ครม.ปูนบำเหน็จ เจ้าหน้าที่ปราบยาเสพติด 17 หน่วยงาน 86 ล้านบาท

ยาอี ยาเสพติด
แฟ้มภาพ

ครม.อนุมัติบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด 17 หน่วยงาน 13,116 อัตรา 6,570 บาทต่อคนต่อปี คาดใช้งบประมาณ 86.17 ล้านบาท

วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้มีการบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในจำนวนไม่เกิน 13,116 อัตรา จากเจ้าหน้าทั้งหมด 628,827 อัตราของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมด 17 หน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล

โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณ 86.17 ล้านบาท หรือประมาณ 6,570 บาทต่อคนต่อปี โดยใช้งบประมาณของต้นสังกัดที่มีการจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว ไม่ต้องของบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติม จึงไม่เป็นกรณีที่ ครม.ได้อนุมัติงานหรือโครงการที่มีผลสร้างความผูกพันต่อ ครม.ชุดต่อไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 (1)

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า จากจำนวนบำเหน็จ 13,116 อัตรา เมื่อแบ่งตามภารกิจจะเป็นการให้บำเหน็จกรณีพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดโดยตรงไม่เกิน 9,205 อัตรา (ร้อยละ 2.5 ของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทั้งหมด 365,208 อัตรา) และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกื้อกูลต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด ไม่เกิน 3,911 อัตรา (ร้อยละ 1.5 ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกื้อกูลฯ ทั้งหมด 260,719 อัตรา)

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า หากแบ่งตามพื้นที่จะแยกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดในระดับภูมิภาครวม 9,837 อัตรา ซึ่งแยกย่อยเป็นอีก 2 ส่วน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชายแดน 31 จังหวัด 3,443 อัตรา และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ตอนใน 6,394 อัตรา กลุ่มที่ 2 เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดจากหน่วยงานส่วนกลาง 1,967 อัตรา และกลุ่มที่ 3 เจ้าหน้าที่ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส.เป็นผู้พิจารณาจากทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค สำนักงาน ป.ป.ส.และกรณีทุพพลภาพ 1,312 อัตรา

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า บำเหน็จกรณีพิเศษจะเป็นขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ทุ่มเทและเสียสละในการปฏิบัติงานทั่วประเทศ ซึ่งได้ร่วมกันดำเนินการป้องกันและแก้ไขยาเสพติดตามภารกิจและภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ. 2566-2570 (ประจำปีงบประมาณ 2566) ผ่าน 6 มาตรการ ได้แก่ มาตรการป้องกันยาเสพติด ปราบปรามยาเสพติด ยึดทรัพย์สินคดียาเสพติด บำบัดรักษายาเสพติด ความร่วมมือระหว่างประเทศ และมาตรการบริหารจัดการ