เสนอ เสนอจบไปแล้ว ไปญัตติอื่นที่เปลี่ยนแปลง ไม่ได้ติดใจอะไร
เมื่อถามย้ำว่า ยืนยันใช่หรือไม่ว่า ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ซ้ำได้ นายสมชายกล่าวว่า “ทาง ส.ว.มีความเห็นเช่นนั้น ว่าญัตติตกไปแล้ว” ส่วนในที่ประชุมมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร และจะมีมติชี้ขาดอย่างไร นายสมชายกล่าวว่า “ต้องไปคุยในรัฐสภา”
ก.ก.ต้องได้ 350 เสียงถึงไปต่อรอบ 3
ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในการประชุมวันที่ 19 กรกฎาคม เมื่อเปิดประชุมแล้ว ตามมติ 8 พรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอชื่อนายพิธา ให้โหวตนายกฯอีกรอบ โดยพรรคเพื่อไทย จะเป็นผู้เสนอชื่อนายพิธา แต่ถ้ามีคนเห็นต่างอยากให้ญัตติดังกล่าวตกไป ก็จะต้องมาอภิปรายถกเถียงกัน สุดท้ายคงต้องใช้วิธีการลงคะแนนตัดสิน ถ้าญัตติดังกล่าวตกก็ถือว่าจบไป ต้องไปนัดประชุมรอบใหม่
เมื่อถามว่าในกรณีที่ถ้าต้องมีการเสนอชื่อนายพิธาโหวตเป็นนายกฯรอบ 3 จะต้องได้คะแนนในรอบ 2 เท่าไหร่ ถึงจะเสนอชื่อในรอบต่อไปได้ นพ.ชลน่านกล่าวว่า กรณีนี้ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เคยมีการคุยกัน โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ยกตัวอย่างถึงการโหวตรอบ 3 ว่า จะต้องมีแนวโน้มของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป
ซึ่งนายพิธาไปบอกว่าควรมีคะแนนเพิ่มขี้น 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ 344-345 คะแนน แต่ถ้าดูคำว่า 10 เปอร์เซ็นต์ แล้วหมายความว่าจะต้องได้เพิ่มอีก 32 คะแนน เมื่อไปร่วมกับ 324 เสียงเดิมจากรอบแรก ก็จะต้องได้คะแนนถึง 356-360 ถึงจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่นายพิธาพูดเอาไว้
รอ ก.ก.ยอมแพ้ ค่อยตั้งรัฐบาล
“พรรคเพื่อไทยเคารพพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่ง แต่พรรคก้าวไกลยังไม่ประกาศ อย่างเป็นทางการในการให้พรรคอันดับสองขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาล เพื่อไทยจะมาทึกทักว่าเป็นโอกาสของตัวเองไม่ได้ โดยความชอบธรรมจะต้องรอให้มีแถลงการณ์จากพรรคอันดับหนึ่ง มอบให้พรรคอันดับสองเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยจึงจะบอกได้ว่าเสนอชื่อใครเป็นแคนดิเดตนายกฯ”
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยต้องการเวลาในการหาเสียงสนับสนุนนานเท่าไหร่ ในการตั้งรัฐบาล หากชื่อของนายพิธายังไม่ผ่านการโหวตในรอบสอง นพ.ชลน่านกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีความพร้อม แต่ต้องรอให้ผ่านกระบวนการภายในพรรคก่อน
แก้เอ็มโอยู ดึงพรรคขั้วเดิมเสียบ
นพ.ชลน่านกล่าวว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล หลายเรื่องจะต้องเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเนื้อหาสาระของเอ็มโอยู ทั้ง 8 พรรคหลายเรื่องจะต้องเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่การยกเลิก เช่น ชื่อของนายพิธา จะต้องเปลี่ยนไปเป็นใคร การเติมเสียงพรรคที่ 9 พรรคที่ 10 การหาเสียง ส.ว.มาสนับสนุนเพิ่มเติม ถ้าประธานรัฐสภา จะบรรจุญัตติเลือกนายกฯในสัปดาห์หน้า เราก็มีความพร้อม
เมื่อถามว่า ส.ว.ยังยืนหลักการว่าถ้ายังมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลก็จะไม่โหวตให้พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นแค่สถานการณ์สมมุติ การจะได้ 375 เสียง จะต้องดูว่า 8 พรรคร่วมรัฐบาลเห็นอย่างไร และพรรคเพื่อไทยมีสิทธิที่จะปรับเปลี่ยนอะไรได้บ้าง รวมถึงการฟังเสียงของ ส.ว. องค์ประกอบเหล่านี้จะต้องนำมาประกอบกัน ดังนั้นอย่าเพิ่งไปคาดการณ์อะไรถึงขั้นนั้น
เมื่อถามว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ระบุว่าจะเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นแคนดิเดตนายกฯในการเสนอชื่อโหวต หากนายพิธาไปต่อไม่ได้ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นความเห็นของ น.ส. แพทองธาร จะต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมพรรคก่อน
ส่วนชื่อของนายเศรษฐาจะสามารถนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 19 กรกฎาคม ได้ทันทีหรือไม่ หากชื่อของนายพิธาไม่ผ่าน นพ.ชลน่านกล่าวว่า ในทางปฏิบัติไม่ควรยื่นญัตติซ้อนไป เพราะชื่อของนายเศรษฐาไม่เคยเอาเข้าสู่ที่ประชุมของ 8 พรรคร่วม เพื่อหารือกันมาก่อน อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูเหตุการณ์ในวันที่ 19 กรกฎาคม อีกครั้ง
รายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังจากการหารือวิป 3 ฝ่ายไร้ข้อสรุป มีความเป็นไปได้ว่าในการประชุมรัฐสภา นพ.ชลน่าน ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอชื่อนายพิธาต่อที่ประชุมรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ (19 กรกฎาคม) พร้อมกับเสนอผู้รับรองตามข้อบังคับการประชุม และรัฐธรรมนูญมาตรา 159 โดยจะต้องมีผู้รับรอง 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (50)
จากนั้น ตัวแทน ส.ว.จะขอให้ที่ประชุมได้พิจารณาว่า ญัตติเสนอชื่อนายพิธา เป็นญัตติซ้ำที่ตกไปแล้ว ห้ามนำมาพิจารณาใหม่ตามข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 41 หรือไม่ โดยประธานรัฐสภา จะเปิดให้มีการถกเถียงกันประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นจะมีการลงมติ หากเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าญัตติซ้ำก็ตีตก และจะมีการนัดประชุมใหม่อีกครั้ง
ขณะที่รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยประเมินก่อนการประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในช่วงบ่ายวันที่ 18 กรกฎาคมว่า การเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย คงไม่ทันในวันที่ 19 กรกฎาคม แต่จะเสนอชื่อนายเศรษฐา ในที่ประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกฯ ครั้งที่ 3 แน่นอน