
คอลัมน์ : Politics policy people forum
นโยบาย flag ship ของพรรคเพื่อไทย คือแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท กลายเป็นนโยบายที่ยังหาบทสรุปไม่ลงตัว
ด้วยการที่เข้ามาบริหารประเทศด้วยความ “ล่าช้า” กว่าปกติ กฎหมายงบประมาณปี 2567 ยังไม่ได้พิจารณาในสภา อาจทำให้เกิดปัญหา “ขัดข้องทางเทคนิค” โดยเฉพาะแหล่งเงิน-ที่มางบประมาณ 5.6 แสนล้าน
หันไปทางไหนก็ส่อติดขัด-ทางตัน สำคัญกว่านั้น อาจกล่าวได้ว่า พรรคเพื่อไทย เป็นไม้เบื่อ-ไม้เมา กับองค์กรอิสระ องค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจ
ดังนั้น เมื่อ พรรคเพื่อไทย บริหารประเทศ นโยบายเรือธง อย่าง โครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น จึงถูกจับจ้องจากคู่แค้นการเมืองในฐานะ “บุคคล” รวมถึง องค์กรอิสระที่จับตานโยบายแจกเงินดิจิทัลเป็นพิเศษ
99 นักวิชาการจุดเริ่มต้น
ย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคม นโยบายแจกเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย ประหนึ่งเป็น “สายล่อฟ้า”
6 ตุลาคม 2566 เริ่มมีการล่าชื่อของ 99 นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการ เพราะเป็นนโยบาย “ได้ไม่คุ้มเสีย”
7 ตุลาคม 2566 “วิรังรอง ทัพพะรังสี” ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ยื่นเรื่องถึง ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมความเห็นนักวิชาการขอให้วินิจฉัยพร้อมส่งความเห็นไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง วินิจฉัยว่านโยบายดังกล่าวขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินตรา พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และบทบัญญัติในส่วนของหน้าที่ของรัฐหรือไม่
11 ตุลาคม 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้สำนักงาน ป.ป.ช.ตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาโครงการดังกล่าว โดยให้เชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน ด้านเศรษฐศาสตร์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาร่วมเป็นคณะกรรมการ
เพื่อศึกษารายละเอียดโครงการดังกล่าวว่า มีข้อน่าห่วงใย หรือความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตหรือผลกระทบด้านเศรษฐกิจในระยะยาวหรือไม่
12 ตุลาคม 2566 “สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต” ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง
หากเข้าเงื่อนไขที่สามารถส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครองก็จะดำเนินการต่อ แต่ขณะนี้ต้องขอดูข้อเท็จจริงความชัดเจนก่อน เพื่อพิจารณาว่าขัดหรือไม่ขัดต่อกฎหมาย
วรงค์-รสนา เกาะติด
18 ตุลาคม 2566 “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” หัวหน้าพรรคไทยภักดี ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาไต่สวนและมีความเห็นส่งศาลปกครอง เพื่อระงับโครงการดังกล่าว เพราะหากยังเดินหน้าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง
พร้อมกับ ยื่นคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยสั่งให้ระงับโครงการดังกล่าวไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
19 ตุลาคม 2566 “รสนา โตสิตระกูล” อดีต สว.และอดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบนโยบายแจกเงินดิจิทัล มีปัญหามิชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
ป.ป.ช.ป้องกันทุจริตไว้ก่อน
ขณะความเคลื่อนไหวของ สว. โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มี “เสรี สุวรรณภานนท์” สว. เป็นประธาน ได้หยิบนโยบายพรรคเพื่อไทยพิจารณา โดยเชิญทั้ง กกต. ป.ป.ช. ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน มาให้ข้อมูล เนื่องจากมีหน้าที่ตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2566
24 ตุลาคม 2566 ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้ง คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet พร้อมทั้งตั้ง “สุภา ปิยะจิตติ” กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน ทั้งนี้ ในอดีต “สุภา” ก็เป็นมือปราบโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ของ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 21 กันยายน ได้พิจารณารายงานการเฝ้าระวังการทุจริต จากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี โดยมีมติเห็นชอบให้มีการเฝ้าระวังการทุจริต กรณีนโยบายแจกเงินดิจิทัล และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการนำเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยง มาพิจารณาดำเนินการวิเคราะห์ว่า ควรมีหนังสือสอบถามเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว ไปยังหน่วยงานใดบ้าง
ก่อนจะนำมาสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาชุดที่มี “สุภา” เป็นประธาน
วันที่ 27 ตุลาคม “นิวัติไชย เกษมมงคล” เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงเหตุผลตั้งคณะกรรมการตรวจสอบว่า “ที่ ป.ป.ช.ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพราะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ามันอาจจะมีการส่อไปทางทุจริต จึงตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาเพื่อวางแนวทางป้องกันไว้ก่อน ซึ่งอาจจะไม่มีการทุจริตก็ได้ โดยในการขับเคลื่อนนั้นหากไม่มีการทุจริตก็แล้วไป แต่หากมีก็ต้องมาดูว่าเกิดจากช่องทางไหน”
กกต.จับตาหลอกลวง
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่พรรคเพื่อไทยจะจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จและคิกออฟนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท “อิทธิพร บุญประคอง” ประธาน กกต. เคยระบุถึงกรอบ ตรวจสอบนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ที่หาเสียงแล้วปฏิบัติไม่ได้จริงว่า
ประการแรกคือต้องปฏิบัติตามกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 57 ว่า พรรคการเมืองที่ประกาศนโยบายที่ต้องมีการใช้เงิน จะต้องทำอะไรบ้าง
หากมีการจับมือตั้งรัฐบาลแล้ว ไม่ได้ทำตามที่หาเสียง ต้องดูว่าถ้ามีคำร้องเข้ามาหรือไม่ ถ้ามี กกต.ก็มีหน้าที่พิจารณาว่า เป็นไปตามที่ร้องว่าเป็นการ “หลอกลวง” หรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 53 (2) ในการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้สมาชิกลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น หรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้ใด ด้วยวิธีการ หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้ใด
ทั้งนี้ มาตรา 118 ของกฎหมายพรรคการเมือง กำหนดว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 53 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นด้วย
เส้นทางนโยบายแจกเงินดิจิทัล อยู่บนเส้นทางระทึก เพราะคู่แค้น-คู่แข่ง-องค์กรตรวจสอบ ไม่ปล่อยให้โครงการนี้ดำเนินไปได้โดยไม่มีเสียงค้าน